การพัฒนาผู้ร่วมงานสู่ความเป็นเลิศ
ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http:// www.kriengsak.com
การพัฒนาบุคลากรในองค์กรเป็นภารกิจที่สำคัญสำหรับผู้บริหาร เพราะการพัฒนาบุคลากรที่อยู่ในองค์กรอยู่แล้ว ให้มีความสามารถเพิ่มขึ้น จะช่วยลดต้นทุนมากกว่าการสรรหาผู้สมัครใหม่ เพราะบุคลากรเก่าเป็นกลุ่มคนที่มีความคุ้นเคยกับองค์กร ในขณะที่บุคลากรใหม่จะมีความเสี่ยงสูงกว่า เพราะไม่มีหลักประกันว่าบุคลากรใหม่จะสามารถปรับตัวเข้ากับองค์กรได้ดี นอกจากนี้ การพัฒนาบุคลากรยังเป็นปัจจัยสร้างความเข้มแข็งที่แท้จริงให้กับองค์กรด้วย โดยมีหลักในการพัฒนา ดังนี้
การพัฒนาต้องกระทำอย่างเป็น "องค์รวม"
การพัฒนาบุคลากรในแต่ละองค์กรนั้น เราไม่ควรมุ่งสนใจพัฒนาเพียงด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น เช่น สนใจพัฒนาแต่ด้านความรู้ ทัศนคติ หรือทักษะความชำนาญอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะจะทำให้เกิดการเสียสมดุล การพัฒนาบุคลากรจะไม่ยั่งยืน และจะมีปัญหาตามมาในที่สุด ผู้บริหารควรมองบุคลากรในลักษณะขององค์รวม โดยมุ่งพัฒนาบุคลากรในองค์กรให้ครบถ้วนทุกด้าน ทั้งด้านความรู้ความเข้าใจในวิทยาการต่าง ๆ ด้านการพัฒนาของความคิดและสติปัญญา ด้านการสร้างทัศนคติค่านิยมที่ถูกต้อง ด้านการแก้ไขปรับปรุงพฤติกรรมให้ดีและเหมาะสม และด้านการสร้างมาตรฐานทางคุณธรรมและจริยธรรมอย่างถูกต้องให้เกิดขึ้นในชีวิตของบุคลากร การพัฒนาบุคลากรอย่างเป็นองค์รวมควรคำนึงความครบถ้วนในมิติต่าง ๆ ดังนี้
ครบถ้วนทั้งการพัฒนาความคิด จิตใจ และร่างกาย การพัฒนาความคิดเป็นส่วนของความรู้ความเข้าใจในงาน ความสามารถในการคิดและการใช้เหตุผล การพัฒนาจิตใจมุ่งไปที่พัฒนาการทางอารมณ์ที่เหมาะสมกับวัย มีความมั่นคงในจิตใจ มีสุขภาพจิตที่ดี มีสำนึกรู้ผิดชอบชั่วดี การรู้จักยับยั้งชั่งใจ ส่วนการพัฒนาร่างกายคือ การทำให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ มีสุขภาพพลานามัยที่ดี การขาดสมดุลในด้านใดด้านหนึ่งจะส่งผลให้เกิดความถดถอยของผลการปฏิบัติงานได้
ครบถ้วนทั้งการพัฒนาความรู้และคุณธรรมจริยธรรม พื้นฐานของค่านิยมในสังคมปัจจุบันที่ไม่เห็นคุณค่าของคุณธรรม ไม่ยึดมั่นในความถูกต้องเท่าที่ควร สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดการสร้างค่านิยมผิด ๆ ให้กับพนักงานในหน่วยงานต่าง ๆ องค์กรหลายแห่งจึงมีบุคลากรที่ทรงความรู้แต่ขาดคุณธรรมจริยธรรมเป็นเครื่องชี้นำ ซึ่งส่งผลทำให้การทำงานขาดประสิทธิภาพ ประสิทธิผล โดยเฉพาะการสูญเสียงบประมาณจำนวนมากไปกับการป้องกันการคอรัปชั่นและการคอร์รัปชัน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมควบคู่ไปกับความรู้ในวิชาชีพด้วย โดยควรจัดให้มีหลักสูตรการพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรมเชิงปฏิบัติแก่บุคลากรในองค์กร
ครบถ้วนทั้งการสร้างทัศนคติและค่านิยมที่ถูกต้องในการทำงาน ค่านิยมหลายอย่างในสังคมไทยเป็นสิ่งดีที่ควรรักษาไว้ แต่ขณะเดียวกันยังมีอีกหลายค่านิยมที่ก่อให้เกิดปัญหาในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง อาทิ ค่านิยมอำนาจนิยม ค่านิยมที่วัดคุณค่าคนบนผลประโยชน์โดยให้ความสำคัญแก่วัตถุและชื่อเสียงเกียรติยศ ค่านิยมหน้าไหว้หลังหลอก ค่านิยมการรู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี ค่านิยมเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว ขาดจิตสำนึกสาธารณะและส่วนรวม ฯลฯ บุคลากรในแต่ละหน่วยงานเป็นสมาชิกส่วนหนึ่งของสังคมที่ถูกหล่อหลอมมาโดยค่านิยมเหล่านี้ หากผู้บริหารองค์กรละเลยการปรับปรุงแก้ไขค่านิยมเหล่านี้ จะก่อให้เกิดผลร้ายในระดับองค์กร ทำใหเกิดเป็นวัฒนธรรมและค่านิยมขององค์กรอันบั่นทอนความเจริญก้าวหน้าขององค์กร
