ยุทธศาสตร์การบริหาร 8E : ตอนที่ 2 ประสิทธิการ

จากบทความตอนที่แล้ว ผมได้นำเสนอยุทธศาสตร์การบริหาร 8E ซึ่งเป็น Model ใหม่ที่ผมสร้างขึ้น E ตัวที่หนึ่ง ได้แก่ Efficiency หรือประสิทธิภาพ อันเป็นการบริหารและจัดสรรปัจจัยนำเข้า (inputs) หรือทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดไปแล้ว สำหรับบทความในตอนนี้ ผมจะนำเสนอยุทธศาสตร์ E ตัวที่สอง ที่นับว่าเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญในการบริหาร นั่นคือ Excellence คือ ความดีเลิศในกระบวนการ หรือขอเรียกว่าประสิทธิการ

ประสิทธิการ คือ Process หรือกระบวนการดีเลิศ (Excellence) แยกได้เป็น 2 คำ คือ คำว่า ประสิทธิ + การ โดยคำว่าประสิทธิ หรือประสิทธิ์ หมายถึง การทำให้สำเร็จหรือเกิดความสำเร็จ และ การ หมายถึง การดำเนิน กระบวนการ กิจกรรม งาน ด้วยเหตุนี้ ผมจึงให้ความหมายของยุทธศาสตร์การบริหารอย่างมีประสิทธิการว่า เป็นยุทธศาสตร์การบริหารจัดการกระบวนการดำเนินงาน (Process Management Strategy) ให้เกิดความสำเร็จ ด้วยมีลักษณะกระบวนการที่ดีเลิศ ทำทุกขั้นตอนการปฏิบัติการอย่างดีที่สุด (Best Practices)  ตามมาตรฐานและความถูกต้องของหลักสากลที่เรียนรู้ต่อยอดสะสมกันมา จากการค้นคว้า ศึกษาหาวิธีการที่ดีที่สุดในระดับโลก แล้วนำมาปรับประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการบริหารจัดการให้เหมาะสมกับบริบทและวิถีชีวิต ในกระบวนการของเรื่องที่เราทำ


ยกตัวอย่างเช่น หากประเทศไทยต้องการสร้างระบบการบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอในช่วงวิกฤติภัยแล้ง อาจไปศึกษาวิธีการจากเมืองคุมะโมโตะ (Kumamoto) ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้รับรางวัลกระบวนการบริหารจัดการน้ำดีเลิศ (best water management practices) ภายใต้โครงการรณรงค์น้ำเพื่อชีวิต2005-2015 (Water for Life 2005-2015) จากองค์การสหประชาชาติ ในงานวันน้ำโลก ปี 2013 (World Water Day 2013) ที่จัดขึ้น ณ ประเทศเนเธอร์แลนด์  

เมืองคุมะโมโตะ ตั้งอยู่บนเกาะคิวชู (Kyushu) เกาะทางตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่น สิ่งท้าทายของเมืองนี้ คือ ไม่มีแหล่งทรัพยากรน้ำทางเลือกอื่น นอกจากน้ำบาดาล อีกทั้งต้องเผชิญกับวิกฤติน้ำบาดาลเหือดแห้งและปนเปื้อน ในอดีตเมืองนี้ถูกขนานนามว่า เป็นเมืองแห่งป่าไม้ (City of Forest) แต่ด้วยการเติบโตของสังคมเมืองอย่างรวดเร็วในช่วงต้นศตวรรษปี 1970 ทำให้ปริมาณน้ำบาดาลซึมผ่านได้น้อยลง ในขณะที่ประชากรมีความต้องการใช้น้ำมากขึ้น จนนำมาซึ่งปัญหาในที่สุด


เมืองคุมะโมโตะได้ดำเนินการโครงการต่างๆ เพื่อการอนุรักษ์น้ำ ไม่ว่าจะเป็นการประกาศการอนุรักษ์น้ำบาดาลในปี 1976 การติดตั้งบ่อสังเกตการณ์ระดับน้ำบาดาล (Groundwater observation wells) ในปี 1986 รวมถึงได้ทำการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับระบบการไหลเวียนของน้ำบาดาลของเมือง สิ่งที่พบจากงานวิจัย คือ ระดับน้ำบาดาลขึ้นอยู่กับพื้นที่การเกษตรและป่าไม้ ทางตอนบนและตอนกลางบริเวณอ่างเก็บน้ำ ของแม่น้ำชิระคาวะกับแม่น้ำมิโดริคาวะ ทางตะวันออกของเมืองคุมะโมโตะ ที่ไหลผ่านเมืองโอซุ (Ozu) คิคูโยะ (Kikuyo) และเมืองมิฟูเนะ (Mifune)


เมื่อทราบต้นเหตุของปัญหาและปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ความร่วมมือในโครงการต่างๆ จากทุกเมืองจึงได้เริ่มต้นขึ้นในปี 2004 ทั้งการประกาศข้อบังคับและข้อตกลงในการอนุรักษ์และเพิ่มระดับน้ำบาดาล รวมถึงการดำเนินโครงการทำให้แปลงนาข้าวมีน้ำท่วมขังสลับกับนาแห้ง เพื่อเร่งเพิ่มการสะสมระดับน้ำบาดาล นอกจากนี้ ยังมีการสร้างตราสินค้า (Brand) ของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ที่ชื่อว่าของขวัญจากน้ำ (Gift of Water) รวมถึงเพิ่มความตระหนักให้กับประชาชนทุกคนในเมือง ให้ร่วมกันปกป้องและอนุรักษ์ป่าไม้ อันเป็นต้นน้ำของแม่น้ำลำธารในเมือง ผ่านการดำเนินโครงการต่างๆ


ในปี 2008 ได้เริ่มต้นโครงการเดือนแห่งการประหยัดน้ำ (Water Saving Month) ซึ่งจะประหยัดน้ำตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน ด้วยการเปิดเผยปริมาณการใช้น้ำของทุกคนต่อวัน และส่งเสริมการใช้อุปกรณ์ที่ช่วยประหยัดน้ำ และในปี 2012 ยังได้ริเริ่มก่อตั้งองค์กรใหม่ ที่ทุ่มเทให้กับการบริการจัดการน้ำบาดาลอย่างยั่งยืน เพื่อประสานการใช้น้ำของทั้งชุมชนให้มีประสิทธิภาพ ปรับปรุงระบบการบำรุงรักษาคุณภาพและการไหลเวียนของน้ำบาดาล โดยใช้ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมและเทคโนโลยีมากขึ้น รวมทั้งการเพิ่มและสร้างความตะหนักว่า น้ำบาดาลเป็นทรัพยากรที่สำคัญของเมืองคุมะโมโตะ


จากผลจากความร่วมมือร่วมแรงร่วมใจของทุกคนในเมืองคุมะโมตะ จึงทำให้เมืองคุมะโมโตะได้รับรางวัลระดับโลกที่น่าภาคภูมิใจ อันเป็นการสะท้อนการเห็นคุณค่าของแหล่งน้ำอย่างเป็นรูปธรรม และกลับมาได้รับฉายาว่าดินแดนแห่งป่าสวยน้ำใสบริสุทธิ์ (City of Woods and Fresh Water) อีกครั้ง


จะเห็นว่า กระบวนการทำงานของเมืองคุมะโมโตะ เป็นระบบที่มีขั้นตอนแต่ละขั้นที่ดีเลิศ แม้ต้องใช้ระยะเวลานานมากกว่า 30 ปี มีปรับปรุง แก้ไข และพัฒนา ทั้งคน ระบบ และบริบทไปพร้อมๆ กัน ทำให้ผลที่ได้รับกลับมามีคุณค่าและความเลอค่ายิ่ง นั่นคือ ความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ


หากทุกคนตระหนักถึงปัญหาที่แท้จริงร่วมกัน และผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และนักวิชาการ ได้ศึกษาหาข้อมูลระบบการบริหารจัดการน้ำที่ดีที่สุดในโลก จากเมืองคุมะโมโตะ ประเทศญี่ปุ่นและประเทศอื่นๆ ที่มีความเป็นเลิศด้านการบริหารน้ำ เพื่อนำมาเป็นขององค์ความรู้ในกระบวนการสร้าง วางแผน และประเมินโครงการพัฒนาระบบน้ำและชลประทานของไทยในเบื้องต้น ก็นับเป็นการเริ่มต้นที่ดีไม่น้อย


ข้อดีของการมีกระบวนการดีเลิศ คือ ทำให้ได้สิ่งที่มีมาตรฐาน ปลอดภัย มั่นคง มีเสถียรภาพและความยั่งยืน รวมถึงเป็นการประหยัดต่อปัจจัยนำเข้าที่มีอย่างจำกัด โดยไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นใหม่จากศูนย์ เพราะกระบวนการดีเลิศช่วยลดความผิดพลาด ความสูญเสีย เนื่องจากได้รับการยอมรับและพิสูจน์มาแล้วในระดับหนึ่ง และเมื่อทำอย่างดีเลิศในทุกขั้นตอน ย่อมต้องให้ผลลัพธ์ในที่สุดที่ดีกว่าเดิม


ทั้งนี้ ประสิทธิการ จะเกิดขึ้นได้ จักต้องมีการศึกษาต่อเพื่อลงรายละเอียดและพัฒนาต่อยอดจากกระบวนการดีเลิศที่เคยทำหรือมีอยู่แล้วในโลก เพื่อจะได้ทราบว่า ยังมีปัจจัยอื่นใดที่เกี่ยวข้องอีกบ้าง การบริหารที่ดีควรมองปัจจัยที่เกี่ยวข้องทุกด้าน ทุกมิติอย่างครบถ้วน ครอบคลุม และชัดเจน เช่นเดียวกับยุทธศาสตร์การบริหาร 8E ที่ไม่ได้มองเพียงปัจจัยการนำเข้า หรือกระบวนการดำเนินงานเท่านั้น แต่ยังมีองค์ประกอบอื่นอีก ยุทธศาสตร์การบริหาร E ตัวถัดไปจะได้อธิบายในบทความตอนหน้า

 

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน
 
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
 
แหล่งที่มาของภาพ : http://blog.smartbear.com/wp-content/uploads/2014/07/DevOps-Gears-Team.jpg