การศึกษาเพื่อผู้สูงอายุ

โครงสร้างประชากรไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุ โดยอัตราส่วนประชากรผู้สูงอายุจะเพิ่มจากร้อยละ 12 นปี พ.ศ.2551 เป็นร้อยละ 21.5 ในปี พ.ศ.2568 และด้วยการแพทย์ก้าวหน้า ส่งผลให้ผู้คนมีอายุเฉลี่ยยืนยาวขึ้น 8.8 ปี ประกอบกับ อัตราส่วนประชากรวัยเด็กมีแนวโน้มลดลง โดยอัตราการเจริญพันธุ์ที่เคยสูงถึง 6-7 คน เหลือเพียง 1.7 คน (2548) ซึ่งต่ำกว่าระดับทดแทน
หลายประเทศที่มีแนวโน้มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเช่นเดียวกับไทย ซึ่งต่างพยายามกำหนดนโยบายและมาตรการต่าง ๆ สำหรับผู้สูงอายุ ทั้งด้านสวัสดิการ การสังคมสงเคราะห์ การสาธารณสุข การบริการสาธารณะและการศึกษา บทความนี้จะนำเสนอเฉพาะนโยบายด้านการศึกษาสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า ชะลอภาวะสมองเสื่อม และป้องกันโรคซึมเศร้า โดยมีตัวอย่างบางประเทศ ดังนี้
เกาหลีใต้ กระทรวงสารสนเทศและการสื่อสาร (Ministry of Information and Communication: MIC) ร่วมกับสถาบันส่งเสริมการใช้ไอซีทีของเกาหลี (KADO) จัดโครงการการศึกษาไอซีทีเพื่อผู้สูงอายุ ที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป (ICT Education for the Elderly) โดยร่วมมือกับภาคเอกชน วิทยาลัย ศูนย์สวัสดิการสังคม และศูนย์สวัสดิการผู้ที่อยู่ในวัยเกษียณ เพื่อฝึกอบรมทักษะไอซีทีแก่ผู้สูงอายุ เป็นเวลา 20-30 ชั่วโมง
ไต้หวัน เมื่อต้นปี ค.ศ.2008 กระทรวงศึกษาธิการไต้หวัน ได้ประกาศเพิ่มงบประมาณจำนวน 46.54 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน (NT$) เพื่อสนับสนุนการศึกษาสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า จาก ค.ศ.2007 และก่อนหน้านี้ กระทรวงศึกษาธิการก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต (life-long learning centers) และศูนย์การเรียนรู้เพื่อผู้สูงอายุ (grey-haired learning centers) ในมณฑลต่าง ๆ
สหรัฐอเมริกา ผู้สูงอายุในสหรัฐฯ ให้ความสนใจการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วสหรัฐฯ ได้อนุญาตให้ประชาชนที่เกษียณอายุเข้าเรียนในหลักสูตรสำหรับผู้สูงอายุ โดยเสียค่าใช้จ่ายน้อยหรือไม่เสียค่าใช้จ่ายเลย นอกจากนี้ ภายในวิทยาลัยยังมีที่พักพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกที่เสียค่าใช้จ่ายน้อยเช่นกัน
ข้างต้นแสดงให้เห็นว่า หลายประเทศให้ความสำคัญกับการเรียนรู้สำหรับผู้สูงอายุ ไทยก็เช่นกันต้องเร่งส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับผู้สูงอายุ โดยอาจให้ กทม. เป็นต้นแบบการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาด้านหลักสูตร กิจกรรมฝึกอบรม และโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ในชุมชนทั่ว กทม. เช่น สนับสนุนให้มหาวิทยาลัยเปิดหลักสูตรสำหรับผู้สูงอายุ สถาบันอาชีวศึกษาจัดโครงการและกิจกรรมเรียนรู้สำหรับผู้สูงอายุ เช่น สอนอินเทอร์เน็ต ภาษาอังกฤษ ทักษะอาชีพตามความสนใจ ฯลฯ รวมถึง ให้ผู้สูงวัยมีส่วนใช้ประสบการณ์และใช้เวลาว่างในการดูแลและพัฒนาสังคม เช่น การช่วยดูแลเด็กเล็กด้อยโอกาสในชุมชน การปันประสบการณ์และความรู้เป็นวิทยาทาน ฯลฯ เพื่อส่งเสริมผู้สูงอายุใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า ลดภาวะโรคซึมเศร้า และมีความสุข
admin
เผยแพร่: 
หนังสือพิมพ์บางกอกทูเดย์
เมื่อ: 
2008-07-18