กับดักของสังคมแห่งความมั่งคั่ง

เดลินิวส์
คอลัมน์ ?แนวคิด ดร.แดน?

นับเป็นเวลากว่า 30 ปีแล้วที่ผู้นำของจีนได้ตระหนักถึงปัญหาความยากจนในประเทศ ในปี 2522 เติ้งเสี่ยวผิงได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาประเทศไปสู่ความทันสมัย โดยประกาศนโยบายสร้างสังคมที่มั่งคั่ง (Xiaokang society) ที่ซึ่งพลเมืองจะสามารถดำรงชีวิตอยู่อย่างสะดวกสบายมากพอโดยไม่ต้องกังวลอยู่กับการดิ้นรนต่อสู้ในแต่ละวันเพื่อความอยู่รอด

แต่ดูเหมือนว่าความพยายามในการสร้างความมั่งคั่งของชนชั้นนำของจีน กลับทำให้ประเทศจีนติดกับดักของสังคมแห่งความมั่งคั่ง ดังแนวคิดของ J.K. Galbraith ในหนังสือเรื่อง ?The Affluent Society? ที่ตีพิมพ์ในปี 2501 ซึ่งเป็นบทวิพากษ์กรอบความคิดที่มุ่งสนใจการขยายตัวของ GDP และการผลิตของสหรัฐฯ โดยตั้งคำถามว่า GDP อาจไม่ทำให้คุณภาพชีวิตเพิ่มขึ้น


แหล่งที่มาของภาพ : http://interactyx.com/wp-content/uploads/2012/04/Trap.jpg

การติดกับดักของสังคมแห่งความมั่งคั่งของประเทศจีนสะท้อนให้เห็นได้จากอาการต่างๆ ดังนี้

ประการแรก ชนชั้นนำของจีนมุ่งความสนใจไปที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อรักษาอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อสนับสนุนการส่งออก การกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำเพื่อกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เป็นต้น

ประการที่สอง ความไม่เท่าเทียมกันเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรง แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนทำให้ประเทศจีนเปลี่ยนจากประเทศที่มีความเท่าเทียมกันมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก กลายเป็นประเทศที่มีช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยมากกว่าบางประเทศที่ระบบเศรษฐกิจเป็นแบบทุนนิยมอย่างเช่นสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของจีน โดยเฉพาะการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้นของการพัฒนาระหว่างเมืองกับชนบท และระหว่างมณฑลฝั่งตะวันออกและมณฑลฝั่งตะวันตก

ความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นส่งผลทำให้เกิดความขัดแย้งทางสังคมมากขึ้น ยืนยันได้จากตัวเลขการประท้วงที่รุนแรงที่มีผู้ชุมนุมมากกว่า 500 คน เพิ่มขึ้นจาก 8,700 ครั้งในปี 2536 เป็น 87,000 ครั้งในปี 2548 และ 180,000 ครั้งในปี 2554 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะวิกฤตการเงินโลกซึ่งทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนชะลอตัวลง โดยในไตรมาสที่สองของปีนี้ GDP ของจีนขยายตัวเหลือเพียงร้อยละ 7.6 ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2552 ทำให้แรงงานชาวจีน 20 ล้านคนกลายเป็นผู้ว่างงาน สถานการณ์เช่นนี้ทำให้ความขัดแย้งทางสังคมยิ่งมีแนวโน้มปรากฏชัดเจนมากขึ้น

ประการที่สาม การเพิ่มขึ้นของความต้องการบริโภคสินค้าสาธารณะ (public goods) เช่น ระบบบำนาญ สาธารณสุข การศึกษา เป็นต้น ซึ่งเป็นผลจากการที่แรงงานส่วนใหญ่ไม่ได้รับการคุ้มครองทางสังคม โดยเฉพาะแรงงานอพยพจากชนบทเข้ามาหางานทำในเมืองเพื่อเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญของภาคการผลิตเพื่อส่งออกสินค้าราคาถูก ในขณะที่ระบบสวัสดิการสังคมยังไม่ครอบคลุมไปถึงแรงงานกลุ่มนี้ ในทางตรงข้ามระบบหูโข่ว (hukou system) ซึ่งผูกเกษตรกรไว้กับที่ดินและจะตัดสิทธิทางสังคมทั้งหมดหากพวกเขาออกไปหางานใหม่ ทำให้แรงงานอพยพไม่มีสิทธิมีบ้าน หรือได้รับการศึกษา หรือเข้าถึงระบบสุขภาพ และได้รับค่าจ้างในระดับอยู่รอดเท่านั้น

