ซับไพร์มส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยหรือไม่?



* ที่มาของภาพ - http://www.panmilconsul.com/website/images/expert_eng.gif

ถึงแม้ว่าปัญหาซับไพรม์จะเกิดขึ้นมานานข้ามปีแล้ว แต่ปีที่ผ่านมายังไม่ได้ส่งผลกระทบต่อไทยมากนัก อย่างไรก็ตามมีความกังวลว่าปี พ.ศ.2551 นี้จะเป็นการ ldquo;เผาจริงrdquo; เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากปัญหาซับไพรม์อย่างมาก ซึ่งถือเป็นงานที่ยากของทีมเศรษฐกิจรัฐบาลใหม่ที่ต้องเข้ามาจัดการปัญหาดังกล่าว ในสภาวะที่เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวมากนัก
การคาดการณ์ผลกระทบของปัญหาซับไพร์มส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่ผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพราะการถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐฯจะนำมาซึ่งการชะลอตัวทางเศรษฐกิจทั่วโลก และทำให้เกิดการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะต้องชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกอย่างแน่นอน แต่อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจและยังไม่มีการวิเคราะห์กันมากนัก คือ ซับไพร์มจะส่งผลต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจของไทยอย่างไร

เสถียรภาพภายใน

หากพิจาณาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจภายในประเทศผ่านการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าหรืออัตราเงินเฟ้อ ปัญหาซับไพรม์ไม่ได้ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อในประเทศโดยตรง แต่ส่งผลกระทบผ่าน 2 ปัจจัย คือ ราคาน้ำมัน (Cost Push Factors) และอัตราดอกเบี้ย (Demand Pull Factors) หากจะพิจารณาว่าปัญหาซับไพรม์ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้ออย่างไร ต้องพิจารณาว่าปัญหาซับไพรม์ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันและอัตราดอกเบี้ยในประเทศไทยอย่างไร และราคาน้ำมันและอัตราดอกเบี้ยในประเทศ มีผลต่ออัตราเงินเฟ้อของไทยอย่างไร
ปัจจัยด้านราคาน้ำมันนั้นมีแนวโน้มลดลงจากปลายปี 2550 ทำให้ต้นทุนของผู้ผลิตมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากปัญหาซับไพรม์จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯถดถอยและทำให้ความต้องการบริโภคน้ำมันของโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลง เนื่องจากสหรัฐฯสหรัฐฯเป็นผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบลดลงอย่างรวดเร็วจากประมาณ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เมื่อต้นเดือนมกราคม 2551 เหลือ 89.41 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล (25 มกราคม 2551)
อย่างไรก็ตาม การที่ราคาน้ำมันลดลงแล้วอาจไม่ทำให้ราคาสินค้าลดลงอย่างรวดเร็วนัก เพราะสินค้าส่วนหนึ่งเป็นสินค้าในสต็อก หรือเกิดจากการผลิตภายใต้คำสั่งซื้อเดิม ณ ราคาวัตถุดิบและราคาสินค้าเดิม และมีสินค้าหลายรายการได้ปรับราคาขึ้นไปแล้วในช่วงที่ผ่านมา แต่ผู้ประกอบการมีต้นทุนการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้า (Menu Cost) ทำให้ยังไม่สามารถปรับราคาลงมาได้รวดเร็วนัก ดังนั้นแม้ว่าราคาน้ำมันจะปรับตัวลดลงแต่ราคาสินค้าและอัตราเงินเฟ้อในช่วงต้นปีนี้อาจจะไม่ลดลงมากนัก
สำหรับอัตราดอกเบี้ยนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งภาวะเศรษฐกิจ ทิศทางของนโยบาย รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยต่างประเทศ การที่สหรัฐฯลดอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่มากถึงร้อยละ 0.75 เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดจากซับไพรม์ และมีสัญญาณว่าจะลดลงดอกเบี้ยลงอีก ทำให้เกิดความกังวลว่าอาจทำให้เงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามายังไทย ซึ่งจะทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่ามากขึ้นอีก ประกอบกับแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงจึงคาดการณ์ได้ว่า ผู้กำหนดนโยบายการเงินของไทยน่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนในประเทศ และลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาท ประกอบกับสถานการณ์ทางการเมืองที่ชัดเจนขึ้น จะช่วยฟื้นอุปสงค์โดยรวมในประเทศ ซึ่งอาจมีผลทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้นบ้าง
