"ทักษะสังคม" พื้นฐานอยู่ร่วมกันอย่างมีสุข
"มนุษย์" เป็นสิ่งมีชีวิตที่ถูกสร้างมาไม่ใช่เพื่ออยู่อย่างเดียวดาย แต่เพื่อให้อยู่ร่วมกันเป็นสังคม การเรียนรู้ที่จะมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน พึ่งพาอาศัยกันและกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขจึงเป็นเรื่องจำเป็น
อย่างไรก็ตาม จากสภาพครอบครัวปัจจุบัน มักเป็นครอบครัวเดี่ยวที่พ่อแม่ไม่ค่อยมีเวลาให้กับลูกมากนักเนื่องจากความจำเป็นทางเศรษฐกิจ อีกทั้ง สภาพความห่างเหินแปลกแยกระหว่างคนในสังคมที่ไม่รู้จักแม้กระทั่งเพื่อนบ้านที่อยู่ติดกันโดยไม่เคยแม้แต่จะพูดคุยส่งผลให้เด็กส่วนใหญ่เติบโตมาอย่างโดดเดี่ยว มีทีวี เกม เป็นเพื่อน รวมทั้งในโลกยุคไซเบอร์หรือยุคไร้สายในปัจจุบันที่สร้างโลกเสมือนให้เด็ก ๆ ได้เข้าไปหาเพื่อนคุยแก้เหงาในโลกเสมือนนี้แทนโลกแห่งความจริง
สภาพต่าง ๆ เหล่านี้ส่งผลให้เด็กรุ่นใหม่ที่กำลังเติบขึ้นมานั้นมีทักษะในการเข้าสังคมที่ถดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญ ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเกิดเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าห่วงใยทั้งต่อตัวเด็กเองและต่อสังคมในภาพรวม ทั้งนี้เนื่องจากทักษะสังคมเป็นทักษะที่นำมาซึ่งความสุขและเป็นใบเบิกทางแห่งความสำเร็จในชีวิต เปิดประตูสู่มิตรภาพและโอกาสความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน นอกจากนี้ยังเป็นพื้นฐานสำคัญของการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขของคนในสังคม
การที่ลูกไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ไปตลอดชีวิต เมื่อเขาเติบโตขึ้นเขาจำเป็นต้องก้าวสู่โลกกว้างออกไปพบปะกับกลุ่มคนที่หลากหลาย ต่างเพศ ต่างวัย ต่างสถานะ ต่างเผ่าพันธุ์ ฯลฯ จึงจำเป็นต้องอย่างไรให้เขาสามารถเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับคนกลุ่มต่าง ๆ นี้ได้อย่างเหมาะสม ปลอดภัย มีความสุข รวมทั้งทำอย่างไรให้สามารถเข้าไปสู่สังคมภายนอกได้อย่างกลมกลืน เป็นที่ยอมรับ ไม่รู้สึกแปลกแยก หรือต้องการหนีกลับไปสังคมที่ตนอาศัยอยู่
ทักษะสังคมจึงเป็นทักษะสำคัญที่พ่อแม่ควรเตรียมความพร้อมให้กับลูกตั้งแต่อยู่ในวัยเยาว์เพื่อเป็นรากฐานสำคัญอันนำมาซึ่งความสุขความสำเร็จในชีวิตของลูกเมื่อเขาเติบโตขึ้นต่อไปในอนาคต โดยจากผลการศึกษาของสถาบันวิจัยนโยบายสาธารณชนของประเทศอังกฤษพบว่า การมีทักษะในการเข้าสังคมถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเหลือเด็กให้ประสบความสำเร็จในอนาคต แตกต่างความเชื่อที่ผ่านมาที่มองว่าความสามารถในการเรียนในชั้นเรียนเท่านั้นที่เป็นตัวบ่งชี้ความสำเร็จของเด็ก จากการสำรวจพบว่าเด็กอังกฤษจำนวนมากในปัจจุบันหากไม่อ่อนเกินวัยก็จะแก่เกินวัยไปเลย และขาดทักษะทางสังคมอย่างมาก
ทักษะสังคม (social skills)เป็นกลุ่มของทักษะต่าง ๆ ที่ใช้ในการปฏิสัมพันธ์และการสื่อสารระหว่างกันในสังคม อันได้แก่ ทักษะการสื่อสาร การพูด การฟัง การทำงานร่วมกันเป็นทีม ฯลฯ รวมทั้งความสามารถในการเข้าใจถึงสถานการณ์ต่าง ๆ ที่หลากหลาย กฎกติกาต่าง ๆ ในสังคม ความสามารถในการรู้จักผู้อื่น และการคิดคำนึงถึงคนรอบข้างอย่างเข้าอกเข้าใจ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความสัมพันธ์ในทางบวกให้เกิดขึ้น เป็นทักษะที่สำคัญและจำเป็นสำหรับทุกเพศทุกวัย ทั้งวัยเด็กที่ต้องการการพึ่งพา การเรียนรู้สิ่งใหม่ในชีวิต วัยรุ่นที่ต้องการการยอมรับจากเพื่อนฝูงคนรอบข้าง วัยผู้ใหญ่ที่เริ่มสร้างครอบครัวและต้องการความสำเร็จในหน้าที่การงาน ทักษะสังคมเป็นทักษะที่จำเป็นต้องได้รับการฝึกฝนอย่างเป็นระบบเช่นเดียวกับทักษะอื่น ๆ
การฝึกฝนทักษะสังคมสามารถเริ่มต้นได้ตั้งแต่วัยเด็ก โดยการสังเกต เรียนรู้ และเลียนแบบผ่านการปฏิบัติต่อกันและกันในครอบครัวพ่อปฏิบัติต่อแม่แม่ปฏิบัติต่อพ่อพ่อแม่ปฏิบัติต่อปู่ย่าตายายพ่อแม่ปฏิบัติต่อลูกอย่างไรการปฏิบัติต่อเพื่อนบ้านคนรอบข้าง ฯลฯรวมทั้งการเรียนรู้ที่จะอยู่เป็นสังคมภายใต้กฎระเบียบกติกาต่าง ๆ ภายในบ้าน นอกจากนี้ จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยโทรอนโตพบว่าทักษะทางสังคมสามารถพัฒนาได้จากการอ่านนิยาย ดูละคร ภาพยนตร์ กีฬา ด้วยเช่นกันโดยเรียนรู้จากตัวละครต่าง ๆ ที่มีความหลากหลาย ทั้งนิสัย และการปฏิบัติต่อกัน อย่างไรก็ตามในเด็กเล็กยังขาดความสามารถในการแยกแยะถึงความถูกผิด ความเหมาะสมของเนื้อหา พฤติกรรมของตัวละครได้ดีเท่าผู้ใหญ่ ดังนั้นพ่อแม่จึงควรเข้มงวดในเรื่องเนื้อหาและระวังในเรื่องการเลียนแบบให้มาก
การพัฒนาทักษะทางสังคมของเด็กจะดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง จนเข้าสู่สนามปฏิบัติจริงเมื่อลูกถึงวัยเข้าเรียน ldquo;โรงเรียนrdquo; จัดเป็นสนามฝึกภาคปฏิบัติชั้นดี ในการพัฒนาทักษะการเข้าสังคมของเด็ก ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการสร้างมิตรภาพความเป็นเพื่อน การปฏิบัติต่อครูอาจารย์ และการเรียนรู้จักกฎเกณฑ์ของโรงเรียน เช่น การแสดงความเคารพต่อคุณครู หรือผู้ที่มีอาวุโสกว่า การเข้าแถวเคารพธงชาติ การต่อแถวเข้าคิวเพื่อรับสิ่งของหรือซื้ออาหาร ขนม ฯลฯ เพื่อพัฒนาไปสู่การเคารพในกฎเกณฑ์ของสังคมต่อไปในอนาคต
โดยพ่อแม่สามารถเตรียมความพร้อมลูกในการพัฒนาทักษะทางสังคมที่โรงเรียนได้โดย
ริเริ่มลูกสร้างมิตรโดยการริเริ่มผูกมิตรและหยิบยื่นไมตรีจิตให้กับผู้อื่นก่อนเสมอทั้งต่อเพื่อนฝูง ครูอาจารย์เช่น การยิ้มอย่างจริงใจเข้าไปแนะนำตัวแสดงความรู้จักกับผู้อื่นที่เราอยากคบหาเป็นมิตรก่อนการเรียนรู้จักการเป็นผู้ให้มากกว่าที่จะเป็นผู้รับฝ่ายเดียว อย่างไรก็ตามหากพ่อแม่มีลูกที่ค่อนข้างมีบุคลิกขี้อาย ควรช่วยเหลือลูกโดยการเป็นผู้นำการสนทนาริเริ่มให้ลูกได้รู้จักกับเพื่อน ๆ หรือคุณครูก่อนจนคุ้นเคยและสามารถสานสัมพันธ์ต่อไปได้รวมทั้งควรเปิดโอกาสให้ลูกได้พบปะกับคนในกลุ่มใหม่ ๆ อยู่เสมอ ไม่เพียงแต่ที่โรงเรียน เช่นร่วมกิจกรรมเข้าค่ายฤดูร้อนพาลูกไปพบปะกับเพื่อนบ้านญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงของพ่อแม่ เป็นต้น
