ครอบครัว กลไกหลักแก้เด็กติดเกมและโทรทัศน์
สหภาพครูแห่งชาติ (National Union of Teachers: NUT) แห่งประเทศอังกฤษและเวลล์ ได้จัดงานสัมมนาประจำปี เมื่อมีนาคม ค.ศ.2008 (NUT Annual Conference in Manchester 21-25 March 2008) ในครั้งนี้ทางสหภาพครูฯ ได้นำเสนอผลงานวิจัยที่มอบหมายให้ ศ.จอห์น แมคเบธ (Prof. John MacBeath) มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เป็นผู้วิจัย โดยใช้ระยะเวลากว่า 5 ปี ในการสัมภาษณ์ครู ผู้ปกครอง และนักเรียน กว่า 100 คน ซึ่งผลการวิจัย พบว่า การตามใจและไม่ควบคุมการเล่นเกมและดูโทรทัศน์ของพ่อแม่ เป็นตัวการบ่มเพาะพฤติกรรมไม่เหมาะสมในเด็กในห้องเรียน ดังนี้
พ่อแม่ที่ไม่ห้ามปรามเด็กหรือล้มเลิกกฎ เป็นปัจจัยเสริมพฤติกรรมไม่พึงประสงค์
รายงานวิจัยกล่าวถึง การที่ผู้ปกครองไม่ห้ามปรามเมื่อเด็กต้องการเล่นเกมหรือดูโทรทัศน์ในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม อีกทั้ง การล้มกฎระเบียบที่มีไว้เพื่อควบคุมพฤติกรรมการเล่นเกมและดูโทรทัศน์ เพียงเพื่อต้องการให้ลูกสงบและอยู่บ้าน เป็นปัจจัยทำให้เด็กเสียนิสัย และบ่มเพาะพฤติกรรมที่ไม่ดี ซึ่งได้รับจากรายการโทรทัศน์ บางครอบครัวไม่กล้าพูดคำว่า ldquo;ไม่rdquo; เมื่อเด็กเรียกร้องขอดูโทรทัศน์และเล่นเกมในห้องนอน หลายครอบครัวยอมตามใจเพราะต้องการสงบศึกในบ้าน เด็กจึงสามารถนั่งเล่นเกมหรือดูโทรทัศน์ได้วันละหลายชั่วโมง
ดร.ทันยา ไบรอน (Dr.Tanya Byron) นักจิตวิทยาที่เชี่ยวเกี่ยวกับผลกระทบของสื่อโทรทัศน์ (TV psychologist) กล่าวว่า ภาพยนตร์และเกมจะส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของเด็กในระยะยาว ศ.แมคเบธ ผู้วิจัยกล่าวว่า หากปล่อยปัญหานี้ผ่านไป เมื่อเด็กเข้าสู่ชั้นมัธยมศึกษาจะยิ่งยากต่อการดัดนิสัย เพราะเด็กจะก้าวร้าวมากขึ้นและว่านอนสอนง่ายน้อยลง สทีฟ ซินนอต (Steve Sinnott) เลขาธิการสหภาพครูแห่งชาติ แสดงความคิดว่า ปัจจุบันหลายครอบครัวใช้วิธีการปล่อยเลยตามเลย ปัญหาจึงสะสมมาเรื่อย ๆ ในทางตรงข้าม หากเด็กได้รับการอบรมที่ดีตั้งแต่อยู่ในครอบครัว จะไม่มีพฤติกรรมก้าวร้าว ซึ่งเห็นได้ชัดจากพฤติกรรมในห้องเรียน ซินนอตเสนอว่า โรงเรียนควรทำความเข้าใจกับผู้ปกครองถึงผลกระทบของการปล่อยให้เด็กอยู่กับเกมและโทรทัศน์ และเห็นว่ารัฐควรเข้ามาช่วยเหลือ
การช่วยเหลือจากรัฐบาลอังกฤษ
