ต้านทุจริต...ต้อง ?ทำเรื่องเล็ก ให้เป็นเรื่องใหญ่?
ไม่มียุคใดที่คนในสังคมไทยทุกภาคส่วนจะตื่นตัว แสดงความรู้สึกไม่พอใจ และลุกขึ้นมาต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างจริงจังมากเท่ายุคนี้ จนกล่าวกันว่านี่เป็นสัญญาณที่ดี หากช่วยกันจริงเรามีความหวังว่า ประเทศไทยจะโปร่งใส ไร้การทุจริตคอร์รัปชั่นในแวดวงต่าง ๆ ได้ในอนาคตอันใกล้นี้
ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น ของประเทศไทยในปี 2557 มีอีนดับที่ดีขึ้น จากการจัดอันดับขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ จาก 175 ประเทศ ไทยขยับขึ้นมาอยู่อันดับ 85 จากเดิมอันดับที่ 102 ด้วยคะแนน 38 คะแนน นับว่าดีขึ้น 3 คะแนนจากปีที่แล้ว และอันดับดีขึ้นถึง 17 อันดับ อยู่ในอันดับที่ 12 จาก 28 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และอันดับที่ 3 จาก 9 ประเทศในกลุ่มประเทศอาเซียน
ดัชนีนี้แสดงให้เห็นว่า เริ่มปรากฏผลลัพธ์ที่ชัดเจนขึ้น จากการเอาจริงเอาจังของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งภาคประชาชน ในการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น
อย่างไรก็ตาม การจัดการทุจริตคอร์รัปชั่นให้ประเทศไทย ?ใสสะอาด? อย่างแท้จริง ไม่เพียงใช้ความจริงจังในการปราบปราม ทำให้เกิดความกลัวถูกจัดการ แต่ต้องช่วยกัน ?ถอนราก? ความเห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้ มุ่งประโยชน์ตน โดยไม่สนใจว่าผู้อื่นและส่วนรวมจะเสียหายอย่างไร
ถ้าคนส่วนใหญ่ในสังคม ยังเห็นประโยชน์ส่วนตัว ก่อนประโยชน์ส่วนรวม ย่อมสามารถ ?เอาเปรียบ? ผู้อื่น และ ?โกง? ได้เสมอ โดยมีเหตุผล ข้ออ้างต่าง ๆ ในการทำสิ่งที่ไม่ซื่อสัตย์ ไม่ถูกต้อง และปกปิดการกระทำของตนเพื่อเอาตัวรอด
เรื่องที่คนในสังคมของเรายังเห็นว่า เป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ และยอมที่จะทำผิด เพราะ ?คุ้มค่า? ที่จะได้มาซึ่งประโยชน์ส่วนตัว โดยไม่คิดว่าเป็นการ ?คอร์รัปชั่น? หรือทุจริตที่สมควรต้องถูกลงโทษอย่างรุนแรง ยกตัวอย่างเช่น ในแทบทุกองค์กรจะมีพนักงานที่แสวงประโยชน์ส่วนตัวอยู่เสมอ อาทิ มาสายกลับก่อน ทำงานเช้าชาม-เย็นชาม ทำงานช้าแบบไร้ประสิทธิภาพ ใช้เวลางานหาประโยชน์ส่วนตัว ฯลฯ โดยไม่คิดว่า การกระทำเช่นนี้เป็นการคอร์รัปชั่นเวลาการทำงาน หรือการเอาของบริษัทไปใช้ส่วนตัว โดยไม่คิดว่า เป็นสิ่งที่ผิด หรือบางคนชอบอยู่ทำงานล่วงเวลา โดยไม่จำเป็น แต่เพียงต้องการค่าล่วงเวลา และมองว่า เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ แบบนี้ บริษัทไม่ได้เสียประโยชน์อะไรมากมาย ?บริษัทรวยอยู่แล้ว แค่นี้ ไม่เป็นไรหรอก? ไม่คิดว่าเอาเปรียบองค์กรอยู่
ความคิดเช่นนี้ ทำให้เมื่อมีโอกาส ?หาประโยชน์? ให้ตนเองมากขึ้น หลายคนจึงทำโดยไม่ลังเล ลูกศิษย์ผมคนหนึ่งทำงานเป็นพนักงานในบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง เล่าให้ฟังว่า เมื่อเข้าทำงานใหม่ ๆ เธอได้รับมอบหมายให้ซื้อวัตถุดิบ จากร้านค้าที่ซื้อเป็นประจำ เมื่อต่อรองและได้ลดราคาเรียบร้อยแล้ว เจ้าของร้านถามว่า จะให้ออกใบเสร็จแบบราคาเต็ม หรือราคาที่มีส่วนลด โดยบอกว่า พนักงานคนก่อนของบริษัท จะให้เขียนแบบราคาเต็ม เพราะจะได้เอาเงินส่วนลดนั้นมาเป็นของตน
เจ้าของร้านบอกว่า เรื่องแบบนี้เป็นเรื่อง ?ปกติ? คนทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งของภาครัฐและเอกชน มักทำแบบนี้กันส่วนใหญ่ การสั่งซื้อสินค้าให้กับองค์กรจะให้ออกใบเสร็จรับเงินเต็มจำนวน และเก็บส่วนลดไว้ โดยไม่คิดว่า ตนเองกระทำสิ่งที่ผิด เพราะตนสามารถต่อรองจนได้ส่วนลด ดังนั้น ส่วนลดจึงควรเป็น ผลประโยชน์เข้ากระเป๋าตนเองได้...และมักใช้ข้ออ้างว่า ?ใคร ๆ ก็ทำกัน?
เมื่อพนักงานที่เป็นลูกศิษย์ผมบอกว่า ให้ออกใบเสร็จตามราคาที่ซื้อจริง เจ้าของร้านทำหน้างงเล็กน้อย และหันกลับไปบอกลูกน้องในร้านว่า ?ดูไว้...แล้วทำตามอย่าง หายากนะคนแบบนี้? และหันมาชมว่า ?คุณเป็นพนักงานที่ซื่อสัตย์ดีจัง?
ผมคิดว่า การแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นให้ได้ผลจริง ต้องแก้ที่รากความเห็นแก่ตัว โดยการมีมุมมองความคิดที่ถูกต้อง สร้างจิตสำนึกที่เห็นแก่ประโยชน์ของส่วนรวม และไม่ละเลยที่จะจัดการกับการกระทำที่ไม่ถูกต้อง แม้?เรื่องที่ดูเหมือนเล็กน้อย เพราะถ้าเรายอมรับการทุจริต การคดโกง แม้ในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้เกิดขึ้น ย่อมเป็นไปได้ว่าจะมีโอกาสที่จะกระทำผิดในเรื่องที่ใหญ่ขึ้น
สร้างจิตสำนึก ส่วนรวม ก่อน ส่วนตัว สังคมใด ๆ ก็ตามจะเจริญก้าวหน้า การทุจริตคอร์รัปชั่นจะต่ำ หากคนในสังคมส่วนใหญ่คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น และคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม ผมจึงให้นิยาม ?คนดี? ในมุมมองที่แตกต่าง โดยมองว่า ?คนดี คือ คนที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม มากกว่าส่วนตัว?
