เด็กไทยหน่ายหนังสือเรียนรู้ มุ่งรับสื่อบันเทิง



ที่มาของภาพ ที่มา http://www.herolategame.com/web/news/reading/reading01.jpg

หนังสือเป็นสื่อที่ก่อเกิดประโยชน์หลายด้านต่อเด็กและเยาวชนไทย ไม่ว่าจะเป็น "สมาธิ" และ "ความอดทน" จากการอ่านและคิดพิจารณาถ้อยคำที่ผู้เขียนต้องการ จะสื่อสารจนสรุปเป็นความเข้าใจในเรื่องนั้นได้ ก่อเกิด "จินตนาการ" และ "ความคิดสร้างสรรค์" ที่โลดแล่น และโดยเฉพาะการอ่านหนังสือประเภทส่งเสริมความรู้ จะยิ่งก่อเกิด "ปัญญา" อันเป็นความเข้าใจใหม่ในการนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้

เด็กที่รักการอ่านหนังสือประเภทส่งเสริมความรู้ จะรู้จักเลือกอ่านหนังสือ มีลักษณะเป็นคนช่างคิด มีความคิดที่ลึกซึ้ง สามารถใช้เหตุผลกับสิ่งที่เกิดขึ้น มีความสุขุมรอบคอบ ไม่หวั่นไหวตกใจกับเหตุการณ์เฉพาะหน้า สามารถควบคุมสติอารมณ์ รวมทั้งมีความอดทนในการคิดแก้ไขและเผชิญสถานการณ์ได้ดีกว่าเด็กที่ไม่อ่านหนังสือ หรือไม่อ่านหนังสือประเภทส่งเสริมความรู้

นอกจากนั้น มีข้อสังเกตเกี่ยวกับการอ่านในต่างประเทศคือ ประชาชนในประเทศที่พัฒนาแล้วจะให้ความสำคัญกับการอ่านหนังสือมากกว่าในประเทศที่กำลังพัฒนา ประเทศที่มีอัตราประชาชนรู้หนังสือมาก จะเป็นประเทศที่สามารถพัฒนาได้เร็วกว่าประเทศที่ประชากรรู้หนังสือน้อยและไม่ได้เป็นผู้รักการอ่าน ในสังคมตะวันตกผู้คนส่วนใหญ่จะอ่านหนังสือในระหว่างที่นั่งรถประจำทาง รถไฟ แต่ภาพเช่นนี้พบเห็นน้อยมากในประเทศไทย ทั้งนี้อาจเนื่องจากสังคมไทยมีวัฒนธรรมการฟังมากกว่าการอ่าน ทำให้หลายคนอาจไม่เห็นคุณค่าการอ่าน ไม่นิยมอ่านหนังสือที่มีประโยชน์ที่นอกเหนือจากตำราเรียน โดยอาจมีมุมมองว่า การอ่านหนังสือทำให้ต้องใช้เวลามาก จึงมักมีข้ออ้างว่าไม่มีเวลาอ่าน หรือรอรับจากสื่อโทรทัศน์

เด็กไทยจำนวนมากยังอ่านหนังสือเพื่อคลายเครียดและบันเทิง

แม้ว่าปัจจุบันความตื่นตัวในการอ่านหนังสือของประชาชนไทยมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เห็นได้จากงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติเมื่อช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน พ.ศ.2551 ที่ผ่าน ยอดผู้ร่วมงานและยอดขายหนังสือเติบโตเฉลี่ย 6-7% เมื่อเทียบกับการจัดงานในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา แต่ประเภทหนังสือที่มียอดขายสูงสุด คือ หนังสือบันเทิงสำหรับวัยรุ่น เช่น นิยาย การ์ตูน ฯลฯ ซึ่งอาจไม่ส่งเสริมด้านการพัฒนาความคิดและความรู้ของเด็กได้มากเท่าที่ควร จึงวิเคราะห์ได้ว่าปัญหาการอ่านของเด็กไทยจึงไม่ใช่การไม่อ่านหนังสือ แต่เป็นการอ่านหนังสือที่ไม่ช่วยพัฒนาทักษะความรู้ ทั้งนี้ผมเห็นว่าการอ่านหนังสือที่ให้ความบันเทิงไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่ในชีวิตของคนเรานั้น ควรอ่านหนังสือประเภทอื่นควบคู่กัน กล่าวคือ การอ่านหนังสือที่ตนชอบ และการอ่านหนังสือเพื่อการพัฒนาตนเอง โดยช่วงวัยเด็กการอ่านหนังสือประเภทบันเทิง ควรมีสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เด็กรักการอ่านและพัฒนาไปสู่การอ่านหนังสือที่เสริมสร้างทักษะความรู้

