ทำงานเก่ง เด่นกว่าเรียนดี
แหล่งที่มาของภาพ : http://www.trulia.com/pro/files/2013/04/iStock_000019078452Small.jpg
พนักงานคนนี้ จบระดับปริญญาโท แต่ทำงานไม่เป็นเลย แถมยังหยิ่ง ใครสอนอะไรไม่เคยฟัง...
หัวหน้าคนนี้ เรียนสูง จบสถาบันมีชื่อเสียง เข้าคอร์สอบรมต่าง ๆ มากมาย แต่ไม่มีศิลปะในการบริหารคน ลูกน้องลาออกกันเป็นว่าเล่น...
เรียนก็เก่งนะ แต่ไม่ค่อยมีไหวพริบ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไม่ได้ ไม่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ แบบนี้แทนที่จะช่วยแบ่งเบาภาระ กลับกลายเป็นเพิ่มภาระให้องค์กรอีก...
เสียงบ่นข้างต้นนี้ เกิดขึ้นในหลาย ๆ องค์กรที่รับพนักงานเข้ามา โดยคิดว่ามีวุฒิการศึกษาที่เหมาะสมกับลักษณะของงาน น่าจะสามารถทำงานตามบทบาทหน้าที่ที่รับผิดชอบได้ แต่แล้วก็ต้องผิดหวัง เพราะเกิดปัญหา ทำงานไม่ได้ ทำงานไม่เป็น ทำงานไม่ดี
เนื่องจากการอยู่ร่วมกันในสังคมขนาดใหญ่ เราไม่สามารถรู้จักแต่ละคนเป็นส่วนตัวได้ จึงจำเป็นต้องมีเครื่องมือที่ช่วยบ่งชี้ว่า คน ๆ นี้เป็นใคร จบการศึกษาจากที่ใด ในระดับใด มีความรู้ความชำนาญเรื่องใด โดยดูจาก ?การศึกษา? ของบุคคลนั้น ผู้ที่ผ่านการศึกษาและได้ใบรับรองจากสถาบันการศึกษา ย่อมเหมือนมี ?ใบผ่านทาง? ในการยอมรับของสังคม และได้รับ ?โอกาส? ต่าง ๆ ที่มากกว่าคนที่ไม่มีการศึกษา ..แต่ในความเป็นจริงไม่ได้หมายความว่า จะสามารถทำงานตามบทบาทหน้าที่ได้อย่างที่ควรจะเป็น
ดังนั้น เราจึงไม่ควรภูมิใจในการเป็นคนมีการศึกษา แต่เราควรภูมิใจเมื่อสามารถนำความรู้และประสบการณ์ต่าง ๆ ที่ได้รับจากสถาบันการศึกษา มาประยุกต์ใช้ในการทำงานได้จริง ทำให้เราเป็นคนที่ ทำงานได้ ทำงานเป็น ทำงานดี ซึ่งย่อมมีโอกาสก้าวหน้ามากกว่า
จากการที่ได้เคยร่วมงานกับทั้งคนไทย และคนในประเทศต่าง ๆ ผมพบว่า แม้คนไทยโดยพื้นฐานแล้วจะเป็นคนที่มีน้ำใจ ยินดีช่วยเหลือผู้อื่นแม้ไม่ใช่หน้าที่ แต่ในด้านการทำงาน แม้จะจบการศึกษาในระดับสูง แต่ยังมีลักษณะการทำงานที่ด้อยประสิทธิภาพ ซึ่งเราควรสำรวจตัวเองและแก้ไขหากมีลักษณะเช่นนี้ อาทิ
ชอบทำงาน ?ตามสั่ง? มากกว่า ?คิดเองทำเอง? คนทำงานไทยมักจะเคยชินกับทำงานตามคำสั่ง หรือทำงาน reactive - ทำงานตามหน้าที่ ทำพอให้งานเสร็จ ทำงานไปเรื่อย ๆ เป็นกิจวัตรประจำวัน มักทำให้ขาดการริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ขาดการวางแผนรองรับปัญหาที่อาจเกิดขึ้น ขาดความสามารถในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และเมื่อเกิดปัญหา มักจะไม่กล้าแก้ไขด้วยตนเอง แต่รอให้หัวหน้าเป็นผู้สั่งลงมาว่า จะให้ดำเนินการอย่างไร
ทางแก้ ฝึกทำงานแบบ proactive การทำงานตามสั่ง เท่ากับทำงานได้ไม่เต็มศักยภาพความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมา และองค์กรไม่ได้ประโยชน์จากเราอย่างเต็มที่ ทางที่ดีกว่าควรทำงานแบบ proactive มีความกระตือรือร้น พยายามทำงานให้สำเร็จด้วยตนเองภายใต้ขอบเขตที่ได้รับมอบหมาย เป็นการทำงานแบบ ?ช่วยคิด ช่วยทำ ช่วยแก้ปัญหา? โดยรับผิดชอบเหมือนเป็นเจ้าของ ทั้งคิดริเริ่มสร้างสรรค์ คิดวางแผน คิดแก้ปัญหา โดยใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้ได้ผลงานที่ดีที่สุด และองค์กรได้ประโยชน์สูงสุด
