ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย (จบ)

กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน

ในบทความตอนแรก ผมได้กล่าวถึงการบรรยายของผมใน หัวข้อเรื่อง ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียและไทยในมุมมองของไทย (Economic Relation between North East India and Thailand in Thai Perspective) ที่มหาวิทยาลัยมณีปุระ ในประเทศอินเดีย เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
 
ผมได้กล่าวถึงกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างทั้งสองประเทศ และโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการคมนาคมระหว่างประเทศที่เชื่อมโยงประเทศไทยและภาคอีสานของอินเดีย รวมทั้งได้วิเคราะห์โอกาสและข้อจำกัดด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศนี้

ในบทความครั้งนี้ ผมจะขอเสนอแนะแนวทางการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย เพื่อขยายโอกาสและลดข้อจำกัดด้านการค้า การลงทุน และการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างกัน โดยมีข้อเสนอแนะ 5 ประการดังจะกล่าวต่อไป
 
ประการแรก ขยายความร่วมมือจากระหว่างประเทศเป็นระหว่างอนุภูมิภาค
 
การที่อินเดียให้ความสำคัญกับความร่วมมือกับประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและภูมิภาคอาเซียนซึ่งมีประชากรรวมกันกว่า 500 ล้านคน ในทางตรงกันข้าม รัฐทั้งเจ็ดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียมีขนาดเล็กมาก โดยมีประชากรในปี พ.ศ. 2554 เพียง 44.98 ล้านคน จึงอาจไม่เพียงพอที่จะดึงดูดให้อาเซียนเข้ามาร่วมมือได้มากนัก ขณะที่รัฐทั้งเจ็ดของอินเดียไม่สามารถเป็นประตูสู่อินเดียได้ เพราะอยู่ห่างไกลจากรัฐอื่นๆ ของอินเดียมาก การเชื่อมโยงการขนส่งทางทะเลน่าจะเป็นช่องทางที่สะดวกกว่าในการเชื่อมโยงระหว่างไทยกับอินเดีย
 
ผมจึงได้เสนอแนะว่า ไทยและอินเดียควรขยายกรอบความร่วมมือให้กว้างขึ้น จากความร่วมมือระหว่างสองประเทศ เป็นความร่วมมือระหว่างสองอนุภูมิภาค โดยในส่วนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียควรพัฒนาตนเองให้เป็นศูนย์กลางของอนุภูมิภาค ซึ่งอาจประกอบด้วยรัฐทั้งเจ็ดในภาคอีสานของอินเดีย (Seven sister states of India) เนปาล ภูฏาน และบังกลาเทศ
 
โดยการเร่งสร้างความเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น โครงการทางหลวงไตรภาคีอินเดีย-พม่า-ไทย (India-Myanmar-Thailand trilateral highway) ควรขยายออกไปเชื่อมโยงกับเนปาล ภูฏาน และบังกลาเทศด้วย รวมทั้งการเร่งรัดการเปิดเสรีภายใต้กรอบความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (BIMST-EC) เพื่อให้การเคลื่อนย้ายสินค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้านสะดวกมากขึ้น ตลอดจนการพัฒนาเส้นทางและโปรแกรมการท่องเที่ยวร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน
 
ประการที่สอง กระชับความร่วมมือระหว่างอาเซียน อินเดีย และจีน
 
ปัจจุบันอินเดียและจีนมีการแข่งขันกันเข้ามามีอิทธิพลในภูมิภาคอาเซียน โดยอินเดียได้ให้เงินสนับสนุนแก่ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น เดียวกับรัฐบาลจีนที่ให้เงินแก่กลุ่มประเทศ CLMV เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยที่หลายโครงการดูเหมือนมีความซ้ำซ้อนกันและยังขาดการร่วมมือกันระหว่างสองมหาอำนาจ
 
ผมจึงได้เสนอว่าอาเซียนควรเป็นตัวกลางในการสร้างความร่วมมือสามฝ่ายระหว่างอาเซียน อินเดีย และจีน โดยเฉพาะความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในอาเซียน ตัวอย่างเช่นการสร้างระบบรางเชื่อมต่อระหว่างประเทศ ซึ่งอินเดียมีโครงการเชื่อมโยงทางรถไฟเดลี-ฮานอย (Delhi - Hanoi Railway Link) ส่วนประเทศจีนมีแผนสร้างทางรถไฟแพนเอเชีย (Pan-Asia Railways) ซึ่งประกอบด้วยทางรถไฟสามเส้นทางที่เชื่อมโยงระหว่างนครคุนหมิงกับประเทศพม่า ลาว และเวียดนาม อาเซียนและทั้งสองประเทศนี้น่าจะร่วมมือกันในการเชื่อมเส้นทางรถไฟในภูมิภาคนี้ เพื่อทำให้ระบบรางเป็นมาตรฐานเดียวกัน และทำให้โครงการสามารถดำเนินไปอย่างรวดเร็วเพราะมีเงินสนับสนุนเพียงพอ และไม่ซ้ำซ้อนกัน
 
