ฮาร์วาร์ดแบบอย่างแห่งความสัตย์จริงทางวิชาการ
การศึกษาภาคฤดูใบไม้ร่วง ปี 2015 (Fall 2015) ระหว่างช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนธันวาคมที่กำลังจะถึงนี้เป็นก้าวแรกและเป็นก้าวสำคัญสำหรับฮาร์วาร์ดในการเริ่มต้นให้มีกฎแห่งเกียรติยศ หรือ Honor Code ด้านความซื่อสัตย์และสัตย์จริงทางวิชาการ (academic integrity) ภายในมหาวิทยาลัยอย่างจริงจัง ภายหลังจากที่มีการพัฒนากรอบความคิดและวางแผนดำเนินการมายาวนานกว่า 4 ปีก่อนหน้านี้ ฮาร์วาร์ดให้ความสำคัญกับกฎแห่งเกียรติยศด้านความซื่อสัตย์ทางวิชาการนี้อย่างมาก โดยถือเป็นเสมือนหัวใจของพันธกิจวิชาการ (heart of academic mission) ที่นักศึกษาระดับปริญญาตรีทุกคนของฮาร์วาร์ดต้องปฏิบัติตาม
การเริ่มต้นให้มีกฎแห่งเกียรติยศจะทำให้ฮาร์วาร์ดเป็นมหาวิทยาลัยอันดับที่ 7 ของมหาวิทยาลัยกลุ่มไอวี ลีก (Ivy league) หรือ มหาวิทยาลัยเอกชนเก่าแก่ของสหรัฐอเมริกา 8 แห่ง ที่ขับเคลื่อนให้มีกฎแห่งเกียรติยศด้านความซื่อสัตย์ทางวิชาการ เหลือเพียงมหาวิทยาลัยเยล (Yale University) แห่งเดียวเท่านั้นที่ยังไม่มีกฎแห่งเกียรติยศด้านความซื่อสัตย์ทางวิชาการนี้ในปัจจุบัน
ฮาร์วาร์ดพัฒนากฎแห่งเกียรติยศด้านความซื่อสัตย์ทางวิชาการมาอย่างต่อเนื่อง มีการสำรวจความคิดเห็นของคณาจารย์และนักศึกษาระดับปริญญาตรีฮาร์วาร์ด เพื่อนำมาพัฒนาปรับปรุงเป็นกฎแห่งเกียรติยศดังกล่าวนี้ โดยฮาร์วาร์ดมุ่งมั่นตั้งใจสร้างให้เป็นวัฒนธรรมแห่งความซื่อสัตย์ (culture of integrity) ภายในมหาวิทยาลัย อันมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาสภาพแวดล้อมทางวิชาการของมหาวิทยาลัยในยุคสมัยปัจจุบันและอนาคต
กฎแห่งเกียรติยศด้านความซื่อสัตย์ทางวิชาการของฮาร์วาร์ดถือเป็นความรับผิดชอบและต้องอยู่ในสายเลือดของนักศึกษาระดับปริญญาตรีฮาร์วาร์ดทุกคนที่จะต้องดำเนินตาม อันหมายถึง การมีคุณธรรมจริยธรรมในการผลิตผลงานวิชาการ อาทิ การไม่คัดลอกผลงานของผู้อื่น การใช้ข้อมูลที่มาจากแหล่งข้อมูลที่ถูกต้อง การใช้ข้อมูลที่มีความเหมาะสมและมีความโปร่งใสในการใช้ความคิดของผู้อื่นในงานเขียนของตน การไม่โกงข้อสอบ การไม่ขโมยความคิดของผู้อื่น การไม่ตีความคิดของผู้อื่นเสมือนเป็นความคิดของตน การไม่ปลอมแปลงข้อมูล เป็นต้น
แนวทางการขับเคลื่อนกฎแห่งเกียรติยศด้านความซื่อสัตย์ทางวิชาการภายในของฮาร์วาร์ดมีความน่าสนใจอยู่หลายประการ ดังนี้
ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน ที่ชื่อว่า คณะกรรมการแห่งความซื่อสัตย์ทางวิชาการ (Academic Integrity Committee: AI Committee) ประกอบด้วย คณาจารย์ นักศึกษา และบุคลากรมหาวิทยาลัย คณะกรรมการดังกล่าว มีการประชุมร่วมกันตั้งแต่การศึกษาภาคฤดูใบไม้ร่วง ปี 2010 เพื่อศึกษาสภาพแวดล้อมทางวิชาการของฮาร์วาร์ด และความเป็นไปได้ในการพัฒนากฎแห่งเกียรติยศดังกล่าวนี้ โดยคณะกรรมการทำงานร่วมกันอย่างหนัก ทั้งการทำสำรวจความคิดเห็นของคณาจารย์และนักศึกษาระดับปริญญาตรี การทบทวนกฎแห่งเกียรติยศของสถาบันการศึกษาอื่น การทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง การขอข้อมูลสะท้อนกลับจากคณาจารย์และนักศึกษาระดับปริญญาตรี รวมถึงกระบวนการขั้นตอนอื่น ๆ พัฒนามาจนกระทั่งเป็นกฎแห่งเกียรติยศที่พร้อมนำมาใช้ในการศึกษาภาคฤดูใบไม้ร่วง ปี 2015 ที่จะถึงนี้