สานต่อมิตรภาพ หลังจากทำความรู้จักและเริ่มผูกมิตรแล้ว การสานต่อมิตรภาพให้ยั่งยืนต่อไปเป็นสิ่งสำคัญ การที่ลูกจะเป็นที่ถูกยอมรับจากเพื่อน ๆ นั้น อุปนิสัยใจคอ พฤติกรรมการแสดงออกของลูกต่อเพื่อนฝูงเป็นสิ่งสำคัญ เด็กบางคนขาดทักษะในด้านนี้มากเนื่องจากเอาความต้องการของตนเองเป็นที่ตั้ง โดยไม่ได้เรียนรู้ที่จะเข้าใจถึงจิตใจหรือความต้องการของคนรอบข้าง ส่งผลให้ไม่เป็นที่ยอมรับหรือเป็นที่ต้องการของเพื่อนในกลุ่ม นำมาซึ่งความเจ็บปวดและบาดเจ็บภายในใจ โดยที่ในบางครั้งลูกเองอาจไม่รู้ตัวและไม่ทราบจริง ๆ ว่าเพราะเหตุใดเพื่อน ๆ จึงพากันปฏิเสธหรือรังเกียจเขา
พ่อแม่จึงควรช่วยเหลือลูกให้เรียนรู้เรื่องนี้อย่างเป็นระบบโดยผ่านเหตุการณ์จริง หรือเหตุการณ์สมมติ เช่น ผ่านการเล่าเรื่องจากนิทานสอนใจ การยกตัวอย่างจากประสบการณ์จริง การสอนให้ลูกคิดถึงผู้อื่นโดยการเอาใจเขามาใส่ใจเรา แล้วร่วมกันสรุปเป็นหลักการสอนลูกในภาคปฏิบัติ ทั้งพฤติกรรมการแสดงออกทั้งคำพูดและการกระทำเพื่อพัฒนาทักษะสังคมด้านต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นจริงในชีวิตโดยอาจใช้อุปกรณ์ช่วยสอนเป็นตารางที่เรียกว่า T-Chart
กลุ่มทักษะสังคม | |
"เรื่องการทำงานเป็นทีม" | |
พฤติกรรมที่พึงประสงค์ | คำพูดที่พึงประสงค์ |
|
|
เพื่อฝึกฝนให้ลูกได้เรียนรู้จักทักษะสังคมในกลุ่มต่าง ๆโดยตัวอย่างที่ยกมาจากตารางข้างต้นเป็นกลุ่มทักษะสังคมในเรื่องของการทำงานเป็นทีม ซึ่งพ่อแม่สามารถนำไปใช้สอนลูกได้จริง อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรมในการปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างว่าสิ่งใดที่ควรพูดควรปฏิบัติ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันรวมทั้งเป็นพื้นฐานสำคัญของความสำเร็จในหน้าที่การงานต่อไปในอนาคตอีกด้วย
นอกจากนี้พ่อแม่ควรหมั่นสังเกตลูกอยู่เสมอถึงพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ในการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น อาทิลูกของเราเป็นเด็กที่ก้าวร้าว รุนแรง ชอบแกล้ง รังแกคนอื่นหรือไม่...ลูกเล่นกับเพื่อน ๆ เป็นหรือไม่ ... ลูกมักถูปฏิเสธจากเพื่อน ๆ ไม่ให้เข้าร่วมกลุ่มหรือไม่เพื่อสังเกตว่าเกิดมาจากสาเหตุใด อะไรเป็นจุดอ่อนที่ต้องรับการแก้ไข หรือลูกของเราอาจความผิดปกติบางอย่างแอบแฝงอยู่ เช่น ภาวะบกพร่องในการเรียนรู้ (Learning Disabilities)ออทิสติก สมาธิสั้น ฯลฯเพื่อหาแนวทางรักษาอย่างทันท่วงทีต่อไป
ทักษะสังคมเป็นทักษะสำคัญที่พ่อแม่ควรปลูกฝังให้เกิดขึ้นกับลูกของตนร่วมกับทักษะด้านอื่น ๆ เพื่อเป็นใบเบิกทางสำคัญสู่ความสุขความสำเร็จของลูกต่อไปในอนาคต รวมทั้งเพื่อการปฏิบัติต่อกันในสังคมอย่างถูกต้องเหมาะสมอันเป็นเหตุที่นำมาซึ่งความสงบสุขของสังคมในภาพรวม
Catagories:
Tags:
เผยแพร่:
แม่และเด็ก
เมื่อ:
2008-02-01
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
แชร์ไอเดีย นโยบายการจัดการยาบ้าออกจากสังคมไทย
Total views: อ่าน 43 ครั้ง
ค่าแรงขั้นต่ำ: ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการบริหารจัดการ
Total views: อ่าน 229 ครั้ง
การหมิ่นประมาท คือ ฆาตกรรมชื่อเสียง
Total views: อ่าน 208 ครั้ง
Passive Outcome
Total views: อ่าน 271 ครั้ง
เกียรติระบบ : Honour System สังคมให้เกียรติ หลู่เกียรติ ทอนเกียรติ ตู่เกียรติ
Total views: อ่าน 204 ครั้ง