อัล กอร์ กรณีศึกษาของผู้เรียนค้นพบตนเอง

อัล กอร์ (Albert A Gore, Jr.) นับเป็นศิษย์เก่าฮาร์วาร์ดคนล่าสุดที่ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม ค.ศ. 2007 ผ่านการรณรงค์และเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ อันเป็นผลจากน้ำมือมนุษย์ ทั้งยังเป็นผู้นำในการก่อตั้งองค์กร Save our Selves เพื่อสนับสนุนแก้ไขปัญหาวิกฤติการณ์สภาพอากาศ
นอกจากนี้ยังเป็นเจ้าของหนังสืออันโด่งดังที่คนไทยรู้จักดีเรื่อง ldquo;โลกร้อน ความจริงที่ไม่มีใครอยากฟังrdquo; (An Inconvenient Truth) ซึ่งได้จัดทำเป็นภาพยนตร์และได้รับรางวัลออสการ์สาขาสารคดีเมื่อต้นปี ค.ศ. 2007
ความมีชื่อเสียงของอดีตนักศึกษาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard College) คนนี้เป็นผลมาจากความตั้งใจอันแน่วแน่ ในการทำงานเพื่อส่วนรวม พยายามจุดประกายในสิ่งที่สำคัญต่ออนาคตมนุษยชาติ แต่คนทั่วไปอาจมองข้าม เนื่องจากยังมองไม่เห็นผลกระทบที่จะตามมา
ชีวิตนักศึกษาฮาร์วาร์ดของ อัล กอร์ ในช่วงแรกนั้นนับว่า สร้างความผิดหวังให้กับผู้ที่เฝ้าจับตามอง เนื่องจากเขาได้คะแนนต่ำมาก ในช่วง 2 ปีแรกของการเรียน แต่เมื่อเขาได้ค้นพบความถนัด ความชอบของตัวเอง ก็สามารถพลิกสถานการณ์ไปสู่การจบการศึกษาด้วยคะแนนเกียรตินิยมได้
การผันตัวเองจากการนักศึกษาวิชาเอกด้านภาษาไปสู่การเรียนรัฐศาสตร์ เนื่องจากอัล กอร์ ได้ค้นพบว่า เขาชื่นชอบการเมืองการปกครองมากกว่าการเรียนเอกภาษาอังกฤษ สิ่งนี้ได้นำไปสู่ความสนใจการเมืองอย่างจริงจัง และได้ทำวิทยานิพนธ์เรื่อง ldquo;อิทธิพลของสื่อโทรทัศน์ต่อการสร้างภาพลักษณ์ในการเป็นประธานาธิบดี ศึกษาจากปี ค.ศ. 1947-1969rdquo; (The Impact of Television on the Conduct of the Presidency, 1947-1969) ทำให้เขาก้าวออกจากรั้วฮาร์วาร์ดอย่างเต็มภาคภูมิว่าเป็น ldquo;บัณฑิตเกียรตินิยมrdquo;
นอกจากนี้การเป็นนักเรียนรู้ตลอดชีวิต ดังเห็นจากการเลือกศึกษาต่อในสาขาปรัชญา และกฎหมายในเวลาต่อมา ลักษณะนิสัยนี้นำไปสู่การค้นพบองค์ความรู้ใหม่ รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคม ส่งผลให้ อัล กอร์ ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับหลายวิชาชีพ ตั้งแต่นักข่าว ผู้บริหารบริษัท นักการเมืองท้องถิ่น วุฒิสมาชิก จนกระทั่งตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา
การค้นพบตัวเองของเขาขณะเรียนนี้ไม่เพียงทำให้เขาประสบความสำเร็จในการศึกษา แต่ยังเป็นก้าวแรกที่สำคัญ ทำให้เขาพัฒนาตนเอง ก้าวขึ้นสู่ถนนการเมือง และกลายมาเป็นรองประธานาธิบดีคนสำคัญที่ประวัติศาสตร์ต้องจารึกไว้ เนื่องจากแพ้คะแนนประธานาธิบดีไปอย่างเฉียดฉิวในการเลือกตั้งปี ค.ศ.2000
