?ทักษะด้านการเงิน? ทักษะจำเป็นในโลกยุคบริโภคนิยม
ทักษะด้านการเงิน (money skill) เป็นทักษะสำคัญที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกยุคปัจจุบันที่กระแสวัตถุนิยม บริโภคนิยม กำลังมาแรงด้วยแรงกระตุ้นของสื่อ โฆษณาต่าง ๆ ที่ต่างแข่งขันกันอย่างรุนแรงเพื่อกระตุ้นยอดขายของตนรวมทั้งความเจริญรุดหน้าของสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ อาทิ การใช้บัตรเครดิตระบบ E-commerce, E-auction, E-market ที่อำนวยความสะดวกให้การซื้อขายสินค้าต่าง ๆ ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตามอาจส่งผลให้ผู้บริโภคใช้เวลาสั้นลงในการไตร่ตรองก่อนที่จะตัดสินใจเลือกบริโภคสินค้าใด ๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อวินัยในการใช้จ่ายเงินตามมาอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์
แม้ลูกของเราจะมีความรู้ความสามารถในด้านต่าง ๆมากมายเรียนดี กีฬาเด่น กิจกรรมยอดฯลฯ ที่ดูเหมือนว่าไม่น่าเป็นห่วงอะไรมาก น่าจะเอาตัวรอดได้ แต่หากขาด ldquo;ทักษะด้านการเงินrdquo; แล้ว ชีวิตในอนาคตของเขาอาจล้มเหลว พลาดพลั้ง คลาดไปจากความสำเร็จที่ควรจะเกิดขึ้นในชีวิตไปอย่างน่าเสียดาย จาก ตัวอย่างที่เราสามารถพบเห็นได้ทั่วไป อาทิ
นักกีฬาเหรียญทองโอลิมปิกชื่อดัง...ได้รับเงินรางวัลอัดฉีดกว่ายี่สิบล้านบาท สองปีผ่านไปกลับกลายเป็นคนที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว
เสี่ยเจ้าของธุรกิจดัง...ฆ่าตัวตายหนีหนี้พนันในบ่อนคาซิโนกว่าพันล้าน
พนักงานบริษัทอนาคตไกล...ถูกบริษัททวงหนี้ส่งแฟกซ์ประจานเนื่องจากติดหนี้บัตรเครดิต และขาดส่งเงินผ่อนรถยนต์สองงวดที่ผ่านมา
ดาราชื่อดัง...มุ่งทำงานหนักเพื่อสร้างรายได้ในช่วงขาขึ้นของตนเอง จนไม่มีเวลาให้กับครอบครัว นำมาซึ่งการหย่าร้างเลิกราต่อกันในท้ายที่สุด
นอกจากนี้ยังรวมไปถึงคนที่แม้ดูเหมือนมีโอกาสทางการเงินที่ดีกว่าคนอื่น ๆ ในสังคม เช่น ลูกของมหาเศรษฐี หรือ คนที่ร่ำรวยขึ้นมาอย่างกะทันหันทั้งจากการเสี่ยงโชค ขายที่ดิน ได้รับมรดก ฯลฯ แต่กลับไม่สามารถใช้โอกาสหรือต้นทุนทางการเงินที่เหนือกว่าผู้อื่นนี้สร้างความสุขความสำเร็จที่ยั่งยืนให้กับชีวิต ซ้ำร้ายกลับสร้างปัญหาต่าง ๆ ตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็น การผลาญเงินไปอย่างสุรุ่ยสุร่าย ผ่านการเล่นพนัน เที่ยวกลางคืน ฯลฯ ทำให้ครอบครัวคนใกล้ชิดต้องพลอยได้รับผลกระทบตามไปด้วย
ไม่เพียงเท่านี้ การขาดทักษะด้านการเงินในการดำเนินชีวิตยังก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่แสดงออกเป็นพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์อีกมากมายตามมา ไม่ว่าจะเป็น ความเห็นแก่ตัว การดูถูกคนที่มีฐานะยากจนความคดโกงไม่ซื่อสัตย์ในหน้าที่การงาน รวมทั้งการไม่บรรลุวุฒิภาวะ ไม่รู้จักโตเป็นผู้ใหญ่ดังที่ Susan Littwin ได้เขียนไว้ในหนังสือชื่อว่า The Postponed Generation : Why American Youth Are Growing Up Later โดยกล่าววิพากษ์ถึงสังคมอเมริกันที่คนรุ่นหนุ่มสาวจำนวนมากกำลังเลื่อนความเป็นผู้ใหญ่ในการรับผิดชอบดูแลตัวเองออกไป หรืออีกนัยหนึ่งคือ ldquo;ไม่รู้จักโตเป็นผู้ใหญ่rdquo; นั่นเอง
แม้ในสังคมอเมริกันที่เรารู้กันโดยทั่วไปว่ามีวัฒนธรรมในการสร้างให้เด็กเรียนรู้ที่จะช่วยเหลือตัวเอง มีความเป็นผู้ใหญ่โดยเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมให้ลูกทำงานพิเศษตั้งวัยเยาว์ หรือการให้ลูกออกจากบ้านไปใช้ชีวิตด้วยตนเองตามลำพัง ยังกล่าววิพากษ์ตัวเองว่าเด็กและวัยรุ่นของเขาไม่รู้จักโตเป็นผู้ใหญ่ ยิ่งไม่ต้องพูดถึงสังคมไทยเราที่พ่อแม่จำนวนมากมักเลี้ยงลูกแบบไม่รู้จักโตเป็นผู้ใหญ่ โดยอาจเป็นเพราะความรักอย่างมากที่มีต่อลูก ไม่อยากให้ลูกต้องลำบาก ไม่ต้องทำงานบ้าน ทำงานพิเศษ ลูกอยากได้อะไรพ่อแม่จะจัดให้ เห็นได้จากบางครอบครัวแม้ลูกโตเป็นผู้ใหญ่ อายุมากแล้ว แต่กลับต้องมาขอเงินพ่อแม่ใช้อยู่ตลอดเวลาโดยไม่พยายามที่จะไปทำงาน หรือแม้กระทั่งออกไปหางานเพื่อหารายได้เลี้ยงตัวเอง เนื่องจากมีพ่อแม่ที่ทำตัวเป็นตู้เอทีเอ็มไว้คอยให้กดเงินใช้อยู่ตลอดเวลา
จากงานวิจัยพบว่า พฤติกรรมด้านการเงินที่ไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นส่วนใหญ่แล้วมักเกิดจากประสบการณ์ด้านการเงินที่ได้รับจาการเลี้ยงดูของครอบครัวในวัยเยาว์รวมทั้งการปลูกฝังทัศนคติในเรื่องเงินทองที่พ่อแม่ส่งสารต่าง ๆ เข้ามาในชีวิตของลูกทั้งจากทางตรงและทางอ้อมตัวอย่างเช่น วิธีการให้เงินค่าขนมกับลูก ปฏิกริยาของพ่อแม่เมื่อลูกรบเร้าให้ซื้อสิ่งของที่ตนอยากได้ วิธีการปฏิบัติต่อคนที่มีฐานะทางการเงินสูงกว่าและต่ำกว่าของพ่อแม่ การตอบคำถามลูกเกี่ยวกับเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ของพ่อแม่ ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการใส่เมล็ดพันธุ์ทางความคิดเกี่ยวกับทัศนคติมุมมองในเรื่องการเงินเข้าไปในชีวิตของลูกทุกวันทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัว
ดังนั้น การปลูกฝังทักษะด้านการเงินที่ถูกต้องให้เกิดขึ้นในชีวิตของลูกจึงเป็นสิ่งสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกแห่งการบริโภคนิยม วัตถุนิยม ที่มีสิ่งล่อตาล่อใจมากมายคอยล่อหลอกให้ผู้คนจำนวนมากต้องตกเป็นเหยื่อ พ่อแม่จึงไม่ควรมองข้ามหรือปล่อยปละละเลยโดยคิดว่าเป็นเรื่องที่ลูกสามารถเรียนรู้ได้เอง หรือคาดหวังให้ลูกไปเรียนรู้เอาเองในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยเมื่อโตขึ้น ซึ่งไม่ทันกาลอย่างแน่นอน เพราะการฝึกทักษะด้านการเงินนั้นลึกที่สุดแล้วเป็นการหล่อหลอมทัศนคติมุมมองความคิดและสร้างอุปนิสัยด้านการเงินที่ถูกต้องนั่นเอง โดยเป็นกระบวนการสร้างในระยะยาวที่ควรปลูกฝังตั้งแต่ในวัยเยาว์ทั้งจากการเรียนรู้และฝึกฝนจากประสบการณ์จริง
