มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ: ลดภาษี, ประชานิยม หรือ Negative tax?
* ที่มาของภาพ - http://www.smh.com.au/ffximage/2006/03/01/money.jpg
สัจธรรมในทางการเมืองคือ แม้เศรษฐกิจจะมีหลายเป้าหมายที่จำเป็นต้องได้รับการดูแล แต่ทุกรัฐบาลปรารถนาให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ประกาศนโยบายลดภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เช่น การเพิ่มวงเงินได้สุทธิที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา การเพิ่มวงเงินยกเว้นและหักค่าลดหย่อนเงินออมประเภทต่าง ๆ และการเพิ่มวงเงินหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคู่สมรส บิดา มารดา และบุตรที่พิการ
นอกจากนี้ รัฐบาลเตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระลอกที่สอง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้า เช่น กองทุนหมู่บ้านและ SML การกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ (Megaproject) โดยรัฐบาลเชื่อว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้จะสูงถึงร้อยละ 6
ในบทความนี้ผมจะวิเคราะห์ถึงผลดี-ผลเสีย และประสิทธิผลของมาตรการของรัฐบาล และเสนอแนวคิดเกี่ยวกับ Negative tax ซึ่งผมเห็นว่าเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ ldquo;เกาถูกที่คันrdquo; มากที่สุด
อนึ่ง บทความนี้มุ่งวิเคราะห์ผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลต่อเศรษฐกิจมหภาคเฉพาะด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจ จึงขอละการวิเคราะห์ผลในด้านของเสถียรภาพทางเศรษฐกิจไว้ก่อน
สำหรับนโยบายลดภาษีนั้น ในหลักการถือว่าเป็นนโยบายที่ดีในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากการลดภาษีหรือคืนภาษีทำให้ประชาชนมีรายได้ที่ใช้จ่ายได้จริง (Disposable income) มากขึ้น ซึ่งจะทำให้การใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าหรือบริการเพิ่มขึ้น และทำให้ภาคการผลิตขยายตัว แนวคิดเศรษฐศาสตร์มหภาคสำนักคลาสสิคยังถือว่าการลดภาษีเป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดีที่สุด เพราะมองว่าการลดภาษีเป็นการเพิ่มอุปทานมวลรวม (Aggregate Supply) ซึ่งทำให้เศรษฐกิจขยายตัวโดยไม่กระทบต่อเสถียรภาพด้านราคา
อย่างไรก็ตาม ประสิทธิผลของนโยบายในทางปฏิบัติขึ้นอยู่กับกลุ่มเป้าหมายที่งบประมาณทุ่มลงไป หากเม็ดเงินลงไปที่กลุ่มคนจน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะมีประสิทธิผลมาก เพราะคนจนมีค่าความโน้มเอียงที่จะบริโภคสูงกว่ากลุ่มคนที่มีรายได้สูง กล่าวคือเมื่อได้รับเงินมาจะมีแนวโน้มนำเงินไปใช้จ่ายมากกว่าผู้ที่มีรายได้สูง ซึ่งมีแนวโน้มจะนำไปออมมากกว่าคนจน
แต่เนื่องจากคนยากจนในประเทศไทยมีรายได้ต่ำกว่าระดับที่ต้องจ่ายภาษี ผลของมาตรการลดภาษีอาจเรียกได้ว่า ldquo;ฝนตกไม่ทั่วฟ้าrdquo; ดังที่หลายฝ่ายวิจารณ์กัน เพราะผู้ที่ได้ประโยชน์คือผู้ที่มีรายได้ระดับกลางซึ่งเดิมเคยเสียภาษีจะได้รับการยกเว้นภาษีจากมาตรการนี้ แต่คนกลุ่มนี้ไม่ใช่ผู้ที่มีความโน้มเอียงที่จะบริโภคสูงที่สุด ขณะที่คนจนตัวจริงไม่ได้รับประโยชน์เพราะไม่ต้องจ่ายภาษีอยู่แล้ว
ส่วนมาตรการลดภาษีที่สนับสนุนการออม โดยหลักการเป็นนโยบายที่ดี แต่ในแง่ของการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น การส่งเสริมการออมอาจให้ผลตรงกันข้าม เนื่องจากการที่ภาคเอกชนนำเงินได้ไปออมมากขึ้นเท่ากับว่าเงินที่ใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการจะลดลง แต่หากมองว่าจะมีการนำเงินออมไปลงทุนนั้น ปัจจุบันประเทศไทยมีอัตราการออมสูงอยู่แล้ว แต่ปัญหาคือภาคการผลิตไม่มีความต้องการนำเงินออมไปลงทุน ดังนั้นเงินออมที่เพิ่มขึ้นจึงอาจมิได้ไปกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนได้มากนัก
สรุปได้ว่า มาตรการลดภาษีของรัฐบาลอาจไม่ได้ผลเต็มเม็ดเต็มหน่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะชนชั้นกลางและภาคเอกชนที่ได้รับการยกเว้นภาษีจะนำเงินไปออมมากขึ้น
เมื่อหันมาพิจารณามาตรการด้านรายจ่ายภาครัฐ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมาตรการเดิมในรัฐบาลทักษิณ เช่น กองทุนหมู่บ้าน SML และโครงการลงทุนขนาดใหญ่ เป็นต้น
