ภาคประชาชนเข้มแข็ง เมื่อประชาชน เป็น "พลเมือง"

จากการสำรวจ "ดัชนีประสิทธิผลภาคประชาชน" (People Sector Effectiveness Index ? PPE Index) ทั้งสองไตรมาสที่ผ่านมา ผลสำรวจพบว่า   ในภาพรวมผู้ตอบแบบสอบถามให้คะแนนภาคประชาชนค่อนข้างดีทุกด้าน โดยในไตรมาสแรกได้คะแนนร้อยละ 66.3  และในไตรมาสสองได้คะแนนเพิ่มเป็นร้อยละ 70.8 หรือขยับขึ้นร้อยละ 4.5 โดยพึงพอใจทั้งด้านประสิทธิผลการทำงาน และด้านการดำเนินงาน ส่วนใหญ่ให้ความเชื่อมั่นในการทำงานที่มีประสิทธิภาพ ตอบสนองได้ตรงความต้องการ รวดเร็ว สามารถทำงานบูรณาการร่วมกับภาคส่วนอื่นได้ดี ที่สำคัญ มีภาพลักษณ์ด้านบวก ทั้งมือสะอาด สร้างผลงาน วางใจได้     
 
จากผลสำรวจวิเคราะห์ได้ว่า ปัจจัยสำคัญอันนำมาซึ่งการได้คะแนนที่สูงขององค์กรภาคประชาชนนั้น อาจเนื่องมาจากการดำเนินงานที่มีพื้นฐานมาจาก "การเป็นเจ้าของปัญหาที่แท้จริง" อยู่ในแวดวงของปัญหาจริง พื้นที่จริง ได้รับผลกระทบจริง ฯลฯ  ส่งผลให้การดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูง เช่น ตัวอย่างองค์กรเอกชนที่คนไทยส่วนใหญ่นึกถึงเป็นอันดับต้น ๆ ในการทำงานด้านเด็กและเยาวชนนั้น อาทิ มูลนิธิกระจกเงา มูลนิธิเด็ก มูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี  รวมถึงกลุ่มอาสาสมัครต่าง ๆ  อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ฯลฯ องค์กรเหล่านี้ล้วนปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ปัจจุบันเ คงต้องยอมรับว่า การดำเนินงานขององค์กรภาคประชาชนนั้นยังอยู่ในแวดวงที่จำกัด จากกลุ่มคนจำนวนไม่มาก ซึ่งมีหัวใจที่ยิ่งใหญ่ เสียสละ อาสาตัวไม่เพิกเฉยต่อปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น แต่แม้ภาคประชาชนหล่านี้จะทุ่มเทเต็มที่ ร่วมมือกับภาครัฐที่รับผิดชอบหลักอย่างเต็มกำลัง ก็สามารถจัดการกับปัญหาหรือช่วยพัฒนาได้เพียงส่วนน้อยเท่านั้น เมื่อเทียบในระดับประเทศ
 
การเพิ่มจำนวนภาคประชาชนที่ยินดีเข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหาและพัฒนาร่วมกับภาครัฐ ในประเด็นต่าง ๆ จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นและสมควรได้รับการส่งเสริม 
 
ในมุมหนึ่ง เป็นเรื่องดีที่รัฐบาลชุดนี้ได้พยายามดำเนินการโครงการประชารัฐ เพื่อช่วยกันพัฒนาด้านต่าง ๆ โดยร่วมมือกันทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคเอกชน อย่างบูรณาการ ช่วยให้การขับเคลื่อนประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ  แต่ในอีกมุมหนึ่งที่อยากนำเสนอ คือ จำเป็นต้องสร้างความตระหนักใน ?ความเป็นพลเมือง? ให้กับประชาชนทุกคนในประเทศด้วย
 
ความตระหนักในการเป็น "พลเมือง" คือ การมีจิตสำนึกร่วมในความเป็นเจ้าของประเทศ สำนึกในสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบ ที่มีต่อตนเอง ครอบครัว สังคมและประเทศชาติ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว ไม่เพิกเฉยต่อประเด็นสาธารณะ ไม่มีใครเพิกเฉยคิดว่าธุระไม่ใช่ หรือรอแต่จะรับความช่วยเหลือจากรัฐบาลเท่านั้น แต่พร้อมที่จะมีส่วนช่วยเหลือสังคม ปกป้องอนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม มีความปรารถนามีส่วนร่วมรับผิดชอบและเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศ
 
ประเทศเดนมาร์ก เป็นตัวอย่างสำคัญที่ คนในประเทศมีความเป็นพลเมืองที่เป็นพลังในการขับเคลื่อนประเทศอย่างเข้มแข็ง  องค์การสหประชาชาติได้จัดอันดับให้ประเทศเดนมาร์กอยู่ในกลุ่มต้น ๆ ของประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก ตลอดมาติดกันหลายปีซ้อน  ประเทศเดนมาร์กเป็นตัวอย่างสำคัญที่น่าเรียนรู้เกี่ยวกับ ภาคประชาชนที่เข้มแข็ง เนื่องจากคุณภาพของพลเมืองที่เรียกได้ว่าเป็น ?กำลังของประเทศ? อย่างแท้จริง  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ?การคิดแบบมีส่วนร่วม? ของประชาชนชาวเดนมาร์ก ที่เน้นประโยชน์เพื่อสังคมส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว ทุกคนรู้ว่าอะไรดีไม่ดี อะไรคือหน้าที่ที่ต้องทำ อาทิ ความตระหนักในปัญหาสิ่งแวดล้อม การต่อต้านคอร์รัปชั่น ความร่วมมือในการเสียภาษีแม้ในอัตราที่สูง เพื่อการพัฒนาประเทศชาติโดยรวม และการจัดสวัสดิการสังคมให้แก่ผู้ด้อยโอกาสในสังคม การตรวจสอบและการสร้างจิตสำนึกของนักการเมือง ข้าราชการที่ทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใสตรวจสอบได้ ฯลฯ 
 
การสร้างจิตสำนึกแห่งความเป็นพลเมืองที่ถูกต้องให้แก่คนในชาติจึงเป็นเรื่องด่วนสำคัญที่ควรเร่งสร้างให้เกิดขึ้นโดยเร็ว  ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งระบบการศึกษา การจัดหลักสูตรการศึกษาที่ว่าด้วยบทบาทหน้าที่ความเป็นพลเมืองไทย สิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบ รวมทั้งสถาบันครอบครัวที่พ่อแม่ควรปลูกฝังให้ลูกเติบโตมาเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศ  รวมทั้งการผนวกกำลังเครือข่ายเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลกันในการสร้างคนไทยรุ่นใหม่ที่จะก้าวไปสู่สาขาอาชีพต่าง ๆ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ภาคประชาชน ให้มีจิตสำนึกแห่งความเป็นพลเมืองแท้ที่จริงเพื่อการขับเคลื่อนประเทศชาติไปข้างหน้าร่วมกัน
 
bangkok-today.com
คอลัมนิสต์ : ดร.แดน@สภาปัญญาสมาพันธ์
22 June 2016
 
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)