กล่าวโดยรวมแล้ว ปัญหาซับไพรม์จะส่งผลกระทบผ่านราคาน้ำมันและอัตราดอกเบี้ยในประเทศ และทำให้อัตราเงินเฟ้อในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ถึงกระนั้นจะไม่ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อในระดับที่เป็นอันตรายแต่อย่างใด เนื่องจากราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มลดลง
เสถียรภาพภายนอก
เสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศพิจารณาจากปริมาณทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลการชำระเงิน ซึ่งประกอบด้วยดุลบัญชีเดินสะพัด (การส่งออก-นำเข้า) และดุลบัญชีเงินทุน (เงินทุนไหลเข้า-ไหลออก) หากดุลการชำระเงินเป็นบวกจะทำให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น ในทางตรงข้าม หากดุลการชำระเงินเป็นลบ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศจะลดลง
ดุลบัญชีทุนขึ้นอยู่กับการเคลื่อนย้ายเงินทุนสุทธิระหว่างประเทศ ซึ่งโดยธรรมชาติของเงินทุนจะเคลื่อนย้ายไปยังที่ซึ่งมีผลตอบแทนสูงกว่า และผลตอบแทนของทุนพิจารณาได้จากอัตราดอกเบี้ย ดังนั้นด้วยเหตุที่ธนาคารกลางสหรัฐฯลดอัตราดอกเบี้ยลง และคาดว่าจะลดลงอีกนั้น ทำให้อัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยของไทย ดังนั้นอาจทำให้มีทุนเคลื่อนย้ายเข้ามายังประเทศไทยมากขึ้น
ขณะที่ปัญหาซับไพรม์จะทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเกินดุลน้อยลง เพราะจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯและประเทศคู่ค้าอื่นของไทยชะลอตัวลงด้วย ทำให้การส่งออกของไทยมีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยมีการคาดการณ์กันว่าจะขยายตัวไม่ถึงร้อยละ 10 ในปีนี้ โดยลดลงจากร้อยละ 19 ในปี 2550
นอกจากนี้ เงินทุนที่ไหลเข้าไทยมากขึ้นจะทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ซึ่งจะทำให้ส่งออกได้ยากขึ้น แต่จะทำให้นำเข้ามากขึ้น อย่างไรก็ตาม คาดว่าผู้กำหนดนโยบายการเงินของไทยจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาท ทำให้การส่งออกและนำเข้าไม่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินมากนัก
เมื่อรวมดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลบัญชีทุนแล้ว จะเห็นได้ว่าดุลบัญชีทุนมีแนวโน้มเกินดุลมากขึ้น ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มเกินดุลลดลง ผลของซับไพร์มต่อทั้งสองบัญชีจึงหักล้างกันเอง ทำให้ไม่กระทบดุลการชำระเงินและทุนสำรองระหว่างประเทศมากนัก
ทั้งนี้ข้อมูล ณ เดือนกันยายน 2550 ปริมาณเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทย มีอยู่สูงถึง 8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งคิดเป็น 6.7 เท่าของปริมาณหนี้ต่างประเทศระยะสั้น (มาตรฐานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศกำหนดไว้ที่ 1.5 เท่า) ดังนั้นด้วยฐานเงินทุนสำรองฯที่มีจำนวนมาก ซับไพร์มจึงไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจภายนอกประเทศของไทย
จะเห็นว่าปัญหาซับไพรม์จะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจภายในประเทศมากกว่าเสถียรภาพภายนอก ถึงกระนั้นผลกระทบน่าจะไม่รุนแรงมากนัก เนื่องจากผลจากปัจจัยที่เป็นผลบวกและผลลบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมีการหักล้างกันเอง อย่างไรก็ตามการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังของไทยในรัฐบาลใหม่ยังจำเป็นจะต้องติดตามและดูแลเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด และประสานความร่วมมืออย่างแนบแน่นมากขึ้น เพราะเศรษฐกิจโลกยังคงมีความผันผวนสูงมาก
* นำมาจากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันพุธที่ 6 กุมภาพันธ์ 2551

แสดงความคิดเห็น
admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2008-02-06