เขียนเป็น..พูดดี
เราไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการพูดจึงสามารถพูดได้ดี แต่เราต้องเตรียมความพร้อมเป็นอย่างดี มิฉะนั้นจะไม่สามารถพูดได้
นี่คือข้อคิดเตือนใจผมเสมอมา เพราะไม่ว่าผมจะได้รับเชิญไปบรรยาย ปาฐกถา สอนหนังสือ อภิปรายในสภาฯ หรือได้รับเชิญไปกล่าวในโอกาสใด ๆ ก็ตาม แม้ว่าผมเป็นผู้ที่มีโอกาสมากในการพูดในหลายรูปแบบ และเคยได้รับรางวัลชนะเลิศ การกล่าวสุนทรพจน์ยอดเยี่ยมอันดับหนึ่งสโมสร Toastmasters ทั้งในระดับประเทศไทย และในระดับภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ผมต้องทำเสมอก่อนการพูด นั่นคือ การเขียนในสิ่งที่ต้องการจะพูด
การเขียนในสิ่งที่ต้องการจะพูดเป็นการเตรียมความพร้อมที่ดี เพราะจะช่วยให้สิ่งที่คิดจะพูดนั้นคมชัดขึ้น การเขียนช่วยลำดับความคิด ช่วยให้เราจินตนาการตั้งแต่เริ่มต้นได้ว่า จะสื่อสารอะไร อย่างไร จะสอดแทรกอะไรลงไป ในช่วงเวลาใด จะปิดคำกล่าวอย่างไรให้น่าสนใจ ที่สำคัญช่วยในการฝึกซ้อม และกลับมาทบทวนแก้ไขก่อนการพูดจริงได้
อย่างไรก็ตาม การเขียนที่เหมาะสมสำหรับการพูดที่ดีนั้น จะต้องมีองค์ประกอบที่ควรเรียนรู้ดังต่อไปนี้
การใช้ภาษาพูด ไม่ใช่ภาษาเขียน ให้เขียนสิ่งที่เราต้องการพูด ในรูปแบบที่สามารถนำไปพูดได้จริงมากที่สุด เหมือนกับกำลังพูดอยู่ ฟัง ๆ แล้วเข้าใจได้ทันที ควรใช้ภาษาให้เหมาะกับกลุ่มผู้ฟัง
เขียนเป็นประโยคสั้น ๆ ต้องคำนึงถึงด้วยว่า เราจะมองสิ่งที่เราเขียนก่อนพูด ดังนั้นจึงควรเป็นประโยคสั้น ๆ เพื่อให้สามารถกวาดสายตาได้ว่า ในประโยคนั้น เราต้องการพูดอะไร ได้อย่างรวดเร็ว อย่าเขียนเป็นประโยคยาว ๆ ต่อ ๆ กัน เพราะจะทำให้อ่านยาก
เขียนแบบมีจังหวะ เราต้องจำไว้ว่า การพูดไม่ใช่การอ่าน จึงไม่สามารถเขียนแบบเรื่อย ๆ ได้ แต่เราต้องรู้ว่า ตรงไหนที่ต้องการเน้นเสียง ต้องการเว้นจังหวะหยุด อีกทั้ง เราไม่สามารถก้มหน้าอ่านได้ตลอด แต่จะต้องมีช่วงที่เราเงยหน้าขึ้นมองผู้ฟัง ดังนั้น เมื่อเราต้องก้มหน้ามองโน้ตอีกครั้ง เราจะต้องเห็นทันทีว่าเราพูดไปถึงตรงไหนแล้ว เราจึงควรเขียนให้ง่ายต่อการมองเห็น และพูดต่อได้ทันทีมากที่สุด โดยอาจใช้เครื่องหมายต่าง ๆ ประกอบ อาทิ
เน้นคำสำคัญ (keyword) ในแต่ละเรื่องที่ต้องการกล่าวถึงต้องมีคำสำคัญที่เห็นได้อย่างชัดเจน เพื่อช่วยให้รู้ว่าจะพูดอะไรได้ทันที ไม่ต้องอ่านทั้งหมดเพื่อทำความเข้าใจและย่อยเป็นภาษาพูดอีกครั้ง อาจทำตัวหนา ขนาดใหญ่ กว่าตัวอื่น ๆ เพื่อให้เห็นได้ชัดเจน
การใช้เครื่องหมาย ndash; คั่นระหว่างคำ เพื่อให้อ่านง่าย เพราะในภาษาไทย โดยปกติจะเขียนติดกันเป็นประโยคยาว ๆ แล้วค่อยเว้นวรรค ซึ่งจะส่งผลกระทบทำให้ยากต่อการมองคำสำคัญที่ต้องการพูด ดังนั้น เราอาจใช้เครื่องหมายคั่นเพื่อแสดงถึงจังหวะที่เราต้องการจะหยุด หรือเน้นคำพูด เช่น ldquo;ทุกนาทีที่เสียไป ndash; ไม่ใช่ - เรื่องเล่น ๆrdquo; เป็นต้น
การขีดเส้นใต้ เราอาจใช้การขีดเส้นใต้ เพื่อให้รู้ว่าคำใดที่ต้องการแสดงสีหน้า ท่าทางอะไรบางอย่าง การขีดเส้นใต้จะช่วยให้สายตาของเราเห็นคำนั้นได้ทันทีที่เรามองลงบนกระดาษ
ในการใช้เครื่องหมายอาจใช้สลับไปมา แต่ต้องให้เห็นเด่นชัด และมีความหมายเหมือนกันตลอดทั้งข้อเขียน เพื่อให้เราเข้าใจได้ทันที อันจะช่วยให้การพูดของเราเป็นไปอย่างราบรื่น ไม่สะดุด
จำไว้ว่า เราจำเป็นต้องรู้ว่า กำลังจะพูดอะไร และรู้เป็นอย่างดีจนมั่นใจว่า เราสามารถพูดได้เป็นอย่างดี ดังนั้น ในช่วงเริ่มต้น การเขียนในสิ่งที่ต้องการพูดจึงเป็นเรื่องสำคัญ ไม่เพียงเท่านั้น ในขั้นต่อไป ต้องฝึกพูดในสิ่งที่เขียนด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่เราจะพูดคุยกันในลำดับต่อไป
เผยแพร่:
งานวันนี้
เมื่อ:
2007-08-21