โฆษกกระทรวงเยาวชน โรงเรียน และครอบครัว (Department for Children, Schools and Families: DCSF) ของอังกฤษกล่าวว่า งานวิจัยของ ศ.แมคเบธ ไม่เพียงกระตุ้นให้ครอบครัวตระหนักและหาทางรับมือกับปัญหาเท่านั้น แต่ยังทำให้รัฐบาลได้รู้ว่า พ่อแม่ผู้ปกครองต้องการช่วยเหลือ เพราะไม่เพียงต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และทำงานหาเลี้ยงชีพเท่านั้น ยังต้องรับหน้าที่ดูแลลูกให้ได้เรียนและเล่นในสถานที่ปลอดภัย ซึ่งครอบครัวส่วนใหญ่ไม่มีความสมดุล ต้องทำงานนอกบ้านและมีเวลาอยู่กับลูกน้อยมาก โอกาสในการปลูกฝังค่านิยมที่เหมาะสมจึงจำกัด เกมและโทรทัศน์กลายเป็นเพื่อนสนิทของลูก โดยเฉพาะผู้ปกครองที่ไม่มีเพื่อนบ้านหรือเครือข่ายคอยให้ความช่วยเหลือจะประสบปัญหามาก แนวทางช่วยเหลือของรัฐบาลอังกฤษคือ ให้ผู้ปกครองนำเด็กไปสถานรับเลี้ยงเด็กเมื่อมีอายุได้ 3 ขวบ เพื่อเด็กจะได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม และช่วยให้พ่อแม่ผู้ออกไปทำงานนอกบ้านได้อย่างสบายใจ
ปัญหาการเล่นเกมและดูโทรทัศน์ของเด็กและเยาวชนไทย
ปัจจุบัน พ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ให้เวลาในการทำงานมากกว่าการอบรมสั่งสอนเด็ก และมอบภาระการอบรมบ่มนิสัยเด็กให้โรงเรียน ซึ่งแท้จริงแล้ว ลักษณะนิสัยของเด็กมีพื้นฐานมาจากครอบครัว เด็กที่ขาดการอบรมสั่งสอนที่ดีจากครอบครัวมักมีพฤติกรรมที่เหมาะสม ซึ่งเห็นได้ชัดเจนที่โรงเรียน
โดยเฉพาะพ่อแม่ผู้ปกครองยุคปัจจุบัน ให้ความสำคัญกับเรื่องปากท้องเป็นอันดับแรก ครอบครัวมีกิจกรรมที่สนุกสนานทำร่วมกันน้อยลง และปล่อยให้เกมและโทรทัศน์เป็นเพื่อนเด็ก สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทำดัชนีครอบครัวอุ่นช่วง พ.ศ.2544-2549 เพื่อวัดความผูกพันกันทางอารมณ์และจิตใจ การดำเนินชีวิตร่วมกันในบรรยากาศที่สงบสุข ทำบทบาทหน้าที่ได้อย่างเหมาะสม และมีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน พบว่า ดัชนีครอบครัวอบอุ่นในปี พ.ศ.2549 มีร้อยละ 58.75 ลดลงจาก พ.ศ.2548 และ พ.ศ.2547 ซึ่งมีร้อยละ 59.99 ร้อยละ 63.42 ตามลำดับ
เมื่อเด็กไม่ได้รับความอบอุ่นจากครอบครัวได้จะเกิดความเหงา เบื่อหน่าย และหันเข้าหาเกมและโทรทัศน์ ซึ่งให้ความสนุกและตื่นเต้นมากกว่า สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) จัดสัมมนาผลงานวิจัยเรื่อง ldquo;ภาระงานของผู้เรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานrdquo; โดย รศ.ดร.