ยกเลิกกรอบความยั่งยืนทางการคลังอย่างไร เพื่อไม่เสียวินัยทางการคลัง
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http:// www.kriengsak.com
จากการที่รัฐบาลมีแนวคิดที่จะยกเลิกกรอบความยั่งยืนทางการคลัง เพื่อขอกู้เงินเพิ่ม เพื่อนำเงินมาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ
ผมมองว่าการยกเลิกกรอบความยั่งยืนทางการคลังชั่วคราวอาจไม่จำเป็นหากรัฐนำเงินทุนสำรอง ระหว่างประเทศมาใช้ แต่อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลยืนยันว่าจะต้องยกเลิกกรอบความยั่งยืนทางคลังชั่วคราว เพื่อนำเม็ดเงินมากระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากในขณะนี้ลูกสูบเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจอื่น ทั้งการส่งออก และการลงทุนต่างก็ชะงักหมดและลูกสูบเหล่านี้ไม่สามารถไปแตะต้องอะไรได้มากนัก เพราะปัจจัยหลักขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจโลก ซึ่งไทยที่เป็นประเทศเล็กไม่สามารถจัดการได้ ลูกสูบด้านการใช้จ่ายภาครัฐเป็นลูกสูบเดียวที่จะคอยประคองเศรษฐกิจได้
อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลจะมีความจำเป็นต้องยกเลิกกรอบความยั่งยืนทางการคลัง แต่เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ รัฐบาลควรสร้างกติกา ในการยกเลิกกรอบฯ ตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้
1) จุดประสงค์การกู้ ควรมุ่งไปอันดับแรกที่การช่วยเหลือคนจนที่เดือดร้อนจากเศรษฐกิจในระดับบุคคล
2) ประเภทของเงินกู้ ควรเป็นเงินกู้ระยะยาว ซึ่งมีระยะเวลาการคืนไม่ต่ำกว่า 1 ปี เพื่อไม่ให้กระทบต่อเสถียรภาพของฐานะการคลังของไทย
3) ระยะเวลาในการกู้ ควรหยุดกู้ทันทีและกลับมาใช้กรอบความยั่งยืนทางการคลังแบบเดิม เมื่อเศรษฐกิจกลับมาสู่ภาวะปกติแล้ว
ในด้านประเภทกู้เงินกู้ ผมเข้าใจว่ารัฐบาลคงจะใช้เงินกู้ระยะยาวอยู่แล้ว จึงไม่น่าห่วงแต่ผมเห็นว่ารัฐบาลควรปรับท่าทีในด้านจุดประสงค์การกู้และระยะเวลาการกู้
ด้านจุดประสงค์ของการกู้: ควรมีเงื่อนไขด้านการอัดฉีดเงินให้คนเดือนร้อนจากวิกฤติมากขึ้น นายกฯ ได้กล่าวในรายการ ldquo;เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์rdquo; ว่า รัฐบาลจะสามารถชำระหนี้ได้แน่นอน เพราะรัฐบาลกู้มาเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ซึ่งทำให้เกิดรายได้เพื่อนำมาจ่ายคืนได้ คำพูดนี้ สะท้อนว่า จุดประสงค์ของรัฐบาลในการกู้คือเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน โดยสาเหตุเพราะว่าโครงการเหล่านี้จะก่อรายได้ให้รัฐและรัฐจะนำเงินที่ได้มาใช้คืน
อย่างไรก็ตาม คำว่า ldquo;การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานrdquo; อาจไม่ได้นำไปสู่ ldquo;การแก้ไขปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจrdquo; เพราะผมเห็นว่า จุดประสงค์ของ ldquo;เงินกู้เพื่อแก้วิกฤติเศรษฐกิจ rdquo; ควรมีเพื่อการ ldquo;แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากวิกฤติเศรษฐกิจในปัจจุบันrdquo; ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจภาพรวมประคองไปได้ เพื่อรอฟื้นตัวเมื่อเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว
ผมเคยกล่าวถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 2 ว่าโครงการส่วนใหญ่เป็นการลงทุนขนาดใหญ่ ซึ่งจะเริ่มต้นโครงการได้ช้า เมื่อเริ่มต้นได้ช้า หมายความว่าเม็ดเงินจะไปกระตุ้นการจ้างงานได้ช้า ทำให้ไม่ทันการณ์ในการแก้ปัญหาความเดือดร้อนในระดับปัจเจกในระยะสั้น เพราะคนตกงานไปเรียบร้อยแล้ว
หากเปรียบเทียบวิกฤติเศรษฐกิจกับคนที่เป็นความดันสูงเกิน 200 การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเป็นสิ่งที่ดีต่อเศรษฐกิจในระยะยาว เปรียบเทียบได้กับการที่เมื่อคนที่เป็นโรคความดันสูงได้ออกกำลังกายแล้ว จะทำให้สุขภาพในระยะยาวดีขึ้น
อย่างไรก็ตามหากความดันสูงเกิน 200 แล้วมัวแต่ออกกำลังกาย ไม่กินยาเพื่อให้ความดันลดลงอย่างรวดเร็วแล้ว ผู้ป่วยอาจจะเส้นเลือดในสมองแตกตายเสียก่อน แม้ยานั้นอาจจะส่งผลข้างเคียงบ้างต้องยอมแลก เปรียบเหมือนเศรษฐกิจตอนนี้หากรัฐบาลมัวแต่ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน กว่าเงินจะไปถึงมือ ประชาชนเดือดร้อนหนักไปแล้ว
ดังนั้นรัฐบาลต้องใช้มาตรการอัดฉีดเงินเข้าไปในมือประชาชนให้เร็วที่สุด แม้ในระยะยาว อาจไม่ดีเท่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน
โครงการประเภทช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนในปัจจุบันเช่น เช็ค 2,000 บาท, เบี้ยยังชีพ 500 บาท และโครงการต้นกล้าอาชีพ ยังมีน้อย และมีสัดส่วนในงบประมาณไม่มาก
ผมจึงเสนอว่า หากรัฐบาลต้องการจะยกเลิกกรอบความยั่งยืนของการคลัง เพื่อ ldquo;แก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจrdquo; รัฐบาลสมควรปรับแผนการใช้จ่ายเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.4 ล้านล้านบาทใหม่ เพื่อให้บรรเทาความเดือดร้อนจริงๆ โดยให้มีสัดส่วนการใช้จ่ายในโครงการประเภทช่วยเหลือประชาชนที่เดือนร้อนจากวิกฤติเศรษฐกิจในปัจจุบันเพิ่มเป็น 30% จากเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งหมด 1.4 ล้านล้าน
ด้านระยะเวลาการยกเลิกกรอบฯ: ควรยืดหยุ่นตามการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่ากำหนดเวลา 3 ปี
จากข้อเสนอที่ว่ารัฐบาลควรยกเลิกกรอบความยั่นยืนทางการคลัง 3 ปี ในประเด็นที่ว่าการยกเลิกนี้ควรเป็นการยกเลิกชั่วคราวนั้นผมเห็นด้วยแน่นอน เพราะเมื่อเศรษฐกิจปกติรัฐบาลควรมีวินัยการคลังเช่นเดิม แต่สำหรับประเด็นที่ว่ารัฐบาลควรกลับไปใช้กรอบฯ เดิมเมื่อไรผมเห็นว่ารัฐบาลควรยืดหยุ่นตามสภาพเศรษฐกิจ
ผมเสนอว่า แทนที่จะกำหนดตายตัวว่ารัฐบาลจะยกเลิก 3 ปี รัฐบาลควรเป็นเงื่อนไขการยกเลิกให้ขึ้นอยู่กับอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลอาจกำหนดว่า จะกลับไปใช้กรอบความยั่งยืนทางการคลังเมื่อประเทศมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นบวกติดต่อกันเกิน 4 ไตรมาส (หรือ 1 ปี) แต่ไม่เกิน3 ปี
โดยเหตุผลคือ การกำหนดเงื่อนไขเช่นนี้จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศว่ารัฐบาลจะใส่เม็ดเงินเข้าไปในระบบอย่างต่อเนื่องจนกว่าเศรษฐกิจจะกลับสู่ภาวะปกติ เมื่อภาคเอกชนเชื่อมั่นแล้ว จะส่งผลทำให้กล้าที่จะลงทุน ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจมีการเติบโตมากขึ้นไปอีก
ผมหวังว่าการหากรัฐบาลจะยกเลิกกรอบความยั่งยืนทางการคลังจริง ๆ อยากให้คิดอย่างรอบคอบ และคำนึงถึงผลกระทบต่าง ๆ ที่จะตามมาในอนาคตด้วย ไม่อยากให้รัฐบาลแก้ปัญหาแบบขอไปที ผลักภาระการชำระหนี้ให้รัฐบาลสมัยต่อ ๆ ไป