โดยการฝึกทักษะด้านการเงินในภาคปฏิบัติที่ผมอยากแนะให้พ่อแม่ได้มีโอกาสนำไปใช้นั้น ได้แก่วิธี ldquo;การให้เงินประจำกับลูกrdquo;หรือ allowance ซึ่งเป็นการจัดสรรเงินส่วนหนึ่งให้ลูกด้วยวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อบรรลุสู่เป้าหมายที่ต้องการโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการสอนลูกเรื่อง การใช้เงิน การบริหารเงิน และการหาเงิน รวมไปถึงในเรื่องทัศนคติมุมมองในเรื่องเงินซึ่งพ่อแม่สามารถสอดแทรกผ่านวิธีการนี้ได้ด้วยเช่นกัน
พ่อแม่สามารถเริ่มใช้วิธีการให้เงินประจำกับลูกได้ในวัยที่ลูกเริ่มเรียนรู้ในการจับจ่ายซื้อของได้ด้วยตัวเองเช่นเมื่อลูกเริ่มเข้าอนุบาล โดยค่อย ๆ เพิ่มจำนวนเงิน และความถี่ในการให้เงินประจำออกไปตามวัยของลูกที่เพิ่มขึ้น อาทิให้เงินประจำเป็นรายวันกับลูกในระดับอนุบาล เมื่อลูกขึ้นเรียนในระดับประถมอาจให้เป็นรายสัปดาห์ ให้เป็นรายเดือนเมื่อเรียนมัธยม และให้เป็นรายเทอมเมื่อลูกเรียนในระดับมหาวิทยาลัย
ทั้งนี้ในเรื่องของจำนวนเงินว่าควรให้ลูกเป็นจำนวนเท่าไรนั้น พ่อแม่ควรพิจารณาจากอายุของลูก ประเภทของค่าใช้จ่ายต่าง ๆ โดยมีการคำนวณร่วมกันกับลูกและทำข้อตกลงร่วมกันว่าเงินประจำที่จะให้ไปนั้นรวมไปถึงในเรื่องใดบ้าง อาทิค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าเสื้อผ้า ค่าอุปกรณ์การเรียนฯลฯ โดยมีหลักการสำคัญคือเงินประจำที่ให้กับลูกนั้นต้องไม่น้อยเกินไป จนลูกไม่สามารถนำไปบริหารจัดการอะไรได้ หรือไม่มากเกินไปจนกระทั่งลูกไม่ต้องตัดสินใจหรือบริหารใด ๆ เพราะสามารถใช้จ่ายได้อย่างคล่องมือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่พ่อแม่ให้ลูกสามารถใช้บัตรเครดิตได้ตามใจชอบในวงเงินที่ไม่จำกัดในแต่ละเดือน
อย่างไรก็ตาม ในการใช้วิธีการให้เงินประจำนั้น พ่อแม่ควรทำข้อตกลงต่าง ๆ ร่วมกันกับลูกเพื่อให้การฝึกทักษะด้านการเงินโดยวิธีนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และก่อให้เกิดการเรียนรู้ระหว่างกันในครอบครัวโดยข้อตกลงที่ควรทำความเข้าใจร่วมกัน ได้แก่
หลักการและเหตุผลในการให้เงินประจำแก่ลูก พ่อแม่ควรอธิบายให้ลูกเข้าใจว่าการที่เขาเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัว ทำให้เขาได้สิทธิประโยชน์หลายประการรวมทั้งการได้รับเงินประจำนี้ด้วยเช่นกัน โดยควบคู่ไปกับหน้าที่ความรับผิดชอบที่เขาต้องมีต่อครอบครัว อาทิ การเรียนหนังสือให้ดี การทำงานบ้านที่ได้รับมอบหมายเพื่อไม่ให้ลูกเข้าใจผิดอย่างเข้าข้างตัวเองว่า ldquo;เงินนี้เป็นสิ่งที่เขาสมควรจะได้รับrdquo; ซึ่งอาจกลายเป็นพฤติกรรมในการเรียกร้องอย่างไม่สมเหตุสมผลต่อไปในอนาคต
