อารยถกแถลง : ต่างมุม ร่วมกันมอง
แหล่งที่มาของภาพ : http://criticalthinking-mc205.wikispaces.com/file/view/groups.jpg/245853969/groups.jpg
ในวงสนทนาที่มีการตั้งประเด็นพูดคุยที่ชัดเจน เพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับเรื่องนั้น ซึ่งอาจเป็นการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน การหาทางออกเมื่อเกิดข้อขัดแย้ง หรือการหาทางเลือกที่ดีที่สุดอย่างเป็นเอกฉันท์ร่วมกัน การสนทนาจะไปสู่ข้อสรุปที่ทุกฝ่ายพึงพอใจ จะต้องใช้แนวทางที่ผมเรียกว่า อารยสนทนา หรือ การสนทนาพูดคุยกันในทุกระดับ ตั้งแต่ระหว่างคน 2 คนจนถึงสนทนาสาธารณะ มีเป้าหมายเพื่อหาข้อตกลงหรือจุดยืนที่ยอมรับร่วมกัน โดยมีหลักปรัชญาอารยะเป็นตัวกำกับ
อารยสนทนาเป็นกระบวนการสนทนาที่มีทั้งหมด 12 ขั้นตอน ที่ผ่านมา เราได้เรียนรู้ไปแล้ว 3 ขั้นตอนแรก อันได้แก่ อารยสดับ เริ่มต้นด้วยการฟังอย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อฟังแล้ว ต้องคิดใคร่ครวญตาม ต้องเกิดข้อสงสัย และเกิดคำถามที่ทำให้เราเข้าใจประเด็นชัดแจ้ง เป็นขั้นที่สอง เรียกว่า อารยปุจฉา และเมื่อเกิดการซักถามจนเข้าใจกระจ่างแล้ว เราจะเกิด ?มุมมอง? ต่อเรื่องดังกล่าว ซึ่งควรเป็นมุมมองในขั้นที่ 3 ที่ผมเรียกว่า อารยปริทัศน์ เป็นมุมมองที่เปิดกว้าง ยึดหลักแต่ไม่ยึดติด มุ่งส่วนรวมและชนะทุกฝ่าย
การสนทนาในประเด็นสาธารณะ จะไม่จบที่มุมมอง แต่ต้องเคลื่อนต่อไปสู่ขั้นตอนที่ 4 การนำมุมมองของแต่ละคน แต่ละฝ่ายที่แตกต่างกันนั้น มาร่วมกันถกแถลง หรือเปิดโอกาสให้คนกลุ่มต่าง ๆ ได้แสดงทัศนะ แสดงข้อมูล เหตุผลข้อเท็จจริง เกี่ยวกับประเด็นที่สนทนาในมุมมองของตน เพื่อให้ทุกฝ่าย เกิดความรู้ความเข้าใจในประเด็นนั้นชัดเจนขึ้น ข้อสรุปที่ได้จากการถกแถลง จะนำไปสู่การพิจารณา และการตัดสินใจที่รอบคอบมากขึ้นต่อไป
น่าเสียดายที่ในหลายเวทีการสนทนา เวทีประชุมต่าง ๆ แทนที่ขั้นตอนนี้จะช่วยให้เกิดความเข้าใจเหตุผลเบื้องหลังของผู้ที่มีมุมมองแตกต่าง และได้ข้อสรุปที่บูรณาการความแตกต่างได้อย่างกลมกลืน กลับกลายเป็นเวทีที่คล้าย ๆ กับ มีการทะเลาะวิวาท เมื่ออีกฝ่ายเห็นไม่ตรงกับตนเอง ก็ไม่ยอมรับ แต่พยายามดึงดันเพื่อให้ผู้อื่นคล้อยตามความคิดของตน ทั้ง ๆ ที่บางประเด็นที่เห็นแตกต่างมีเหตุมีผล ที่ดีกว่า ส่งผลให้การสนทนาต้องหยุดชะงักกลางครัน ไม่สามารถดำเนินการจนได้ข้อสรุปร่วมที่ทุกฝ่ายพึงพอใจได้
ดังนั้น เพื่อทำให้ขั้นตอนนี้ดำเนินการไปได้อย่างราบรื่น เราจำเป็นต้องยึดหลัก อารยถกแถลง
อารยถกแถลง หมายถึง การนำมุมมองที่แตกต่างมาร่วมกันถกแถลง เพื่อให้ประเด็นสนทนาเกิดความชัดเจน ลึกซึ้ง และครบถ้วน โดยมีหลักปรัชญาสังคมอารยะกำกับการถกแถลง
ปรัชญาสังคมอารยะ เป็นปรัชญาสำหรับการจัดระเบียบสังคมที่ทุกฝ่ายจะอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขและสงบสันติ โดยการจัดระเบียบสังคมเรื่องต่าง ๆ จะยึดหลัก เสรีภาพที่พึงประสงค์ เสมอภาคที่พึงประสงค์ และภราดรภาพที่พึงประสงค์
