ประโยชน์ของการที่กรุงเทพควรจะเป็นมหานครของเอเชียในบางมิติ
ในการตอบคำถามนี้ ผมคิดว่าเราควรทำเข้าใจเสียก่อนว่า หากปราศจากนามธรรมและรูปธรรม(ว่าจะเป็นมหานครอะไร?) การพัฒนาจะไร้ทิศทาง เพราะนามธรรมที่ไม่มีรูปธรรม จะขาดความกระจ่างแจ้ง ไม่สามารถปฏิบัติให้เห็นได้ แต่รูปธรรมที่ไม่มีนามธรรม จะทำให้การปฏิบัติไม่ตอบโจทย์ที่แท้จริง ขาดความยืดหยุ่นในการปฏิบัติ หรืออาจมีการปฏิบัติมีความขัดแย้งกันเอง
ดังนั้นการจะปฏิบัติสิ่งใดควรเริ่มจากหลักปรัชญาก่อน ถ้าหลักปรัชญาชัดเจน อย่างอื่นที่ตามมาจะมีความชัดเจนขึ้น เกิดการไหลไปที่หลักคิด หลักวิชา สู่หลักการ และหลักปฏิบัติในที่สุด ซึ่งเป็นทฤษฎีที่ผมคิดและขอเรียกว่า ?ทฤษฎีหลักหมุด? กล่าวคือ การจะคิดภาคปฏิบัติได้ดี ควรเริ่มจากหลักปรัชญา หลักคิด หลักวิชา หลักการ หลักปฏิบัติ โดยบทความนี้จะนำเสนอเพียง 3 หลักแรกก่อน ดังต่อไปนี้
1.หลักปรัชญา คือ แก่นสารัตถะที่ลึกซึ้ง เป็นหลักในการเลือก ตัดสิน หรือแยกแยะว่า ภายใต้สิ่งที่เรากำลังสนใจนั้น คุณค่าที่แท้คืออะไร หรืออะไรดี อะไรงาม อะไรจริง และอะไรสำคัญ อะไรคือเรื่องใหญ่ อะไรคือเรื่องย่อย
หากถามว่า ทำไมเราต้องพัฒนาเป็นมหานครของเอเชีย? อะไรคือคุณค่าของการเป็นมหานครของเอเชีย? ผมคิดว่าไม่ใช่เพียงการมีชื่อเสียงโด่งดังในระดับโลก การเอาชนะประเทศเพื่อนบ้าน ความเจริญทางเศรษฐกิจ หรือความเจริญทางวัตถุ ฯลฯ
แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในการพัฒนา คือ ผลประโยชน์และความอยู่รอดของชาติในระยะยาว เป็นผลประโยชน์ของส่วนรวมหรือคนทุกกลุ่มได้รับร่วมกัน โดยต้องเริ่มจากการมีอุดมการณ์แห่งชาติร่วมกัน เพื่อกำหนดวิสัยทัศน์ นโยบาย วาระแห่งชาติและผลประโยชน์แห่งชาติร่วมกันให้ได้
2.หลักคิด คือ แก่นความคิด ที่งอกออกมาจากหลักปรัชญา เป็นระบบความคิด กระบวนทัศน์ หรือกรอบความคิดในเรื่องที่เรากำลังสนใจ
จากหลักปรัชญาข้างต้น เราต้องการเป็นมหานครของเอเชีย โดยยึดผลประโยชน์ของชาติและความอยู่รอดในระยะยาว มีหลักคิดที่อยู่เบื้องหลัง เช่น
2.1 การเป็นมหานครของภูมิภาคช่วยเพิ่มผลประโยชน์ของชาติ ได้แก่
(1) การเป็นมหานครช่วยดึงดูดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ที่นำไปสู่การพัฒนา ซึ่งขณะนี้เป็นโอกาสดีของประเทศตะวันออก เนื่องจากมหาอำนาจทางเศรษฐกิจทางตะวันตกอยู่ในช่วงขาลงทางเศรษฐกิจ ทำให้นักลงทุนซึ่งแสวงหาผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงกว่า จึงหันมายังประเทศตะวันออกมากขึ้น เช่น จีน อินเดีย ประเทศในอาเซียน เป็นต้น ไทยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียน จึงได้รับโอกาสดีที่จะดึงดูดการค้าและการลงทุนจากทั่วโลก
การเป็นมหานครหรือเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม นับเป็นจุดเชื่อมต่อในการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่อื่นได้สะดวก จะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้นักลงทุนให้ความสำคัญกับไทยมากขึ้น
(2) การเป็นมหานครหรือเมืองศูนย์กลาง ทำให้เกิดอิทธิพลต่อประเทศรอบข้าง ทำให้มีอำนาจต่อรองในเวทีนานาชาติมากขึ้น ด้วยเพราะประเทศไทยเป็นประเทศเล็ก จึงไม่มีพลังในการต่อรองมากนักในเวทีโลก การสร้างอำนาจหรือรวมพลังผ่านการเป็นมหานคร จะทำให้เกิดการพึ่งพาจากรอบข้าง เสมือนเป็นการสร้าง soft power ทำให้เกิดพลังกลุ่ม ที่ช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองในเวทีสากลมากขึ้น
2.1 การเป็นมหานครช่วยสนับสนุนให้อารยธรรมประเทศเกิดความรุ่งเรืองมากขึ้น เพราะอารยธรรม หมายถึง สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเป็นรูปธรรมหรือนามธรรม ที่เจริญถึงจุดสูงสุด อารยธรรมเจริญรุ่งเรืองได้ด้วย 5 องค์ประกอบเป็นอย่างน้อย คือ อารยะทางความเป็นอยู่ อารยะทางความมั่นคงปลอดภัย อารยะทางเศรษฐกิจ อารยะทางความรู้และเทคโนโลยี และอารยะทางคุณธรรม หากต้องการให้เมืองสามารถพัฒนาไปได้ไกลในระยะยาว การพัฒนาเมืองให้เป็นมหานครจึงเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งในการสร้างประเทศให้เป็นอารยะ
3.หลักวิชา คือ ความรู้ที่เป็นหลักของแต่ละวิชา ที่สั่งสมและพัฒนาจากต่อหลักคิด การพัฒนาเมืองให้เป็นมหานคร เพื่อผลประโยชน์ของชาติและความอยู่ในระยะยาว อาจเกี่ยวข้องกับหลักวิชาในหลายด้าน หลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านสถาปัตยกรรม เช่น การวางผังเมือง ด้านกฎหมายเพื่อวางกฎระเบียบในการอยู่ร่วมกัน การค้าและการพาณิชย์ หรือด้านวิศวกรรม เช่น การก่อสร้าง การคมนาคมขนส่ง โครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น
ในมุมมองวิชาเศรษฐศาสตร์ การจะเลือกพัฒนาไปเป็นมหานครในด้านใด สามารถกำหนดทิศทางการพัฒนาได้ โดยขึ้นอยู่กับ 2 ส่วน คือ (1) รัฐนำ (State-led) และ (2) กลไกตลาดนำ (Laissez-faire) ซึ่งโดยกรณีทั่วไป ผมเชื่อว่าการปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดนั้นจะส่งผลดีมากกว่าการที่รัฐเข้าไปแทรกแซงตลาด แต่ในกรณีนี้ ผมคิดว่าประเทศไทยเป็นประเทศเล็ก ทรัพยากรจำกัด จึงควรกำหนดยุทธศาสตร์การเป็นมหานครอย่างเจาะจง ไม่ควรกระจายทรัพยากรไปลองผิดลองถูกอยู่นานตามกลไกตลาด แต่ที่สำคัญคือควรกำหนดยุทธศาสตร์แต่โดยมีการวิจัยเป็นตัวนำ
จากประสบการณ์ในอดีต การที่รัฐบาลเลือกสนับสนุนบางอุตสาหกรรมหรือบางบริษัท มีตัวอย่างทั้งที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลว ซึ่งอาจทำให้รัฐสูญเสียงบประมาณจำนวนมหาศาล ตัวอย่างกรณีที่ล้มเหลว เช่น รัฐบาลอินโดนีเซียพยายามพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องบินแห่งชาติ (National Airplane Industry) หรือรัฐบาลฝรั่งเศสพยายามสนับสนุนโครงการ Concorde (โครงการเครื่องบินโดยสารความเร็วเหนือเสียง) เป็นต้น
ส่วนกรณีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ เช่น รัฐบาลไต้หวันประสบความสำเร็จในการพัฒนาอุตสาหกรรม Semiconductor หรือรัฐบาลเกาหลีใต้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาอุตสาหกรรมสารสนเทศ (Information Technology Industry) รวมถึงรัฐบาลฝรั่งเศสสนับสนุนอุตสาหกรรมพลังงานนิวเคลียร์และรถไฟความเร็วสูง และการร่วมทุนกันระหว่างฝรั่งเศส เยอรมนีและสเปน ในการผลิตเครื่องบินแอร์บัส
ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้การกำหนดทิศทางการพัฒนาของประเทศประสบความสำเร็จ คือ ผู้นำทางการเมืองมีความชัดเจนและความมุ่งมั่นในเป้าหมายการพัฒนา ระบบราชการมีสมรรถนะและเป็นอิสระ รัฐมีความร่วมมือใกล้ชิดกับเอกชน แต่ไม่ถูกครอบงำ และมีการกำหนดนโยบายอุตสาหกรรมแบบก้าวหน้า
จะเห็นว่า 3 ใน 5 หลักของทฤษฎีหลักหมุดข้างต้นมีความสอดคล้องกัน และมีความชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ จากนามธรรมสู่ความเป็นรูปธรรม เพื่อมุ่งสู่หลักการและหลักปฏิบัติที่ชัดเจน ครบถ้วน อันจะนำเสนอในบทความตอนต่อไป
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