ไทยต้องเป็นเศรษฐกิจฐานความรู้ ไม่ใช่แค่เศรษฐกิจสร้างสรรค์

     เมื่อไม่นานมานี้ผมได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นของผมในงานสัมมนาที่จัดโดยมหาวิทยาลัยเกริก เรื่อง ?ยุคสังคมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์: ความฝันหรือความจริงแห่งอนาคต? ซึ่งนอกจากผมแล้วยังมีวิทยากรหลายท่านได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ซึ่งปัจจุบันเป็นนโยบายที่รัฐบาลพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นไว้อย่างน่าสนใจ

     โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่าการจะเข้าใจทิศทางของประเทศว่าควรจะเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์หรือไม่นั้นต้องเข้าใจพัฒนาการทางสังคมโดยรวมเสียก่อน ซึ่งผมได้อธิบายเรื่องนี้ไว้ในหลายโอกาสว่าการเปลี่ยนแปลงทางสังคมของโลกนั้นมีลักษณะเป็น ?คลื่น 7 ลูก? เริ่มต้นจากคลื่นลูกที่ 0 คือ สังคมเร่ร่อน ทักษะสำคัญในยุคนี้ คือ การล่าสัตว์ ดังนั้นผู้ที่ล่าสัตว์เก่งจึงได้เป็นผู้นำแห่งยุค ถัดมาคลื่นลูกที่ 1 คือ สังคมการเกษตร ซึ่งคนเริ่มตั้งรกราก ปัจจัยที่สำคัญในยุคนั้น คือ ที่ดิน ทำให้ผู้ที่มีความสามารถในการรบเพื่อขยายเขตแดน ได้เป็นผู้นำแห่งยุค จากนั้นคลื่นลูกที่ 2 คือ สังคมอุตสาหกรรม ซึ่งเริ่มจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษ ทำให้อังกฤษมีอิทธิพลในโลกอย่างมาก เนื่องจาก มีทักษะที่จำเป็นมากกว่าใครนั่นคือ ความสามารถในการผลิต การค้า และการลงทุน ต่อมาโลกพัฒนาเข้าสู่คลื่นลูกที่ 3 คือ สังคมข้อมูลข่าวสาร ซึ่งข้อมูลข่าวสารมีความซับซ้อนขึ้น ทำให้ผู้ที่มีความสามารถในการจัดการข้อมูลจึงได้เป็นผู้นำแห่งยุค (เช่น บิลล์ เกตส์) ปัจจุบันโลกมาถึงคลื่นลูกที่ 4 คือ สังคมเศรษฐกิจฐานความรู้ ทำให้ประเทศที่สามารถใช้ความรู้ในการผลิต มีนวัตกรรม มีการวิจัยและพัฒนาในกระบวนการผลิตมาก ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าประเทศอย่างสหรัฐ ได้เป็นผู้นำแห่งยุค เนื่องจาก มีการวิจัยและการสร้างนวัตกรรมเกิดขึ้นอย่างมากมาย อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐนั้นมีมูลค่าสูงถึง 5 ? 5.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และส่งออกอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับลิขสิทธิ์สูงถึง ร้อยละ 50

     ในขณะที่โลกพัฒนามาถึงคลื่นลูกที่ 4 แต่ประเทศไทยเองยังอยู่ในช่วงคลื่นลูกที่ 2 และ คลื่นลูกที่ 3 ซึ่งเราได้จากการต่อสู้และความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างกลุ่มทุนเก่า (คลื่นลูกที่ 2) กับ กลุ่มทุนใหม่ที่มาจากสายโทรคมนาคม (คลื่นลูกที่ 3) ซึ่งมีความสามารถในการบริหารจัดการข้อมูลมากกว่า ดังนั้นหากประเทศไทยต้องการที่จะพัฒนาไปข้างหน้าและได้ประโยชน์จากกระแสของโลก รัฐบาลต้องพยายามขี่ยอดคลื่นลูกที่ 4 หรือพัฒนาประเทศให้เป็นสังคมเศรษฐกิจฐานความรู้ ซึ่งไม่ใช่การเป็นเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์เท่านั้น    