สภาพปัญหาดังกล่าวส่วนหนึ่งมาจากผู้เกี่ยวข้องไม่ได้ตั้งเป้าหมายในการส่งเสริมการอ่าน ในประเด็นที่เฉพาะเจาะว่าต้องการส่งเสริมการอ่านหนังสือประเภทใด ควรอ่านอะไร เพื่อประโยชน์อะไร ทำให้เด็กไทยส่วนหนึ่งหันไปนิยมอ่านหนังสือประเภท นิยาย บันเทิง การ์ตูนมากกว่าหนังสือส่งเสริมความรู้ อีกทั้งภาครัฐขาดการส่งเสริมการผลิตหนังสือประเภทส่งเสริมความรู้มากเพียงพอ ทำให้ธุรกิจหนังสือหันมาผลิตหนังสือที่ตอบสนองความต้องการด้านความบันเทิงของเด็กมากกว่าหนังสือที่ส่งเสริมพัฒนาการด้านการเรียนรู้

เด็กไทยส่วนใหญ่ใช้อินเทอร์เน็ตและสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อบันเทิง

ปัจจุบันเด็กไทยสนใจและเข้าถึงสื่อมัลติมีเดีย ซึ่งเป็นภาพเคลื่อนไหวที่สามารถเร้าความสนใจของเด็กได้มากกว่าการอ่านจากหนังสือ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ เด็กไทยส่วนมากไม่ได้ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการเรียนรู้ ดังเห็นได้จากข้อมูลจากสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศภาครัฐ (สบทร.) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้สำรวจการเปิดดูเว็บไซต์ประเภทต่าง ๆ ของประชาชน พบว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม-กรกฎาคม พ.ศ.2551 เว็บไซต์ประเภทบันเทิงและเกม มีการเปิดใช้มากที่สุด โดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 38 และร้อยละ 14 ตามลำดับ ขณะที่เว็บไซต์ประเภทธุรกิจ ข่าว บุคคล-สังคม คอมพิวเตอร์ หน่วยงานราชการ และการศึกษา เปิดใช้ไม่ถึงร้อยละ 10 ซึ่งมีลักษณะเดียวกับปีที่ผ่านมา

ดังนั้น สถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา สื่อมวลชนและชุมชน ควรให้ความสำคัญในการพัฒนาเด็กและเยาวชน ให้รักและใช้เวลาอ่านหนังสือเชิงสร้างสรรค์ความรู้อย่างแพร่หลาย อีกทั้งภาครัฐควรสนับสนุนผู้ผลิตและพัฒนาสื่อหนังสือเชิงความรู้ ให้มีคุณภาพ มีความน่าสนใจ น่าดึงดูดใจ และมีราคาไม่แพงมากนัก เพื่อให้เด็กและเยาวชนไทย มีโอกาสเข้าถึงและหันมาอ่านหนังสือที่มีประโยชน์มากขึ้น รวมถึงควรมีการแนะแนววิธีการเลือกหนังสือที่จะอ่าน วิธีและทักษะการอ่านหนังสือที่มีคุณภาพที่จะมีประโยชน์ในการพัฒนาความรู้ให้เด็กและเยาวชนไทย

* นำมาจากหนังสือพิมพ์สยามรัฐ (ศึกษาทรรศน์)วันพฤหัสบดีที่ 16 ตุลาคม 2551

admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2008-10-21