ข้อกำหนดในการจัดสรรเงินประจำที่ลูกได้รับ การให้เงินประจำแก่ลูกนั้นต้องควบคู่ไปกับการให้คำแนะนำและสอนลูกถึงแนวทางการบริหารเงินที่ได้รับ ไม่ใช่มอบให้กับลูกเป็นสิทธิขาดโดยไม่ได้ชี้แนะใด ๆ ตัวอย่างเช่นสอนให้ลูกเรียนรู้ในการจัดสรรเงินที่ได้รับออกมาเป็นหมวดต่าง ๆ ทั้งค่าใช้จ่ายประจำวัน เงินออม เงินที่จะใช้เพื่อการทำสิ่งดีให้ผู้อื่น เช่น ของขวัญวันเกิดเพื่อน เงินเพื่อการบริจาคช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในสังคม รวมทั้งสอนวิธีการบริหารเงิน การตัดสินใจในการใช้จ่ายเงินอย่างชาญฉลาด เป็นต้น นอกจากนี้ควรทำข้อตกลงร่วมกันกับลูกในการที่พ่อแม่สามารถใช้สิทธิแทรกแซงได้หากลูกใช้จ่ายเงินในทางที่ไม่สร้างสรรค์ เช่น เล่นการพนัน ซื้อของเล่นที่ราคาสูงเกินไป ซื้อการ์ตูนที่ไม่เหมาะสมซื้อหวยฯลฯซึ่งอาจส่งผลเสียกับลูกในอนาคต
เคารพการตัดสินใจของลูกในการบริหารเงินประจำ พ่อแม่ควรให้สิทธิลูกในการตัดสินใจใช้จ่ายเงินที่ได้รับ ให้ลูกเรียนรู้ที่จะลองผิดลองถูกจากการตัดสินใจของตนเอง เรียนรู้จักค่าเสียโอกาสเพื่อหาทางเลือกที่ดีที่สุดในการตัดสินใจใช้จ่ายเงินที่ได้รับเรียนรู้ถึงผลลัพธ์ในการตัดสินใจของตนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ตัวอย่างเช่น ให้สิทธิลูกในการตัดสินใจหากต้องการซื้อเสื้อราคาแพงที่ตนอยากได้ โดยให้ลูกได้เรียนรู้ถึงผลที่เขาจะได้รับ อาทิ ไม่มีเงินซื้อข้าว ซื้อขนมเพื่อเป็นบทเรียนให้เขาได้เรียนรู้และจดจำ
การช่วยเหลือในยามมีปัญหาเมื่อเกิดปัญหาด้านการเงินกับลูก เช่น เงินไม่พอใช้เนื่องจากไม่รู้จักจัดสรร นำเงินที่ได้ไปซื้อของฟุ่มเฟือย ฯลฯ พ่อแม่ไม่ควรเข้าไปโอบอุ้มช่วยเหลือโดยทันที ด้วยการให้เงินอัดฉีดเพิ่มเข้าไปอีก แต่ควรให้ลูกได้เรียนรู้จักเผชิญกับปัญหาที่ตนได้ก่อขึ้นเพื่อเป็นบทเรียนในอนาคต อย่างไรก็ตามพ่อแม่ควรเสนอทางออกให้กับลูกด้วยเช่นกัน อาทิการทำงานพิเศษต่าง ๆ ในบ้านนอกเหนือไปจากงานประจำที่เขาต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว เช่นล้างรถให้พ่อทาสีรั้วบ้านล้างมุ้งลวดในบ้านทั้งหมดรวมทั้งเสนอแนะแนวทางให้ลูกเรียนรู้จักที่จะหาเงินหรือหารายได้พิเศษด้วยตนเอง เช่น สมัครเป็นพนักงานเสิร์ฟของร้านอาหารในช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์รับจ้างตัดหญ้า ล้างรถให้กับเพื่อนบ้านข้างเคียง เป็นต้น
ไม่นำการให้เงินประจำมาเป็นข้อต่อรอง ด้วยการใช้วิธีการตัดเงิน หรือเพิ่มเงิน เพื่อต่อรองให้ลูกทำการบ้าน หรือทำงานบ้านเพราะจะเป็นการสร้างค่านิยมให้ลูกเห็นว่าเงินสามารถซื้อได้ทุกอย่าง และเป็นการบั่นทอนแรงขับเคลื่อนภายในของลูกในการไปสู่เป้าหมาย เนื่องจากถูกแทนที่ด้วยการใช้เงินเป็นแรงขับเคลื่อนในชีวิตแทน
การฝึกฝนทักษะด้านการเงินเป็นสิ่งที่พ่อแม่ทุกคนควรตระหนักและฝึกฝนให้แก่ลูกตั้งแต่ในวัยเยาว์ และเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ลูกทั้งในเรื่องการหาเงิน ใช้เงิน และการมองคุณค่าของเงินไม่สูงเกินจริงจนตกเป็นทาสของเงิน การฝึกทักษะด้านการเงินในภาคปฏิบัติโดยวิธี ldquo;การให้เงินประจำกับลูกrdquo;นั้นนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการวางรากฐานทักษะด้านการเงินในระยะยาวให้กับลูกต่อไป
เผยแพร่:
แม่และเด็ก
เมื่อ:
2007-12-01