ผลักดันให้เป็นข้อตกลงร่วมกัน คือ เป็นความตกลงร่วมกันของนักศึกษาระดับปริญญาตรีฮาร์วาร์ดในการนำกฎแห่งเกียรติยศดังกล่าวนี้มาใช้ โดยนักศึกษาระดับปริญญาตรีทุกคนจะต้องปฏิญาณตนว่าจะดำเนินตามแนวทางของกฎแห่งเกียรติยศด้านความซื่อสัตย์ทางวิชาการดังกล่าวนี้
การเริ่มต้นให้มีกฎแห่งเกียรติยศด้านความซื่อสัตย์ทางวิชาการของฮาร์วาร์ดมีส่วนสำคัญยิ่งต่อการปลูกฝังค่านิยมและทัศนคติที่ดีให้แก่นักศึกษา อันจะเป็นรากฐานสำคัญสำหรับนักศึกษาในการศึกษาต่อระดับที่สูงขึ้น และนำสู่การพัฒนาลักษณะนิสัยแห่งความซื่อสัตย์ในด้านอื่น ๆ ต่อไป
ประยุกต์สู่มหาวิทยาลัยไทย
ปัจจุบัน การให้นิยามคำว่า ?Integrity? ยังไม่มีคำแปลตรงตัวในภาษาไทย แต่ภาษาอังกฤษ ?Integrity? มาจากรากศัพท์คำวิเศษในภาษาลาติน Integer หมายความถึง ?ภาพรวมทั้งหมด? (Wholeness) แปลความได้ว่า คนที่มีความสัตย์จริงคือ ผู้ที่แสดงตัวตนของตนทั้งหมดได้อย่างสอดคล้องกัน ทั้งความคิด คำพูด และการกระทำ สอดคล้องกับความถูกต้องที่เขายึดถือ
ในบริบทดังกล่าวนี้ คนที่มีความสัตย์จริงจึงมิใช่คนที่พูดอย่างทำอย่าง แต่เป็นคนที่มีความซื่อสัตย์ต่อหลักธรรมที่ตนยึดถือ มีความผูกพันตัวอย่างสูงที่จะทำสิ่งที่ถูกต้อง รักษาคำมั่นสัญญา และไม่ทำลายความไว้เนื้อเชื่อใจที่ผู้อื่นมีต่อตนเอง เช่นเดียวกับประชาคมฮาร์วาร์ดที่เชื่อว่า ความไม่ซื่อสัตย์ทางวิชาการเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และแสดงออกเป็นการกระทำสะท้อนความเชื่อนั้นอย่างเปิดเผย
สถาบันการศึกษาของไทยควรเอาจริงเอาจังในการส่งเสริมความสัตย์จริงทางวิชาการดังกล่าวนี้ เริ่มตั้งแต่การไม่ยอมรับการกระทำไม่ซื่อสัตย์ทางวิชาการว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และแสดงออกเป็นการกระทำด้วยการต่อสู้อย่างจริงจังและเปิดเผยเช่นเดียวกับฮาร์วาร์ด อาทิ การเข้มงวดเอาจริงเอาจังในการตรวจสอบผลงานวิชาการของนักศึกษา การกำหนดบทลงโทษที่รุนแรงสำหรับการกระทำที่แสดงออกถึงความไม่ซื่อสัตย์ทางวิชาการ การให้รางวัลเชิดชูเกียรติแก่นักศึกษาที่ทำดี ที่ผลิตผลงานวิชาการของตนเองอย่างมีคุณธรรมจริยธรรม เป็นต้น อันเป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยพัฒนานักศึกษาให้มีความเป็นมืออาชีพในการผลิตผลงานวิชาการที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับระดับสากลต่อไป
ที่มา: สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์
ฉบับที่ 34 วันที่ 8-14 พฤษภาคม 2558
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
แหล่งที่มาของภาพ : http://assets4.bigthink.com/system/idea_thumbnails/57601/primary/inkyfingers.jpg?1420913972
Catagories:
Tags:
Post date:
Thursday, 21 May, 2015 - 13:58
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ทรัพยากรมนุษย์ ทุนมนุษย์ ศักยภาพมนุษย์ ในแนวคิด ดร.แดน
Total views: อ่าน 1,499 ครั้ง
บูรณาการวิทยาการเพื่อการพัฒนานวัตกรรมในศตวรรษที่ 21
Total views: อ่าน 2,336 ครั้ง
คิดเป็นระบบ Systematic Thinking ช่วยพัฒนาประเทศได้อย่างไร
Total views: อ่าน 4,268 ครั้ง
ความสัมพันธ์ของการศึกษากับการเป็นมหาเศรษฐี
Total views: อ่าน 2,080 ครั้ง
STEMMAD-CINDERELLA สร้างบุคลากรด้านนวัตกรรมเพื่อการสร้างชาติ
Total views: อ่าน 4,486 ครั้ง