ทำงานดึกแบบไม่อ้วน ไม่เพลีย
โลกวันนี้วันสุข
คอลัมน์ : HR Tips
คนทำงานจำนวนไม่น้อยประสบกับปัญหาสุขภาพตามมาภายหลัง เพราะไม่รู้วิธีเตรียมพร้อม ปรับตัวให้เหมาะสมที่จะทำงานช่วงกลางคืน รายงานวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่า การทำงานดึกมีผลต่อสุขภาพ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากพฤติกรรมอันไม่เหมาะสมของคนทำงาน
แอนเดรีย สเปธ แห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ได้ทำการวิจัยด้านการนอนหลับและนาฬิกาชีวภาพ โดยนำคนมากินนอนกันอยู่ในห้องวิจัยได้รับอาหารในแต่ละมื้อตามเวลาที่กำหนดและสามารถรับประทานอะไรเพิ่มเติมในช่วงเวลาอื่นๆได้ แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้ออกกำลังกาย และถูกจำกัดให้นอนได้เพียง 4 ชั่วโมง เป็นระยะเวลา 5 คืนติดต่อกัน ผลปรากฏว่าน้ำหนักขึ้นมากกว่าผู้ที่ถูกควบคุมให้นอนเป็นเวลา 10 ชั่วโมงในแต่ละคืน
การวิจัยพบว่า การที่น้ำหนักเพิ่มขึ้นนั้นเกิดจากปริมาณแคลอรีที่บริโภคอาหารและเครื่องดื่มเข้าไปในช่วงการอดนอน อีกทั้งอัตราส่วนการดูดซึมแคลอรีจากไขมันในช่วงดึกยังสูงกว่าช่วงเวลาอื่นของวันอีกด้วย กล่าวง่ายๆก็คือ ยิ่งนอนน้อย ยิ่งกินมาก ยิ่งอ้วนเร็ว
ดังนั้น แม้เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงการทำงานตอนกลางคืนได้ แต่เราสามารถดูแลตัวเองให้มีสุขภาพที่ดีได้ อาทิ
ยิ่งดึกมาก ยิ่งกินน้อย
จำไว้ว่าเรื่องอาหารการกินสำคัญมาก แม้ว่าจะต้องทำงานดึก เราก็ควรรับประทานอาหารให้เป็นเวลา และเป็นอาหารที่มีแคลอรีไม่สูง เพราะเราไม่ได้ใช้พลังงานมาก และหากรู้สึกหิวช่วงกลางคืนให้ดื่มน้ำมากๆ รับประทานผลไม้ที่มีน้ำตาลน้อย หรือดื่มนมจืดไขมันต่ำ รวมทั้งหาเวลาเล็กน้อยในการยืดเส้นยืดสาย ออกกำลังกายบ้าง ทำให้เหมือนกับอยู่ในช่วงเวลาปรกติ ย่อมจะเกิดความรู้สึกที่ดีขึ้นได้
ปรับนาฬิกาชีวิต หลับ ให้สนิท
คือการปรับนาฬิกาชีวิตของเราให้เหมือนกับอยู่อีกซีกโลกหนึ่ง ซึ่งเวลากลางวันกลางคืนสลับกับคนอื่นๆ ทั้งนี้ การทำงานดึกไม่จำเป็นต้องทำลายสุขภาพ เสมอไป หากเราเรียนรู้ที่จะปรับตัว ควบคุมพฤติกรรมให้เหมาะสม หากเราควบคุมการรับประทานและการนอน หลับของเราได้ ไม่ว่าจะทำงานเวลาใด สุขภาพของเราย่อมดีได้เสมอ
ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : http://charlotte.metrosotherwoman.com/wp-content/uploads/2011/03/businessman-working-late-jpg-300x196.jpg