การเมืองไทยหลังคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ
ถือเป็นคดีประวัติศาสตร์ของการเมืองไทย เมื่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน ใช้เวลาอ่านคำวินิจฉัยนับ 10 ชั่วโมง ที่อัยการสูงสุดยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคการเมือง 5 พรรคได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า พรรคไทยรักไทย พรรคพัฒนาชาติไทย พรรคแผ่นดินไทย ซึ่งเป็นคดีที่พรรคไทยรักไทยถูกกล่าวหาว่าจ้างพรรคเล็กลงสมัครเพื่อหลีกเลี่ยงกฎ 20 % หากเขตเลือกตั้งมีผู้สมัครเพียงพรรคเดียว ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ถูกตั้งข้อหาใส่ร้ายพรรคไทยรักไทยและขัดขวางการเลือกตั้ง
คำวินิจฉัยของคณะตุลาการฯ ชี้ขาดว่า ให้ยกคำร้องในส่วนที่ขอให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ และสั่งให้ยุบพรรคไทยรักไทยและกรรมการบริหารพรรคจำนวน 111 คน ถูกตัดสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี ขณะที่พรรคเล็กอีก 3 พรรคก็ถูกยุบพรรคและกรรมการบริหารพรรคถูกตัดสิทธิเลือกตั้งเช่นเดียวกัน
ภายหลังคำตัดสินมีทั้งความยินดี โล่งใจ และความเศร้าโศก คละเคล้ากันไประหว่างสมาชิกพรรคการเมืองต่าง ๆ ขณะเดียวกัน ทำให้เกิดความชัดเจนทางการเมืองมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเสนอต่อรัฐบาลเพื่อให้พรรคการเมืองสามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองทั้งในรูปแบบการหาเสียง การนำเสนอนโยบายพรรค จดทะเบียนพรรคการเมือง ฯลฯ
ขณะเดียวกัน การอ่านคำวินิจฉัยหน้าจอโทรทัศน์นับ 10 ชั่วโมงของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ถือเป็นการสอนวิชานิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และการเมืองการปกครอง ให้กับประชาชนที่เฝ้าติดตามไปในตัว แม้ว่าบางครั้งอาจจะฟังดูยากเพราะเป็นเรื่องทางกฎหมายล้วน ๆ แต่ก็ทำให้คำวินิจฉัยได้รับการยอมรับในลักษณะที่มีความโปร่งใสในการพิจารณาคดี ตั้งแต่ การแสดงเหตุของการกล่าวหา คำแก้ข้อกล่าวหา ผลการพิจารณาว่าผู้ถูกร้องทั้งหลายมีความผิดจริงหรือไม่ตามข้อกล่าวหา ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพยานหลักฐาน คำให้การ และแรงจูงใจต่าง ๆ และที่สำคัญใช้หลักกฎหมายอย่างตรงไปตรงมาเป็นตัวตั้งในการพิจารณาคดีเรื่องของการยุบพรรค การตัดสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรค โดยเฉพาะความกล้าหาญในการตัดสินคดี แม้จะมีการใช้คำอ้างเกี่ยวกับปริมาณของสมาชิกพรรคเพื่อกดดันในการพิจารณาคดีของตุลาการฯ รวมถึงการทักท้วงให้เห็นความสำคัญในการปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยเฉพาะอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคมากกว่าการครอบงำของหัวหน้าพรรค
ในอีกด้านหนึ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ เกิดข้อถกเถียงทางวิชาการอย่างมากมายตั้งแต่ การตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคย้อนหลังทำได้หรือไม่อย่างไร หรือแม้กระทั่งการตั้งคำถามจากนักวิชาการด้านนิติศาสตร์เกี่ยวกับที่มาของตุลาการรัฐธรรมนูญชุดนี้ว่า มีความชอบธรรมเพียงพอที่จะตัดสินเรื่องยุบพรรคได้หรือไม่ ดังจะเห็นได้จากคำประกาศของรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ที่จะเผยแพร่คำวินิจฉัยให้นักวิชาการวิพากษ์และวิจารณ์ และแปลเป็นภาษาอังกฤษให้นักวิชาการทั่วโลกศึกษา ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ในลักษณะของการศึกษา พิจารณาคำวินิจฉัย การต่อยอดทางความรู้ด้านนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ มากกว่าหากเป็นเพียงการศึกษาที่คอยจับผิดและทัศนะที่มีอคติต่อคำพิพากษา
