พร้อมรุกและรับ สู่ ?สังคมผู้สูงอายุ?
อัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ในอีก 18 ปีข้างหน้า คือช่วง พ.ศ.2568-2576 และระยะเวลาที่ประชากรสูงอายุจะเพิ่มเป็นเท่าตัวจะสั้นลงเรื่อย ๆ ที่ผ่านมาประชากรสูงอายุของประเทศไทยเพิ่มจากร้อยละ 5.0 ในปี พ.ศ.2493 เป็นร้อยละ 10.1 ในปี พ.ศ.2543 เป็นการเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า และจะมีสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดย พ.ศ.2558 จะมีสัดส่วนผู้สูงอายุร้อยละ 15.6 พ.ศ. 2568 มีร้อยละ 21.5 และ พ.ศ.2576 มีร้อยละ 25 ประกอบกับ การสาธารณสุขที่พัฒนาก้าวหน้าไปมาก ส่งผลให้ผู้คนมีอายุเฉลี่ยยืนยาวขึ้น 8.8 ปี โดยผู้ชายมีอายุเฉลี่ยที่ 71.8 ปี และผู้หญิงมีอายุเฉลี่ยที่ 80.6 ปี
ขณะที่สัดส่วนประชากรวัยเด็ก มีแนวโน้มลดลง อันเป็นผลมาจากนโยบายการวางแผนครอบครัวของรัฐบาลเมื่อ พ.ศ.2513 ดังนั้น ตลอดระยะเวลา 30 กว่าปีที่ผ่านมา อัตราการเจริญพันธุ์จากที่เคยสูงถึง 6-7 คน ลดลงเหลือเพียง 1.7 คน (2548) ซึ่งเป็นภาวะเจริญพันธุ์ที่ต่ำกว่าระดับทดแทน และมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ในอีก 12 ปีข้างหน้า หรือ พ.ศ.2563 จำนวนประชากรวัยเด็กจะมีพอ ๆ กับจำนวนประชากรสูงอายุ แต่หลังจากนั้น ประชากรสูงอายุจะมากกว่าประชากรวัยเด็ก ส่งผลให้ไทยก้าวสู่การเป็น ldquo;สังคมผู้สูงอายุrdquo; อย่างเต็มรูปแบบ นั่นรวมถึง อัตราการพึ่งพิงของผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับประชากรวัยแรงงาน ขณะที่วัยแรงงานมีแนวโน้มลดลง เมื่อปี พ.ศ.2549 ผู้สูงอายุ 1 มีคนวัยแรงงานดูแลทั้งหมด 6.4 คน แต่อีก 27 ปี นับจากปี พ.ศ.2551 ไป ผู้สูงอายุ 1 คน จะมีคนวัยแรงงานที่ช่วยดูแลเพียง 2 คนเท่านั้น และลดลงเรื่อย ๆ ในอนาคต
ดังนั้น ประเทศไทยควรวางแผนรองรับการเกิดขึ้นของสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งแผนรองรับต้องสอดรับกับการดำรงชีวิตในภาพรวมของผู้สูงอายุ อาทิ สุขภาพ บริการสาธารณะ ความปลอดภัย สวัสดิการสังคม ในต่างประเทศที่กำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุเช่นเดียวกับประเทศไทย ได้วางนโยบายสำคัญสำหรับผู้สูงอายุไว้ดังนี้
ฮ่องกง ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ค.ศ.2000 กระทรวงสวัสดิการสังคม (Social Welfare Department) ได้สนับสนุนให้มีการบริการผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ การบริการนั้นครอบคลุมเรื่องของที่บ้านพักเพื่อผู้สูงอายุ การดูแลพยาบาล ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุรายวัน มีศูนย์ดูแลผู้สูงอายุประจำชุมชน รวมถึง การเข้าไปดูแลถึงที่บ้าน ซึ่งการให้บริการจะมีบุคลากรที่เชี่ยวชาญในการดูแลผู้สูงอายุหลายสาขาที่ได้รับการฝึกอบรมมาเป็นอย่างดี อาทิ นักสังคมสงเคราะห์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด เมื่อเดือนมกราคม ค.ศ.2007 บุคลการเหล่านี้มีจำนวนทั้งสิ้น 1,903 คน