ประการที่สี่ การใช้จ่ายสำหรับการพัฒนาที่มากเกินไป โดยเฉพาะการลงทุนในโครงการที่ไร้ประโยชน์มากกว่าการลงทุนที่จำเป็นในการสร้างสวัสดิการ ทั้งนี้ปัจจัยหนึ่งที่สนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจของจีน คือแหล่งเงินทุนราคาถูกสำหรับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ โดยธนาคารของรัฐได้ให้สินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ทำให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงเงินทุนที่มีต้นทุนต่ำสำหรับการลงทุนเพื่อเก็งกำไร ซึ่งแม้ว่าได้ทำให้ GDP ขยายตัว แต่ก็ทำให้เกิดการสร้างภูมิทัศน์ของเมืองอย่างอีลุ่ยฉุยแฉก เช่น อาคารหน่วยงานรัฐที่โอ่อ่า โรงงานที่ไม่มีกิจกรรมการผลิต และโรงแรมที่ว่างเปล่า

ข้อถกเถียงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาอยู่ในประเด็นที่ว่า ทำอย่างไรจีนจึงจะออกจากกับดักที่เกิดจากความมั่งคั่ง

แนวคิดของผู้ที่อยู่ฝ่ายซ้ายได้เรียกร้องแนวทางในการกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศเพื่อขจัดสาเหตุของความไม่สงบทางสังคม โดยแนวทางสำคัญคือการเพิ่มอัตราค่าจ้างแรงงาน การยกเลิกการอุดหนุนการส่งออก การจัดให้เข้าถึงบริการทางสังคม การปฏิรูประบบหูโข่ว และยกเลิกมาตรการแทรกแซงทางการเงินโดยการกำหนดอัตราดอกเบี้ยต่ำแบบแปลกปลอม

แต่ผู้ที่อยู่ฝ่ายขวามองว่าข้อเสนอของฝ่ายซ้ายจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อผลประโยชน์หลักของจีน และทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนชะลอตัวลง นักคิดฝ่ายขวาจึงพยายามแสวงหาหนทางสร้างความมั่งคั่งของจีนในแบบที่ยอมรับได้มากขึ้น เช่น การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การส่งเสริมให้ธุรกิจขยายไปสู่อุตสาหกรรมต้นน้ำของสายโซ่แห่งคุณค่า และการพัฒนานโยบายที่สามารถสร้างความชอบธรรมให้กับความเหลื่อมล้ำซึ่งมีความจำเป็นในการขับเคลื่อนความก้าวหน้า เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอของฝ่ายขวายังไม่ได้สะท้อนถึงการแก้ไขที่สาเหตุของปัญหาความไม่สงบอย่างแท้จริง

เมื่อพิจารณาสถานการณ์ของจีน ในบางแง่มุมดูเหมือนมีความคล้ายคลึงกับสถานการณ์ของไทย ซึ่งมีความขัดแย้งรุนแรงทางการเมืองและสังคม โดยสาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการพัฒนาอย่างไม่เท่าเทียมและความเหลื่อมล้ำในสังคม แต่ดูเหมือนว่าชนชั้นนำของไทยยังไม่ก้าวพ้นไปจากความขัดแย้งเฉพาะหน้า และไม่ได้มุ่งแสวงหาหนทางในการแก้ไขที่สาเหตุที่แท้จริงของปัญหาความขัดแย้งนั่นคือความเหลื่อมล้ำ เมื่อเป็นเช่นนี้ คงอีกนานที่ประเทศไทยจะก้าวพ้นจากกับดักของสังคมแห่งความมั่งคั่ง

 

ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
Catagories: