ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจไทย

บทคัดย่อ
จากการสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลหลักฐานต่าง ๆ ของประเทศไทยเปรียบเทียบกับอีกหลายประเทศทั่วโลก พบว่า สิ่งที่เป็นอุปสรรคมากที่สุดในการพัฒนาเศรษฐกิจไทย ได้แก่การขาดแรงงานที่มีทักษะ การขาดแคลนนวัตกรรม ระดับของความเป็นเมืองต่ำ สัดส่วนของแรงงานนอกระบบขนาดใหญ่ และต้นทุนทางการเงินสูง


ทั้งนี้การขาดแรงงานที่มีทักษะและการขาดแคลนนวัตกรรมเป็นอุปสรรคต่อการยกระดับการส่งออกไปสู่สินค้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงสินค้าที่ผลิตมีมูลค่าเพิ่มไม่มากนัก และทำให้ผลิตภาพของการผลิตต่ำ ระดับของความเป็นเมืองต่ำ ทำให้ไม่เกิดการประหยัดทางขนาด เป็นอุปสรรคในการกระจายความรู้และนวัตกรรม และยังส่งผลกระทบต่อเรื่องความไม่เท่าเทียมกันของประเทศ เนื่องจากมีความต่างของการพัฒนาระหว่างเมืองกับชนบทสูง แรงงานนอกระบบ ก่อให้เกิดปัญหาความยากจนและการกระจายรายได้ เพราะแรงงานมีความเสี่ยงในการเผชิญความผันผวนของเศรษฐกิจ การว่างงาน การขาดรายได้ และขาดหลักประกัน ต้นทุนทางการเงินสูงเนื่องจากกลไกตลาดในภาคการเงินยังทำงานไม่ดีนักและอาจก่อให้เกิดปัญหาในการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต


ดังนั้น การวางนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้และเพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขันได้แก่ การพัฒนาการศึกษา เพื่อวางรากฐานแรงงานที่มีคุณภาพ การกระจายความเป็นเมืองโดยการสร้างสาธารณูปโภคไปสู่พื้นที่ต่าง ๆ การวางนโยบายประกันสังคม เพื่อดึงแรงงานนอกระบบให้เข้าสู่ระบบ และการออกนโยบายที่จะช่วยให้คนในระดับรากหญ้าสามารถเข้าถึงการกู้ยืมเงินได้ ทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการแก้ปัญหาที่จุดเริ่มต้น ที่จะช่วยให้การพัฒนาประเทศเป็นไปอย่างยั่งยืน

อ่านรายละเอียด
admin
เผยแพร่: 
วารสารสุทธิปริทัศน์
เมื่อ: 
2008-04-23