ในการถกแถลงก็เช่นกันจำเป็นต้องถกแถลงโดยมีปรัชญาอารยะกำกับ นั่นคือ ต้องให้ทุกฝ่ายได้ร่วมถกแถลงนำเสนอมุมมองที่แตกต่าง วิพากษ์มุมมองที่ตนอาจไม่เห็นด้วย อย่างมีการเคารพในเสรีภาพของแต่ละปัจเจก ให้ความเสมอภาคเท่าเทียมโดยไม่จำกัดว่าอยู่ในตำแหน่งใด และอยู่บนฐานของภราดรภาพ หรือมีความรู้สึกของความเอื้ออาทร เหมือนพี่เหมือนน้อง ไม่ได้เป็นศัตรูคู่อาฆาตกัน ทำให้ทุกฝ่ายเปิดใจรับฟังข้อถกแถลงที่แตกต่างของกันและกัน อันนำไปสู่ความเข้าใจกันอย่างลึกซึ้ง ครบถ้วนทุกมุม ในประเด็นสนทนา
ถกแถลงอย่างมีเสรีภาพที่อารยะ ในหลายสังคม ผู้มีอำนาจ มีตำแหน่งเหนือกว่า มักปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกของผู้ที่ภายใต้หรือมีตำแหน่งต่ำว่า และมักยึดความคิดของตนเองเป็นหลักว่า ดีกว่า ถูกต้องกว่า เป็นจริงมากกว่า ส่งผลให้ไม่ได้ข้อสรุปจากการถกแถลงที่รอบคอบและเกิดประโยชน์สูงสุด อีกทั้ง ยังอาจสร้างความไม่พอใจที่รุนแรงได้ ในทางตรงกันข้าม หากเปิดโอกาสให้ทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้อง มีเสรีภาพในการถกแถลงบนฐานข้อเท็จจริง ได้ถกแถลงอย่างเปิดกว้างและเป็นอิสระ ทุกฝ่ายเปิดใจรับฟังกัน ทั้งเหตุผลสนับสนุนและคัดค้าน ทั้งผลกระทบด้านบวกและลบ ทั้งที่ตนเองเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ย่อมนำไปสู่ข้อสรุปที่ดีที่สุด
ถกแถลงอย่างมีความเสมอภาคที่อารยะ การถกแถลงต้องให้ความสำคัญกับ เสียงส่วนน้อย เท่ากับ เสียงส่วนใหญ่ เพราะเราพิจารณาที่เหตุผลข้อเท็จจริง ไม่ใช่พวกมากลากไป เสียงส่วนใหญ่ที่เห็นแก่ประโยชน์พวกพ้อง อาจไม่มีค่าเท่ากับเสียงของนักวิชาการคนเดียว ที่เผยแพร่งานวิจัยที่เชื่อถือได้ ดังนั้น การถกแถลงที่อารยะ จึงต้องให้ความสำคัญกับคนที่เกี่ยวข้องในวงสนทนาอย่างเสมอภาค โดยให้เกียรติ และเห็นคุณค่าคนทุกคน ทุกกลุ่ม ได้มีโอกาสถกแถลงร่วมกัน โดยไม่มีวาระซ่อนเร้น ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน แต่ทำทุกอย่างเพื่อสิ่งที่ดีที่สุดต่อส่วนรวม
ถกแถลงอย่างมีภราดรภาพที่อารยะ ถกแถลง ไม่ใช่ ถกเถียง จึงไม่ได้มุ่งหมายเพื่อเอาชนะ แต่เพื่อให้เกิดความเข้าใจอันดีระหว่างกัน ไม่ได้มุ่งหมายเพื่อนำไปสู่ความขัดแย้ง แต่มุ่งหมายเพื่อนำไปสู่ความร่วมมือ และการหาทางออกที่ดีที่สุดร่วมกัน ดังนั้น ในวงสนทนาจึงไม่มีใครมองใครเป็นศัตรู แต่มองกันเป็นพี่น้อง เป็นเพื่อน เป็นญาติ เป็นคนในสังคมเดียวกัน เป็นมนุษย์ในโลกใบเดียวกัน จึงมุ่งถกแถลงด้วยความหวังดีต่อทุกฝ่าย ด้วยความจริงใจและเห็นแก่ประโยชน์ของทุกฝ่ายร่วมกัน
การถกแถลงที่อารยะมุ่งหมายเพื่อให้เกิดการถกเถียง การพินิจพิจารณาในแง่มุมที่แตกต่าง เพื่อค้นหาข้อสรุปที่ดีที่สุดร่วมกันได้ โดยตระหนักว่า เราสามารถกำหนดอนาคตที่ดีกว่าร่วมกันได้ แม้เราจะมีมุมมองความคิดที่อาจไม่เหมือนกันเลยก็ตาม
ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com
Catagories:
Tags:
Post date:
Tuesday, 19 November, 2013 - 14:07
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
คนไทยยุคใหม่ ดี เก่ง กล้า!
Total views: อ่าน 1,729 ครั้ง
สร้างเยาวชน “ดี เก่ง กล้า” เพื่อการสร้างชาติ
Total views: อ่าน 7,495 ครั้ง
อารยสามัคคี: พลังสามัคคีบนฐานความดี ความงาม ความจริง
Total views: อ่าน 65,449 ครั้ง
อารยพิจารณา : รอบคอบ เพื่อผลดียั่งยืน
Total views: อ่าน 11,974 ครั้ง
อารยาธิปไตย: ประชาธิปไตยบนฐานธรรมาธิปไตย
Total views: อ่าน 6,543 ครั้ง