ในฐานะผู้นำ ผู้บริหาร ที่ปรึกษา อาจารย์ และบทบาทอื่น ๆ ทางสังคม ผมจะแนะนำสั่งสอนทีมงาน ลูกศิษย์ให้ตระหนักว่า เรามีชีวิตเดียว ควรใช้อย่างมีคุณค่า อย่างสมศักดิ์ศรี ควรอยู่อย่างมีเป้าหมาย เพื่อสร้างสิ่งดีให้กับสังคมให้มากที่สุด เราจึงไม่ควรอยู่เพื่อ ?อัตตา? หรืออยู่เพื่อตอบสนองความต้องการของตนเองอย่างเห็นแก่ตัว และไม่เพียงอยู่เพื่อ ?ชีวา? หรือสนใจแต่ทำดีสร้างบุญกุศลเพื่อตนเอง โดยไม่สนใจส่วนรวม แต่ควรอยู่เพื่อ ?ปวงประชา? ทำสิ่งต่าง ๆ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติ มนุษยชาติ คนรุ่นต่อไป และใช้ศักยภาพที่มีอยู่เพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวม
หากคนในสังคมยึดนิยาม ?คนดี? ตามมุมมองของผม จะช่วยให้คนคอร์รัปชั่นน้อยลง จะตระหนักในความสำคัญของความซื่อสัตย์ ไม่เอาเปรียบใคร ช่วยดูแลรักษาผลประโยชน์ของผู้อื่นและส่วนรวม ตั้งแต่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น การไม่คอร์รัปชั่นเวลางาน ไม่เอาของใช้ที่ทำงานไปใช้ส่วนตัว จะไม่เขียนใบเสร็จแบบหลอกลวง และไม่เพียงเท่านี้จะช่วยรักษาประโยชน์ขององค์กร และประเทศชาติ เป็นกำลังสำคัญในการต่อต้านไม่ให้เกิดการโกงกินทุกรูปแบบ
จัดการทุจริตทุกเรื่อง ไม่เว้นแม้เรื่องเล็กน้อย เราต้องให้คนในสังคมส่วนใหญ่ โดยเฉพาะผู้มีอำนาจ ไม่ยอมรับการทุจริต คอร์รัปชั่น แม้ในเรื่องที่ดูเหมือนเล็กน้อย เพราะถ้าผู้มีอำนาจเพิกเฉย ไม่จัดการคนที่กระทำผิด เช่น ยอมให้เจ้าหน้าที่รับเงินใต้โต๊ะจากผู้รับเหมา หากำไรจากการจัดซื้อจัดจ้าง โดยเอาหูไปนา เอาตาไปไร่ เพราะเห็นว่า คนเหล่านี้ทำงานดี ใช้งานง่าย แม้หาเศษหาเลยบ้างก็ไม่เป็นไร เป็นต้น การไม่จัดการย่อมนำไปสู่การสร้างความเสียหายให้กับองค์กรอย่างต่อเนื่อง และเป็นการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ผิด ทำให้คนรุ่นต่อ ๆ มามองว่า เป็นการกระทำที่ถูกต้อง ทำได้ ใคร ๆ ก็ทำกัน
ในทางตรงกันข้าม หากผู้มีอำนาจไม่เพิกเฉย แต่จัดการทันทีอย่างเหมาะสม เช่น ประกาศให้ทุกคนรับทราบและรับรู้ว่า องค์กรของเราเป็นองค์กร ?โปร่งใส ไร้ทุจริตตอร์รัปชั่นทุกรุปแบบ? สร้างวัฒนธรรมความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบต่อตนเอง ผู้อื่น องค์กร และสังคม โดยออกกฎระเบียบให้คนทำงานทุกคนรับรู้อย่างชัดเจนว่า อะไรทำได้ ทำไม่ได้ และหากละเมิดกฎจะถูกลงโทษอย่างไร เช่น ตักเตือนและลงวินัยคนที่คอร์รัปชั่นเวลางาน การใช้ทรัพยากรขององค์กรอย่างไม่เหมาะสม และลงโทษอย่างเด็ดขาดต่อคนที่ทุจริตคอร์รัปชั่น เพื่อไม่ให้ผู้ใดเอาเป็นเยี่ยงอย่าง ที่สำคัญ ต้องให้รางวัล ยกย่องชมเชย ผู้ที่กระทำดี ซื่อสัตย์สุจริต เพื่อสร้างเสริมกำลังใจและเป็นแบบอย่างที่ดีแก่คนในองค์กร