ประการที่สาม สร้างเครือข่ายข้ามประเทศของคนเชื้อสายไทยและอินเดีย
 
วัฒนธรรมการทำธุรกิจในเอเชียโดยส่วนใหญ่ตั้งอยู่บนฐานความสัมพันธ์ส่วนบุคคล การทำธุรกิจข้ามพรมแดน โดยเฉพาะการออกไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียจึงควรให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ส่วนบุคคล การที่นักธุรกิจอินเดียจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย หรือนักธุรกิจไทยจะออกไปลงทุนในอินเดียจึงจำเป็นต้องแสวงหาสายสัมพันธ์ในประเทศที่เข้าไปลงทุน
 
ปัจจุบัน คนเชื้อสายอินเดียที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมีจำนวนถึงสองแสนคน โดยร้อยละ 80 เป็นผู้ที่มีสัญชาติไทย ผมจึงเสนอว่าประเทศไทยและอินเดียควรริเริ่มการสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายคนเชื้อสายอินเดียในประเทศไทย เพื่อสนับสนุนให้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประชาชนอินเดีย โดยเฉพาะกับประชาชนในเจ็ดรัฐภาคอีสานของอินเดีย ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับนักลงทุนอินเดียในการหาหุ้นส่วนในประเทศไทย การเข้าถึงข้อมูล หรือช่วยอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจข้ามวัฒนธรรม
 
ในทำนองเดียวกัน ในรัฐภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียประกอบด้วยคนไทยหลายเผ่า ซึ่งมีภาษาและวัฒนธรรมคล้ายกับภาคเหนือของไทยและลาว และสิบสองปันนาของจีน การสร้างเครือข่ายข้ามพรมแดนระหว่างกลุ่มคนไทย และเชื่อมโยงกับเครือข่ายอื่นๆ เช่น กลุ่มนักวิชาการด้านวัฒนธรรม นักธุรกิจด้านการท่องเที่ยว หรือกลุ่มนักธุรกิจเชื้อสายอินเดีย จึงน่าจะเป็นประโยชน์ในการขยายความร่วมมือทางการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างกันมากขึ้น
 
ประการที่สี่ ปรับปรุงให้มีกฎระเบียบและมาตรฐานเดียวกัน
 
เนื่องด้วยกฎระเบียบและมาตรฐานของรัฐต่างๆ ในอินเดียมีความแตกต่างกัน และกฎระเบียบและมาตรฐานของอินเดียแตกต่างจากไทย ดังนั้นประเทศไทยและอินเดีย หรืออย่างน้อย 7 รัฐในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ควรร่วมมือกันในการปรับปรุงกฎระเบียบและมาตรฐานให้เป็นแบบเดียวกัน โดยเฉพาะกฎระเบียบ พิธีการ และมาตรฐานที่เกี่ยวกับการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่ทำการค้าและนักลงทุนต่างประเทศ และทำให้กฎระเบียบ และมาตรฐาน ต้องเป็นมิตรกับนักลงทุน
 
ประการสุดท้าย ลดช่องว่างด้านข้อมูลข่าวสาร
 
ประเทศไทยและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียควรลดช่องว่างด้านข้อมูลข่าวสารระหว่างกัน เนื่องจากนักธุรกิจและประชาชนระหว่างทั้งสองประเทศยังมีความรู้จักกัน และมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันน้อยมาก ทั้งสองประเทศควรเพิ่มช่องทาง วิธีการ และรูปแบบการสื่อสารข้อมูลระหว่างกันมากขึ้น เช่น การพัฒนาฐานข้อมูลการค้าและการลงทุนของไทยและภาคอีสานของอินเดีย การจัดโครงสร้างเพื่อให้มีการพบปะของนักลงทุนทั้งสองประเทศอย่างสม่ำเสมอ การแลกเปลี่ยนรายการที่ออกอากาศในสื่อโทรทัศน์ การร่วมสนับสนุนเงินทุนสร้างภาพยนตร์ที่ถ่ายทำในประเทศไทยหรือรัฐทั้งเจ็ดของอินเดีย เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างกัน เป็นต้น
 
ประเทศไทยกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แนบแน่นมากขึ้น ซึ่งนับเป็นโอกาสใหม่สำหรับภาคธุรกิจและประชาชนของทั้งสองประเทศ อย่างไรก็ดี ความสัมพันธ์นี้จะพัฒนาขึ้นได้ ไม่เพียงแต่มีกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศหรือโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงระหว่างกันเท่านั้น แต่จำเป็นต้องกำหนดยุทธศาสตร์ความร่วมมือของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะมหาอำนาจ การปรับปรุงกฎระเบียบ ตลอดจนการสร้างการรับรู้และความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศด้วย

ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com