ศักดิ์ชัย นิรัญทวี คณะศึกษาศาสตร์ มศว. สอบถามนักเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานจำนวน 12,158 คน ทั่วประเทศ พบว่า ใน 1 สัปดาห์ ผู้เรียนใช้เวลาในการดูโทรทัศน์ มากกว่าทำการบ้าน ทำรายงาน โครงงาน เตรียมตัวสอบแข่งขัน และเรียนพิเศษ แสดงให้เห็นว่าโทรทัศน์มีบทบาทต่อนักเรียนค่อนข้างมาก หากโทรทัศน์นำเสนอสิ่งที่ไม่เหมาะสม ย่อมส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน ผลการสำรวจเรื่อง ldquo;อิทธิพลของการชมรายการโทรทัศน์กับพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ในกลุ่มคนดูrdquo; กรณีศึกษาเด็กเยาวชนและประชาชนอายุ 2-6 ขวบ 7-12 ปี 13-19 ปี และ 20 ปีขึ้นไป ในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ จำนวน 2,159 ตัวอย่าง ระหว่าง 24-28 เมษายน พ.ศ.2551 พบว่า เด็กและเยาวชนอายุ 2-19 ปี ชอบฉากข่มขืนมากที่สุด และเห็นว่าการข่มขืนเป็นเรื่องธรรมดา
นอกจากเด็กติดโทรทัศน์ ยังติดเกมคอมพิวเตอร์อีกด้วย เพราะให้ความสนุกและตื่นเต้นเช่นเดียวกัน ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ทำวิจัยเรื่องldquo;ปัญหาคุกคามเด็กและวัยรุ่นในร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่rdquo;กรณีศึกษาเด็กและวัยรุ่นอายุ 7-19 ปี ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 2,276 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 22-23 เมษายน พ.ศ.2551 พบว่าเด็กและวัยรุ่นส่วนใหญ่หรือร้อยละ 67.8 เล่นอินเทอร์เน็ตเป็นประจำทุกสัปดาห์ และมีร้อยละ 25 ระบุว่าเล่นเพิ่มขึ้นในช่วงปิดเทอม ใช้เวลาในการเล่นเฉลี่ยอยู่ที่ 2 ชั่วโมง เกมส่วนใหญ่ร้อยละ 88 เป็นเกมต่อสู้ รวมทั้ง ในร้านอินเทอร์เน็ตมีการใช้ความรุนแรง อาทิ พูดจาหยาบคาย โวยวาย ด่าทอ และทำร้ายร่างกายอีกด้วย ซึ่งแน่นอนว่าเด็กจะซึมซับเอาพฤติกรรมดังกล่าวมาใช้ที่บ้านและโรงเรียน
การแก้ปัญหาการติดเกมและโทรทัศน์ของเด็กและเยาวชนไทย ต้องเริ่มจากสถาบันครอบครัว ซึ่งต้องให้เวลากับบุตรหลานมากขึ้น ประการสำคัญ ผู้ปกครองควรตั้งกฎควบคุมการเล่นเกมและดูโทรทัศน์ กล้าพูดคำว่า ldquo;ไม่rdquo; เมื่อเด็กต้องการทำนอกกฎ และสนใจการใช้เวลาว่างของเด็กมากขึ้น รัฐบาลควรจัดให้มีสถานดูแลเด็กเกิดขึ้นในทุกชุมชน ทุกหมู่บ้าน รวมถึงในที่ทำงาน เพื่อให้ผู้ปกครองสามารถทำงานด้วยความมั่นใจได้ว่าเด็กได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม มีมาตรการตรวจสอบเกมทุกประเภท ที่มีวางจำหน่ายหรือให้บริการในร้านอินเทอร์เน็ต เพื่อกวาดล้างเกมที่ก่อให้เกิดความรุนแรงและอาชญากรรมทางเพศ และบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังสำหรับผู้ฝ่าฝืน ในส่วนของสถานศึกษาควรร่วมกับหน่วยงานภายนอก เพื่อวางแผนจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ในช่วงปิดเทอม เพื่อดึงเด็กออกจากเกมและโทรทัศน์
* นำมาจากหนังสือพิมพ์โลกวันนี้ ฉบับวันอังคารที่15 กรกฎาคม 2551
Tags:
เผยแพร่:
0
เมื่อ:
2008-07-16