     เศรษฐกิจฐานความรู้ แตกต่างจากเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เนื่องจาก ความรู้เกิดจากความสามารถในการคิด ซึ่งการคิดให้ได้ความรู้อย่างครบถ้วนนั้น ต้องอาศัยการคิด 10 มิติ ซึ่งผมได้เขียนเป็นหนังสือเอาไว้แล้ว การคิดสร้างสรรค์เป็นเพียงการคิดมุมหนึ่งใน 10 มิติเท่านั้น ยังขาดอีก 9 มิติ การเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์จึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการสร้างเศรษฐกิจฐานความรู้เท่านั้น ซึ่งภาครัฐไม่ควรละเลยมิติอื่นๆ ในการคิดเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยบนพื้นฐานของความรู้ด้วย ดังนั้นผมจึงเห็นว่าประเทศไทยควรตั้งเป้าหมายในการพัฒนาตัวเองเป็นเศรษฐกิจฐานความรู้มากกว่าสถานการณ์ปัจจุบันจำนวนการจดสิทธิบัตรและทรัพย์สินทางปัญญาหรือจำนวนการตีพิมพ์งานวิชาการในวารสารรวมทั้งสิ่งใหม่ที่เกิดจากการคิดเองของคนไทยโดยไม่ลอกเลียนต่างชาติมีน้อยมาก การจะผลักดันประเทศไทยให้เป็นเศรษฐกิจฐานความรู้นั้นถือเป็นงานหนักของรัฐบาลที่ต้องอาศัยการปฏิรูปอย่างรอบด้าน เช่น

     การปฏิรูปคน คนไทยจำนวนมากคิดไม่เป็น และยังมีค่านิยมหลายประการที่เป็นอุปสรรค รัฐบาลต้องผลักดันให้เกิดการปฏิรูปคนผ่านการปฏิรูประบบการศึกษาและการเรียนรู้ เพื่อสร้างคนไทยเป็นคนเก่ง คนดีและคนกล้า เช่น การผลักดันให้เด็กและเยาวชนทุกคนเข้าระบบการศึกษา มีการเพิ่มชั่วโมงพัฒนาทักษะในสถานศึกษา และมีการใช้นวัตกรรมสื่อการศึกษาและการเรียนรู้ที่ดีที่สุดในการเรียนการสอน โดยให้กระทรวงศึกษาธิการคุมทิศทาง กำกับคุณภาพการศึกษาและการสร้างคน รวมทั้งการส่งเสริมเอกชนเป็นแกนนำจัดการศึกษา เป็นต้น 

     การปฏิรูประบบ ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องระบบองค์ความรู้อย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องฐานข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน ไม่เชื่อมโยงกัน อีกทั้งการวิจัยและพัฒนาที่มีน้อยมาก รัฐบาลต้องปฏิรูประบบฐานข้อมูลของประเทศ โดยการกำหนดมาตรฐานสถิติและหน่วยงานที่รับผิดชอบให้ชัดเจน นอกจากนี้ยังต้องปฏิรูประบบการวิจัยและพัฒนา ต้องเพิ่มงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนาทันทีและควบคุมผลงานวิจัยให้ใช้ได้จริง  หรืออาจดึงคนเก่งจากทั่วโลกมาช่วยพัฒนาประเทศเพื่อคิดค้นนวัตกรรมใหม่ให้ไทย เป็นต้น

     การปฏิรูปบริบท  สังคมไทยมีลักษณะหลายประการที่ไม่สนับสนุนให้เกิดการสร้างความรู้และทำให้คนใช้ความคิดมากนัก เช่น สังคมที่เห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตนมากกว่าความถูกต้อง การละเมิดลิขสิทธิ์ ทรัพย์สินทางปัญญาจึงเกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติ เป็นต้น ดังนั้นรัฐบาลต้องส่งเสริมการทำความดี เปลี่ยนระบบการประเมินผลในโรงเรียนและองค์กรภาครัฐให้มีการประเมินที่ความดี หรือร่วมกับภาคเอกชน สื่อมวลชน และองค์กรภาคสังคม ร่วมกันจัดตั้งรางวัลที่ยกย่องผู้ที่กระทำความดี เพื่อคนจะหันมาใช้ความคิดและความรู้ที่มีอยู่ในการทำสิ่งที่ดีมากขึ้น เป็นต้น

     เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างเล็กน้อยถึงสิ่งที่รัฐบาลต้องทำเท่านั้น ยังมีงานอีกมากมายที่รัฐบาลต้องเร่งรีบทำอย่างจริงจัง ซึ่งผมเห็นว่าเศรษฐกิจไทยยังสามารถแข่งขันและเอาตัวรอดได้ในระยะยาวท่ามกลางการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่รุนแรงขึ้น หากรัฐบาลหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานความรู้ ไม่ใช่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่เป็นเพียงแค่กระแสนิยมเท่านั้น

admin
เผยแพร่: 
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์การเมือง : ทัศนะวิจารณ์
เมื่อ: 
16/2/2010