รูปแบบการให้บริการบางส่วน ได้แก่ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุละแวกบ้าน (Neighborhood Elderly Centre: NEC) เป็นรูปแบบการให้บริการในชุมชนในระดับเพื่อนบ้าน บริการให้บริการมีหลายด้าน อาทิ ให้คำปรึกษาและตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพ มีกิจกรรมฝึกอบรม มีบริการจัดหาคนดูแลผู้สูงอายุ รวมถึงการให้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อผู้สูงอายุ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุรายวัย (Day Care Centre for the Elderly) เป็นศูนย์ที่ให้บริการในระหว่างวันสำหรับผู้สูงอายุที่ร่างกายอ่อนแอและช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เน้นที่การให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกาย มีพยาบาลและบุคลากรที่เชี่ยวชาญให้ความช่วยเหลือ นอกจากนี้ยังให้บริการฝึกอบรม ให้คำปรึกษา อาหาร และให้บริการรถรับส่ง บ้านพักคนชรา (Home for the Aged) ให้บริการที่พัก อาหาร เสื้อผ้า สำหรับผู้สูงอายุที่ไม่สามารถอาศัยอยู่ในชุมชนได้ Nursing Home ให้บริการที่พักและดูแลเป็นรายบุคคล เพื่อการรักษาพยาบาลผู้สูงอายุที่เจ็บป่วย และไม่สามารถให้การดูแลที่บ้านได้ Residential Respite Service ให้บริการที่พักเพื่อดูแลผู้สูงอายุชั่วคราว เพื่อลดภาระสมาชิกในครอบครัวที่ทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุ ฯลฯ
ออสเตรเลีย การให้บริการผู้สูงอายุในออสเตรเลีย ส่วนใหญ่ภาครัฐเป็นผู้ผลักดัน ซึ่งกระจายอำนาจการจัดการไปยังมลรัฐ และในเมืองต่าง ๆ พร้อมกันนี้ ยังมีโครงการและการสนับสนุนผู้สูงอายุที่ได้รับความร่วมมือจากชุมชน อาสาสมัคร ภาคเอกชนที่แสวงหาผลกำไร และภาคเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกำไร โดยบทบาทรัฐบาลในการให้บริการผู้สูงอายุ ได้แก่ ให้เงินบำนาญ บ้านพักผู้สูงอายุ ให้บริการยารักษาโรค การช่วยเหลือฉุกเฉิน การให้บริการผู้สูงอายุที่ช่วยตัวเองไม่ได้ ส่งเสริมให้สถานพยาบาล บ้าน และชุมชนจัดจัดโครงการดูแลผู้สูงอายุ บทบาทมลรัฐและเมืองต่าง ๆ ให้บริการคำปรึกษาด้านสุขภาพทางโทรศัพท์ บ้านพักคนชรา ให้บริการผู้ดูแลผู้สูงอายุ ช่วยเหลือผู้สูงอายุที่วิกลจริต ช่วยเหลือในการเดินทาง และให้บัตรผู้สูงอายุที่ใช้เป็นส่วนลดเมื่อซื้อสินค้าและบริการ บทบาทของภาคประชาสังคมและเอกชน บ้านพักคนชราและองค์การเพื่อดูแลผู้สูงอายุหลายแห่ง ดำเนินการโดยชุมชนและผู้ที่มีใจกุศล ซึ่งใช้ทรัพยากรและงบประมาณของตัวเอง หากคิดเป็นสัดส่วนภาคประชาสังคมให้บริการสวัสดิการผู้สูงอายุประมาณร้อยละ 20 ส่วนภาคเอกชน ให้บริการบ้านพักและบริการด้านสุขภาพ
จากข้างต้นชี้นัยให้เห็นว่า ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกให้ความสำคัญกับการจัดสวัสดิการเพื่อผู้สูงอายุมากขึ้น ในประเทศไทยก็เช่นกัน จำเป็นต้องดำเนินการเตรียมความพร้อมตั้งแต่วันนี้ โดยอาจให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองต้นแบบพัฒนาระบบเชิงรับและเชิงรุกสำหรับการก้าวสู่ ldquo;สังคมผู้สูงอายุrdquo; โดยจัดบริการสาธารณสุขเฉพาะทางสำหรับผู้สูงอายุขาดแคลน โรคเฉพาะผู้สูงอายุ 3 อันดับแรกที่มีแนวโน้มสูงขึ้น คือ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคต่อมไร้ท่อ โรคระบบกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูกและข้อ และโรคสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ ปี พ.ศ. 2563 กรุงเทพฯ จะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า โรคเหล่านี้ล้วนต้องการแพทย์เฉพาะทางผู้สูงอายุ บริการสาธารณะ ที่อยู่อาศัย และผู้ดูแลผู้สูงอายุที่เหมาะสมและเพียงพอ อาทิ ทางเท้า ลิฟต์ รถโดยสาร รถไฟฟ้า ป้ายชี้ทาง และห้องน้ำสาธารณะ ฯลฯ สำหรับผู้สูงอายุ จัดหาคอนโดฯ เฉพาะสำหรับผู้สูงอายุ ปลอดภัย สะดวก ใกล้แหล่งบริการสาธารณสุข เรียกบริการฉุกเฉินได้ อาจมีกิจกรรมสำหรับผู้สูงอายุ ระบบการควบคุมโรคต่าง ๆ เป็นต้น ให้ได้รับการอำนวยความสะดวก จัดหาผู้ดูแลให้ได้ประมาณ 40,000 คนจึงจะเพียงพอที่จะรองรับจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น อายุยาวขึ้น จะมีจำนวนผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้มากขึ้น ป้องกันอาชญากรรมในกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุเป็นเป้าถูกทำร้ายได้ ป้องกันตัวได้จำกัด ดังนั้น ต้องมีระบบดูแลอาชญากรรม และพัฒนาทางเดินปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุ พัฒนาระบบออมเงินและระบบเงินเลี้ยงชีพสำหรับผู้สูงอายุ พ.ศ.2563 จะมีจำนวนผู้สูงอายุยากจนในกรุงเทพฯ มากขึ้นกว่าเท่าตัว การจัดสรรเงินเลี้ยงชีพอาจไม่เพียงพอ ดังนั้นต้องพัฒนาระบบออมเงินเพื่อใช้ยามสูงวัยไว้ตั้งแต่กลุ่มวัยแรงงาน จัดกิจกรรมพัฒนาสมองสำหรับผู้สูงอายุ โดยอาจจัดกิจกรรมเรียนรู้ การให้ผู้สูงอายุได้ใช้ศักยภาพความสามารถในการพัฒนาสังคม การดูแลเด็กและเยาวชน การใช้สมองและถ่ายทอดประสบการณ์จากผู้สูงอายุสู่คนรุ่นใหม่ อันจะส่งผลให้ผู้สูงอายุรู้สึกตนเองมีคุณค่า มีผลต่อการพัฒนาสุขภาพผู้สูงอายุ ลดภาวะซึมเศร้า และโรคสมองเสื่อมได้
ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มประชากรที่รัฐบาลในหลายประเทศให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เนื่องจากในอนาคต ประชากรสูงอายุจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น ดังนั้นการจัดสวัสดิการรองรับผู้สูงอายุในด้านสุขภาพ บริการสาธารณะ ความปลอดภัย สวัสดิการสังคม มีความจำเป็นและต้องจัดอย่างเพียงพอรองรับความต้องการผู้สูงอายุได้อย่างทั่วถึง
Catagories:
Tags:
เผยแพร่:
0
เมื่อ:
2008-07-02
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
เมื่อธรรมาภิบาลสั่นคลอน: บทเรียนและทางออกสำหรับตลาดทุนไทย
Total views: อ่าน 36 ครั้ง
แชร์ไอเดีย นโยบายการจัดการยาบ้าออกจากสังคมไทย
Total views: อ่าน 63 ครั้ง
ค่าแรงขั้นต่ำ: ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการบริหารจัดการ
Total views: อ่าน 247 ครั้ง
การหมิ่นประมาท คือ ฆาตกรรมชื่อเสียง
Total views: อ่าน 224 ครั้ง
Passive Outcome
Total views: อ่าน 284 ครั้ง