ชอบ ?เรียน? แต่ไม่ชอบ ?เรียนรู้? ด้วยตนเอง คนไทยชอบเรียนเพื่อให้ได้วุฒิ ได้ปริญญา แต่ไม่ชอบเรียนรู้ โดยเฉพาะเรียนรู้ด้วยตนเอง อาจเป็นเพราะระบบการศึกษาเรียนแบบท่องจำ ไม่ได้สอนให้เด็กเรียนรู้ด้วยตนเอง เด็กอ่านหนังสือน้อย ค้นคว้าน้อย มีความเข้าใจน้อย ส่งผลให้ ขาดความรู้ลึกซึ้งในงาน ขาดความรู้รอบตัว ขาดความกระตือรือร้น เรียนรู้เท่าที่จำเป็น ไม่ค่อยขวนขวายหาวิธีแก้ปัญหาด้วยตนเอง ชอบถาม/ฟัง มากกว่า ไม่ค่อยสนใจพัฒนาฝึกฝนจุดอ่อนของตนเอง และทำให้ไม่สามารถปรับตัวเปลี่ยนแปลงได้เอง
ทางแก้ ตั้งเป้าฝึกฝนตนเอง ? รู้ลึก รู้กว้าง รู้ไกล หากต้องการก้าวหน้าในการทำงาน การเรียนสูง ๆ มีความรู้เพิ่มขึ้น เป็นเรื่องดี แต่จะดีกว่า ถ้าเราเรียนรู้ที่จะทำงานให้ดีมากยิ่ง ๆ ขึ้นไปด้วย โดยการฝึกฝนตนเองให้มีทักษะต่าง ๆ ที่เอื้อต่อการทำงานให้มีประสิทธิภาพ อาทิ ทักษะการคิด การอ่าน การค้นคว้าเพื่อให้มีความรู้รอบตัว และความรู้ลึกซึ้งในการทำงาน ทักษะการทำงานเป็นทีม การทำงานเร็วอย่างมีประสิทธิภาพ การใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การริเริ่มสร้างสรรค์ ฯลฯ
ชอบใช้ ?อารมณ์? มากกว่า ?เหตุผล? การศึกษาไทยไม่ได้สอนให้เด็กคิดเป็น คิดอย่างมีเหตุมีผล และรู้จักใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ ส่งผลให้ขาดความสามารถในการวิเคราะห์ การตีความ มักใช้อารมณ์ความรู้สึก ในการตัดสินสิ่งต่าง ๆ มากกว่าการใช้เหตุผล เมื่อรับข้อมูลใด ๆ มา มักไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่กลับเชื่อจากแหล่งข่าวหรือเชื่อตามกระแส จึงเชื่อข่าวลือได้ง่าย ที่สำคัญ จำนวนไม่น้อยชอบทำตามอารมณ์ เมื่อมีสิ่งรบกวนใด ๆ เข้ามา จะขาดสมาธิทันที เช่น วันใดอารมณ์ดี ก็จะทำงานได้ดี แต่ถ้าวันใดอารมณ์เสีย จะแสดงอาการไม่อยากทำงาน โดยไม่สนใจว่า การทิ้งงานที่รับผิดชอบจะส่งผลเสียต่อองค์กรอย่างไร
ทางแก้ ฝึกคิดทบทวน หาเหตุผลในมุมกลับก่อนตัดสินใจ การตัดสินใจด้วยอารมณ์ โดยไม่ได้คิดอย่างมีเหตุผลรอบด้าน อาจส่งผลเสียต่อตัวเอง ต่อการทำงาน ต่อองค์กร ทางที่ดีกว่า ไม่ว่าเกิดเรื่องใด ๆ ก็ตาม ให้เราลองทบทวนความคิด ตรวจสอบด้วยเหตุผลว่า สิ่งที่เราคิดนั้นมันถูกต้องหรือไม่ มันส่งผลดีหรือไม่ มันส่งผลกระทบทางลบอะไรตามมาบ้าง และมันคุ้มหรือไม่ที่เราจะตัดสินใจเช่นนั้น ฯลฯ เพื่อให้เราตัดสินใจรอบคอบมากที่สุด แทนการระเบิดอารมณ์ออกมา
ปัญหาวุฒิการศึกษากับประสิทธิภาพการทำงานของคนไทย ยังน่าเป็นห่วงอยู่ เพราะในระบบการศึกษามักให้เรียนรู้แต่ในตำรา แต่ไม่ได้ฝึกฝนให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะต่าง ๆ ที่ช่วยให้สามารถใช้ชีวิตการทำงานได้อย่างดี มีประสิทธิภาพ ซึ่งแน่นอนว่า คงไม่มีองค์กรใด อยากรับคนที่เรียนเก่ง เรียนสูง แต่ทำงานไม่เป็นเข้ามาทำงาน ทุกองค์กรต่างต้องการคนที่ทำงานได้ ทำงานดี สร้างผลิตภาพได้มากที่สุด คนที่เป็น ?ตัวถ่วง? จึงต้องถูกกำจัดออกไปในที่สุด
ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com
Post date:
Tuesday, 10 February, 2015 - 13:53
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ทรัพยากรมนุษย์ ทุนมนุษย์ ศักยภาพมนุษย์ ในแนวคิด ดร.แดน
Total views: อ่าน 1,499 ครั้ง
บูรณาการวิทยาการเพื่อการพัฒนานวัตกรรมในศตวรรษที่ 21
Total views: อ่าน 2,336 ครั้ง
คิดเป็นระบบ Systematic Thinking ช่วยพัฒนาประเทศได้อย่างไร
Total views: อ่าน 4,267 ครั้ง
ความสัมพันธ์ของการศึกษากับการเป็นมหาเศรษฐี
Total views: อ่าน 2,080 ครั้ง
STEMMAD-CINDERELLA สร้างบุคลากรด้านนวัตกรรมเพื่อการสร้างชาติ
Total views: อ่าน 4,486 ครั้ง