ส่วนใหญ่ของมาตรการเหล่านี้เป็นการอัดฉีดเม็ดเงินไปที่ระดับรากหญ้า ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีความโน้มเอียงที่จะบริโภคสูง และนโยบายเหล่านี้ยังมุ่งให้นำเงินไปใช้จ่ายเพื่อลงทุนมากกว่าการบริโภค ขณะที่โครงการลงทุนขนาดใหญ่ยังก่อให้เกิดรายจ่ายในการซื้อสินค้าทุนและการจ้างงานมหาศาล โดยหลักการแล้ว มาตรการด้านรายจ่ายของภาครัฐเหล่านี้ น่าจะมีประสิทธิผลในการกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม โครงการอัดฉีดเงินลงไประดับรากหญ้ามีลักษณะฝนตกไม่ทั่วฟ้าเช่นกัน แม้ว่าเงินจะลงไปทุกหมู่บ้าน แต่ไม่ใช่ทุกคนที่ควรได้รับจะได้รับเงินส่วนนี้ เพราะเงินที่ได้รับจากรัฐจะถูกจัดสรรปันส่วนตาม ldquo;ดุลยพินิจrdquo; ของผู้มีอำนาจในชุมชน และการใช้จ่ายภาครัฐยังมีหลายขั้นตอน จึงอาจล่าช้าในการกระตุ้นเศรษฐกิจและมีช่องทางการคอร์รัปชันได้ง่าย ทำให้เม็ดเงินเหลือไปถึงรากหญ้าไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย
ประสิทธิผลของมาตรการด้านการใช้จ่ายภาครัฐอาจไม่มากเท่าที่ควร แม้การใช้จ่ายงบประมาณจะมุ่งลงไปที่ระดับรากหญ้าโดยตรง แต่มีอุปสรรคด้านการบริหารงบประมาณในหลายด้าน
ในความเห็นผม Negative Tax น่าจะเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดีกว่าสองแนวทางข้างต้น เพราะ Negative Tax เป็นการอัดฉีดเงินไปที่คนจนจริง ๆ และยังมีรูรั่วด้านการบริหารงบประมาณน้อย
Negative Tax เป็นแนวคิดที่เสนอโดยนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังมากมาย รวมทั้งนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลอย่าง Milton Friedman และ Joseph Stiglitz โดยวิธีการดำเนินการ คือการปรับระบบภาษีให้มี 2 ระบบ เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะมีทั้ง Positive tax ที่เป็นภาษีระบบเดิม และ Negative tax ซึ่งเป็นการคืนภาษีตามรายได้ให้กับผู้จ่ายภาษี โดยภาษีจาก 2 ระบบนี้จะหักลบกัน หมายความว่า แทนที่คนยากจนที่ได้รับเพียงการยกเว้นภาษีในระบบ Positive tax แบบเดิม แต่จะได้รับเงินคืนภาษี (tax refund) จากระบบ Negative tax ด้วย โดยผู้ที่จะได้ภาษีคืนจะต้องมาลงทะเบียนและรับเลขประจำตัวผู้เสียภาษี
ผลดีของ Negative tax ประการแรกคือมีประสิทธิผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจสูง เพราะเม็ดเงินลงไปที่คนจนโดยตรง รวดเร็ว และยากที่จะคอร์รัปชันได้ เพราะมีขั้นตอนสั้น ประการต่อมาคือเงินคืนภาษีจะครอบคลุมประชากรที่ทำงานได้เกือบทุกคนจึงช่วยกระจายรายได้ไปสู่คนจนได้ดียิ่งขึ้น และประการสุดท้ายคือจูงใจให้แรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบมากขึ้น ซึ่งจะมีประโยชน์ในการจัดสวัสดิการสังคมอื่น ๆ ด้วย
อย่างไรก็ตาม Negative tax ยังมีข้อจำกัด เพราะยังไม่สามารถดำเนินการได้ทันที และมีปัญหาการไม่ทราบรายได้ที่แท้จริงของแรงงานนอกระบบ รวมทั้งมาตรการนี้ไม่ครอบคลุมคนที่ไม่มีงานทำเพราะช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ซึ่งคนกลุ่มนี้อาจต้องช่วยเหลือด้วยมาตรการสังคมสงเคราะห์อื่น ๆ
โดยสรุปแล้ว ทั้งมาตรการลดภาษีให้แก่ชนชั้นกลาง และมาตรการอัดฉีดเงินเข้าสู่รากหญ้านั้น อาจถือได้ว่าสอบผ่าน แต่ยังไม่ดีเลิศ เนื่องจากยังไม่ใช่มาตรการที่ดีที่สุด ผมจึงขอเสนอว่าในระยะสั้น อย่างน้อยรัฐบาลควรดำเนินการตามมาตรการที่ได้ประกาศไว้แล้วก่อน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นทั้งจากทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจว่านโยบายรัฐมีความคงเส้นคงวาซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยในการบริหารนโยบาย เศรษฐกิจมหภาค แล้วในระยะกลาง (ซึ่งไม่ควรจะนานนัก) รัฐบาลจำเป็นต้องศึกษาความเป็นไปได้และวิธีการดำเนินการของระบบภาษีแบบ Negative tax อันน่าจะเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรวมทั้งการกระจายรายได้ที่ดีกว่า
Catagories:
เผยแพร่:
0
เมื่อ:
2008-03-21
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ค่าแรงขั้นต่ำ: ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการบริหารจัดการ
Total views: อ่าน 128 ครั้ง
สว. 2567 คนแบบคุณก็เป็นได้ โดยไม่ต้องใช้เงิน
Total views: อ่าน 163 ครั้ง
ที่ดิน ส.ป.ก. ทำกินเพื่อเกษตรกร ไม่ใช่ ทุจริตเพื่อข้าราชการ นายทุน และนักการเมือง
Total views: อ่าน 157 ครั้ง
เปลี่ยนเงินหวย เป็น 'สลากออมทรัพย์'
Total views: อ่าน 3,434 ครั้ง
แนวทางการพัฒนา ทุนมนุษย์ สำหรับประเทศไทย
Total views: อ่าน 1,483 ครั้ง