การพัฒนาบุคลากรต้องดึง "ศักยภาพ" ของบุคลากรออกมาใช้อย่างเต็มที่
หลักการพัฒนาบุคลากรประการที่สอง ตั้งอยู่บนฐานความคิดที่ว่า แต่ละบุคคลมีความเป็นเอกลักษณ์แตกต่างกัน มีศักยภาพเฉพาะตัวที่แตกต่างกัน ภารกิจหลักของการพัฒนาบุคลากรคือ การดึงเอาศักยภาพที่มีอยู่ออกมาใช้ให้เต็มขนาด และพัฒนาให้ศักยภาพนี้เพิ่มมากขึ้นด้วย ดังนั้นเราจึงไม่สามารถจะจัดแบบแผนการพัฒนาสำเร็จรูปแบบเดียวไปใช้กับทุกคนได้ การพัฒนาบุคลากรจึงควรตั้งอยู่บนหลักของผู้เรียนเป็นศูนย์กลางโดยมีการ "วิเคราะห์บุคคล" ก่อนว่าพนักงานแต่ละคนมีพื้นฐานความรู้ความสามารถแต่ละด้านในระดับใดบ้าง มีจุดอ่อนจุดแข็งแตกต่างกันอย่างไร มีทักษะความถนัดด้านใดเป็นพิเศษ แล้วจึงจัดกิจกรรมที่ช่วยดึงเอาศักยภาพของเขาออกมาใช้อย่างเต็มที่ กิจกรรมการพัฒนาบุคลากรจึงไม่สมควรจะกำหนดเป็นชุดกิจกรรมเดียวที่ใช้กับพนักงานทุกกลุ่มทุกประเภท แต่สมควรจะออกแบบให้มีความยืดหยุ่นและเหมาะสมกับศักยภาพของแต่ละบุคคล โดยมุ่งหวังที่จะพัฒนาผู้รับการพัฒนาแต่ละคนตรงตามศักยภาพที่มีอยู่อย่างเต็มที่
การพัฒนาต้องกระทำอย่าง "ต่อเนื่อง" ตลอดชีวิตการทำงาน
ในโลกปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นทุกวินาที มีการเชื่อมโยงสารสนเทศถึงกันอย่างใกล้ชิด ทำให้ความรู้ล้าสมัยลงอย่างรวดเร็ว การศึกษาหรือการฝึกอบรมเพียงบางช่วงเวลาย่อมไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของความรู้ในโลกได้ โดยเหตุนี้จึงมีความจำเป็นที่บุคลากรขององค์กรต้องได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการใช้ระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิตและระบบการเรียนรู้ในองค์กร ผู้บริหารต้องจัดสภาพแวดล้อมในองค์กรให้เอื้อต่อการเรียนรู้ของพนักงานตลอดเวลา และให้เป็นการเรียนรู้ผ่านการทำงานด้วยในขณะเดียวกัน
การพัฒนาต้อง "สอดคล้อง" กับแผนองค์กรและความเปลี่ยนแปลงของโลก
ผู้บริหารต้องบูรณาการ แผนการพัฒนาบุคลากรให้สอดคล้องกับความจำเป็น และเป้าหมายการทำงานของแต่ละบุคลากร ที่ประสานกับแผนการทำงานขององค์กร โดยที่แผนภาพรวมขององค์กรต้องสอดคล้องกับปัจจัยภายนอกที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย อาทิ นโยบายของรัฐบาล กฎหมาย เทคโนโลยี คู่แข่งขัน ผู้รับบริการ วัฒนธรรม โครงสร้างประชากร ฯลฯ เพื่อให้พนักงานได้รับองค์ความรู้ใหม่ ทักษะใหม่ มุมมองใหม่ ๆ ในการทำงานเสมอ อาทิ ผู้บริหารควรเข้าใจถึงภาวะทางเศรษฐกิจ ความผันผวนของค่าเงิน เพราะสิ่งนี้กำหนดการใช้จ่ายและยอดการส่งสินค้าออก เป็นต้น
กล่าวโดยสรุปแล้ว เป้าหมายของการพัฒนาบุคลากรในองค์กร ไม่ใช่เพียงปรับเปลี่ยนหรือเพิ่มเติมพฤติกรรมในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่เป็นการมองทุกด้านอย่างเป็นองค์รวม เพื่อสามารถนำศักยภาพของบุคลากรมาใช้ได้อย่างเต็มที่ โดยอาศัยการพัฒนาที่มีความต่อเนื่อง และสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก