มาตรการประกันการส่งออกของไทยควรเป็นอย่างไร
ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http:// www.kriengsak.com
การที่รัฐบาลลงนามบันทึกความร่วมมือรับประกันการส่งออกระหว่างธนาคารเพื่อการส่งออก และนำเข้าแห่งประเทศไทยกับ 10 สถาบันการเงิน โดยการประกันจะทำ 2 ประการ คือ ความเสี่ยงในเรื่องการจำหน่ายสินค้า แต่ไม่ได้รับการชำระเงิน โดยเอ็กซิมแบงก์ จะค้ำประกัน 85-90% และความเสี่ยงเกี่ยวกับการจำหน่ายสินค้าไม่ได้ เนื่องจาก ผู้ซื้อจากต่างประเทศไม่มีเงินชำระค่าสินค้า
นโยบายนี้ถือเป็นแนวคิดที่ดี ซึ่งอาจช่วยผลักดันให้ผู้ส่งออกกล้าส่งออกมากขึ้น เนื่องจาก เอ็กซิมแบงก์เข้ามาช่วยลดความเสี่ยงให้แก่ผู้ส่งออกให้ได้รับชำระเงินค่าสินค้า ลดความเสี่ยงให้ธนาคารของผู้ส่งออก และเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ส่งออกที่ต้องการขยายตลาดส่งออกใหม่ แต่ว่าสิ่งที่ต้องทำควบคู่ไปการประกันการส่งออก ซึ่งมีความสำคัญและยั่งยืนมากกว่านั่นคือ การหาตลาดใหม่, การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์, การปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์หรือการตั้งราคาให้เหมาะสมกับกำลังซื้อของผู้บริโภคในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ รวมทั้งการสร้างแบรนด์ของตัวเองมากกว่าการผลิตตามคำสั่ง เป็นต้น
อย่างไรก็ตามหากรัฐตั้งใจจริงที่จะช่วยผู้ส่งออกโดยการทำประกันเพื่อลดความเสี่ยงแล้ว ผมเสนอว่า
ปรับเปลี่ยนเกณฑ์การพิจารณาทำประกันให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ การประกันการส่งออกนี้มีมานานแล้ว มีผู้ส่งออกจำนวนหนึ่งซื้อประกันการส่งออกกับเอ็กซิมแบงก์อยู่ก่อนที่เศรษฐกิจโลกจะถดถอยมากขนาดนี้ จึงไม่ควรที่ขณะนี้ยังใช้เกณฑ์ในการพิจารณาการประกันการส่งออกเหมือนในสถานการณ์เศรษฐกิจปรกติ เนื่องจาก เศรษฐกิจโลกกำลังถดถอยมาก มีความเสี่ยงที่เอ็กซิมแบงก์จะต้องจ่ายสินไหมมากกว่าภาวะปรกติ เห็นได้จาก ครึ่งปีหลังของปี 2551 สินไหมทดแทนที่เอ็กซิมแบงก์ต้องจ่ายให้แก่ลูกค้าเพิ่มขึ้นเกือบ 100% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และตั้งแต่ต้นปี 2552 จำนวนเงินและจำนวนรายได้ที่เอ็กซิมแบงก์จ่ายค่าสินไหมทดแทนไปแล้ว รวมทั้งลูกค้าที่ยังอยู่ระหว่างยื่นขอชดเชยค่าสินไหมทดแทนเพิ่มขึ้นจากปีก่อนเท่าตัว
ต้องมีการจัดลำดับความสำคัญที่ดี พยายามเลือกอุตสาหกรรมที่มีการจ้างงานสูง หรือมีความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมอื่นๆ สูง และที่สำคัญ คือ ต้องไม่ละเลยที่จะให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ส่งออกขนาดกลางและขนาดย่อมที่ได้รับผลกระทบด้วย
เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบบริษัทผู้ขอทำประกันและบริษัทที่ทำการค้า การตรวจสอบเป็นเรื่องที่ธนาคารต้องทำอยู่แล้วก่อนการพิจารณาทำประกันหรือการปล่อยสินเชื่อ แต่ว่าภาวะเช่นนี้มีความเสี่ยงที่เอ็กซิมแบงก์ต้องจ่ายสินไหมสูงขึ้น ดังนั้นต้องตรวจสอบอย่างเข้มงวดขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงผู้ที่ตั้งใจทำประกันเพื่อจะขอสินไหมทดแทน เป้าหมายไม่ใช่เพื่อจำกัดการปล่อยสินเชื่อ แต่เพื่อให้สินเชื่อถูกใช้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อเอ็กซิมแบงก์จะไม่ต้องประสบปัญหาทางการเงิน แม้ว่าเพิ่งจะมีการเพิ่มทุนจากรัฐมาไม่นาน เนื่องจาก มีตัวอย่างให้เห็นมาแล้ว เช่น เกาหลีและญี่ปุ่นในช่วงที่เกิดวิกฤติ บริษัทที่รับประกันการส่งออกต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนสูงถึง 400% เป็นต้น
ข้อเสนอเหล่านี้ ผมหวังว่าจะเป็นประโยชน์ เพื่อมาตรการการประกันการส่งออกของรัฐจะไม่เป็นเพียงการแก้ปัญหาการส่งออกที่ปลายเหตุ