ตัวอย่างชีวิตของ อัล กอร์ จึงเป็นข้อคิดสำหรับนักศึกษาอีกหลายคน ที่กลับมาทบทวนเป้าหมายในการเรียน การใช้ชีวิต การพัฒนาตนเองให้สอดคล้องกับความถนัด ความสนใจเพื่อรับการพัฒนาให้มีทักษะในระดับเชี่ยวชาญตามศักยภาพ อันเป็นความสามารถในการปฏิบัติการจริงหรือนำความรู้ไปใช้ได้
ผมมีข้อเสนอแนะสำหรับการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยอย่างคุ้มค่า เพื่อให้นักศึกษามีรากฐานการเรียนและใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยที่ดีและถูกต้อง ซึ่งหากใครให้ความสำคัญและใช้ชีวิตในช่วงวัยนี้ได้อย่างมีคุณค่ามากเท่าใด ย่อมเป็นประโยชน์ต่อตนเองมากเท่านั้น และส่งผลถึงส่วนรวมที่เกิดจากการที่มหาวิทยาลัยสามารถป้อนคนที่มีคุณภาพเข้าสู่สังคมได้ด้วย
การกำหนดเป้าหมายชีวิต เราอยากเป็น อยากทำ ซึ่งก่อให้เกิดแรงบันดาลใจให้เรามุ่งมั่นฟันฝ่าอุปสรรคขวากหนามเพื่อก้าวไปให้ถึงซึ่งจุดหมายนั้น เลือกเรียนตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ใช้เวลาในส่วนที่เหลือสำหรับการเรียนและสำหรับการดำเนินชีวิตเพื่อทำตามเป้าที่ตั้งไว้ให้ได้ หากท่านเลือกเรียนในสิ่งที่ถนัดและสนใจที่สุดแล้วพึงระลึกต้องเดินหน้าต่อไปทำให้สำเร็จ
การค้นว่า ldquo;เรียนอะไร เพื่ออะไรrdquo; ค่านิยมของคนในหลายยุคสมัยที่ผ่านมามักมีค่านิยมว่า เรียนคณะที่จบออกมาแล้วมีอาชีพที่มั่นคง และมีรายได้ดี สามารถสร้างฐานะได้อย่างรวดเร็ว แต่ผมมีค่านิยมที่ว่า เราควรเรียนในสิ่งที่เราเห็นคุณค่าของวิชาความรู้ที่จะได้รับจริง ๆ เรียนด้วยความสนใจและสนุกกับสิ่งที่ตัวเองเรียน ไม่ได้เรียนเพื่อสอบ แต่เรียนเพื่อรู้ จนเราเข้าไปถึงเนื้อหาสาระที่เป็นแก่นความรู้ และใช้ประโยชน์ตามความตั้งใจอย่างแท้จริง
การค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมนอกห้องเรียน ด้วยการอ่านหนังสือ ตำรา วารสารเพิ่มเติม โดยไม่ใช่รอให้อาจารย์สั่งหรือป้อนข้อมูลให้ตลอดเวลา โดยการเรียนรู้ให้ ldquo;รู้ลึกrdquo; คือ ต้องรู้และเข้าใจในวิชาที่เรียนจริง เรียนรู้ให้ ldquo;รู้กว้างrdquo; คือ สนใจศึกษาความรู้อื่น ๆ เพิ่มเติมนอกเหนือสาขาที่เรียน และ เรียนรู้ให้ ldquo;รู้ไกลrdquo; คือ การเตรียมตัวเองให้พร้อมเสมอหากต้องก้าวสู่การทำงานจริงในอนาคต
ข้อคิดหนึ่งที่เราได้จากชีวิตวัยเรียนของ อัล กอร์ เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับที่ผมเคยกล่าวไว้ตั้งแต่ปี 2541 ว่า กฎแห่งความสำเร็จระบุว่า "ท่านจะบรรลุความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ได้ก็ต่อเมื่อท่านได้พบงานที่ท่านชอบมากที่สุด เนื่องจากมันเป็นข้อเท็จจริงที่รู้กันดีว่า คนเราย่อมจะบรรลุผลสำเร็จได้ดีที่สุดเฉพาะในงานที่เขาทุ่มเทลงไปทั้งหัวใจและวิญญาณ"[1]


[1] เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. บริหารเวลาเพื่อความสำเร็จ, กรุงเทพ : ซัคเซสมีเดีย 2541 หน้า 77
admin
เผยแพร่: 
สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
เมื่อ: 
2008-04-10