ถึงจุดนี้แล้ว สภาพการเมืองไทยหลังคำตัดสินของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญจะคลายอึมครึมทางการเมืองลงระดับหนึ่ง โดยเฉพาะพรรคการเมืองที่เหลืออยู่และกลุ่ม(พรรค)ไทยรักไทยจะต้องเตรียมคิดในเรื่องของนโยบายพรรค การจัดกิจกรรมหาเสียง การพบปะประชาชน เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ประเทศชาติสามารถเดินหน้าต่อไปได้โดยมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งภายใต้ระบอบประชาธิปไตย
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าเป็นห่วงในขณะนี้คือ การชุมนุมต่อต้านคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติของกลุ่มพีทีวี ซึ่งมีทีท่าว่าจะมีผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวนหลายพันคนในขณะนี้ การปราศรัยแสดงท่าทีก้าวร้าว และโน้มน้าวให้มีการเคลื่อนขบวนไปหน้ากองบัญชาการกองทัพบกซึ่งเสมือนต้องการเผชิญหน้ากับทหารโดยตรง หากมีน้ำผึ้งหยดเดียวอาจจะทำให้เกิดมีการใช้ความรุนแรงจนเกิดการเสียชีวิตและเลือดเนื้อของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งซึ่งจะทำให้สถานการณ์ของประเทศไทยน่าวิตกและกังวลเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะความเชื่อมั่นในด้านเศรษฐกิจ ดังนั้น รัฐจะต้องมีความระมัดระวังในการเฝ้าติดตาม เข้าใจจิตวิทยามวลชนในการดูแลและควบคุมฝูงชนไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่งและใช้ความรุนแรงต่อกัน
อีกประเด็นหนึ่งที่จะส่งผลต่อสังคมการเมืองไทย คือ การออกเสียงลงประชามติว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มต่าง ๆ ที่พยายามเรียกร้องกดดันให้บัญญัติในสิ่งที่ตนต้องการ หากมิฉะนั้นแล้ว ก็จะรณรงค์ให้คว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ขณะที่กลุ่มนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนและนักวิชาการจำนวนหนึ่ง กำลังรณรงค์ให้คว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยสาเหตุเพราะที่มาของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญมาจากการยึดอำนาจของฝ่ายทหาร ดังนั้น หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ผ่านการออกเสียงประชามติ ทำให้กังวลว่าการเลือกตั้งจะยืดไปจนถึงปีหน้า ยิ่งจะทำให้กระทบกระเทือนทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม
ถึงตรงนี้แล้ว เราคงต้องช่วยกันคิด ช่วยกันศึกษาด้วยสติปัญญามากกว่าอารมณ์ความรู้สึกที่ถูกชักจูงทางใดทางหนึ่ง เพื่อทำให้สังคมการเมืองไทยยังเดินต่อไปได้ ภายใต้กติกาที่ชาวไทยช่วยกันสร้าง
Catagories:
Tags:
เผยแพร่:
หนังสือพิมพ์เม็งราย
เมื่อ:
2007-07-16
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ยุติสงคราม สร้างสันติภาพโลกถาวร (ซ้ำ)
Total views: อ่าน 145 ครั้ง
คนไทยเรียนรู้อะไร จากบทเพลงสุดท้ายของพี่ศรี
Total views: อ่าน 67 ครั้ง
ยุติสงคราม สร้างสันติภาพโลกถาวร
Total views: อ่าน 230 ครั้ง
บทบาทของไทยและอาเซียนต่อการรวมเกาหลีให้เป็นหนึ่งเดียว
Total views: อ่าน 1,991 ครั้ง
การสร้างคุณภาพชีวิตเมืองเพื่อการสร้างชาติ ด้วยโมเดลเมืองน่าอยู่ 12 มิติ: Dr.Dan Can Do’s Livable City Model
Total views: อ่าน 2,626 ครั้ง