จัดการเด็ดขาดกับ ?ผู้นำ/ผู้บริหาร? ไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง ประเทศเรามักมองว่า เรื่องเล็ก ๆ ไม่เป็นไร ให้อภัยกันได้ ดังการสำรวจที่พบว่า ประชาชนยอมรับคนโกงได้ หากคนนั้นสามารถทำประโยชน์แก่ประเทศบ้าง ซึ่งในความเป็นจริง ความคิดเช่นนี้ไม่ได้ช่วยลดการทุจริตคอร์รัปชั่นลง ตรงกันข้ามย่อมมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนคนทุจริตให้มากขึ้น ดังนั้น ทางที่ถูกต้อง ยิ่งคนมีตำแหน่งสูง แม้กระทำผิดในเรื่องเล็กน้อย ควรได้รับการด้วยความเด็ดขาดจริงจัง ไม่ประนีประนอม ไม่ยอมอ่อนข้อต่ออำนาจอิทธิพลใด ๆ เพื่อสร้างแบบอย่างที่ดีและรักษามาตรฐานที่ถูกต้อง
ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศที่เอาจริงเอาจังเรื่องการจัดการทุจริตคอร์รัปชั่น จะลงโทษอย่างรุนแรงต่อผู้นำในสังคมที่ประพฤติไม่ถูกต้องเหมาะสม เพื่อไม่ให้เป็นแบบอย่างที่ไม่ดีแก่คนในสังคม เช่น ที่ผ่านมา รัฐมนตรีหญิง 2 คน ของรัฐบาลนายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ แห่งญี่ปุ่น ถูกกดดันให้ลาออก หลังจากมีข่าวลือว่า เธอได้ใช้เงินสนับสนุนพรรคการเมืองและเงินบริจาคหลายหมื่นดอลลาร์ เพื่อซื้อของใช้ส่วนตัว หรือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมของแอลเบเนีย ถูกปลดจากตำแหน่ง เพียงเพราะไม่ได้จ่ายค่าไฟ เพื่อไม่ให้เป็นแบบอย่างที่ไม่ดีแก่ประชาชน เป็นต้น
ผู้นำ/ผู้บริหาร ถือเป็นบุคคลสาธารณะที่คนทั้งองค์กรหรือในสังคมนั้น มองเป็นแบบอย่าง เป็นมาตรฐานความถูก-ผิดทางจริยธรรม จำเป็นต้องได้รับการประเมินและตัดสินขั้นสูงเสมอ ดังนั้น จึงไม่สามารถปล่อยปละละเลยได้ ทั้งในส่วนของการจัดการคนที่กระทำผิด และการถูกลงโทษเมื่อตนกระทำผิด หากต้องการยกระดับมาตรฐานทางจริยธรรม ค่านิยมใหม่ ?โปร่งใส ไร้คอร์รัปชั่น? ให้กับคนในสังคม
โพสต์ทูเดย์
คอลัมน์ : คิดเป็นเห็นต่าง
ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com
Catagories:
Tags:
Post date:
Monday, 19 January, 2015 - 16:44
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ยุติสงคราม สร้างสันติภาพโลกถาวร (ซ้ำ)
Total views: อ่าน 158 ครั้ง
คนไทยเรียนรู้อะไร จากบทเพลงสุดท้ายของพี่ศรี
Total views: อ่าน 74 ครั้ง
ยุติสงคราม สร้างสันติภาพโลกถาวร
Total views: อ่าน 239 ครั้ง
บทบาทของไทยและอาเซียนต่อการรวมเกาหลีให้เป็นหนึ่งเดียว
Total views: อ่าน 1,998 ครั้ง
การสร้างคุณภาพชีวิตเมืองเพื่อการสร้างชาติ ด้วยโมเดลเมืองน่าอยู่ 12 มิติ: Dr.Dan Can Do’s Livable City Model
Total views: อ่าน 2,638 ครั้ง