เห็นแก่งาน ต้อง 'ไม่' เห็นแก่ตัว

     คนดี คือ คนที่เห็นแก่ส่วนรวม มากกว่า ส่วนตัว
     นิยาม ?คนดี? ในมุมมองของผมสรุปง่าย ๆ จะต้องเป็นคนที่ไม่เห็นแก่ตัว แต่คำนึงถึงประโยชน์ของผู้อื่น และประโยชน์ส่วนรวมในมุมที่กว้างที่สุดก่อนเสมอ
     หากทุกแวดวงวิชาชีพ คนทำงานทุกคนยึดนิยามคนดีเช่นนี้ สังคมจะน่าอยู่มากยิ่งขึ้น ค่านิยมการแข่งขัน เพื่อความสำเร็จโดยยึด มูลค่า เป็นหลัก เช่น องค์กรมุ่งทำกำไร ทำยอดขาย กินส่วนแบ่งตลาดให้มากที่สุด โดยไม่ใส่ใจประโยชน์หรือปกป้องคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคมากเพียงพอ หรือ คนทำงาน ทำเพื่อให้ตัวเองได้เงิน ได้ชื่อเสียง ได้ผลตอบแทนมากที่สุด และจะไม่ทำถ้าตัวเองไม่ได้ประโยชน์ โดยไม่ได้ดูว่าจะสร้างความเสียหายต่อผู้อื่นอย่างไร ฯลฯ ย่อมจะเปลี่ยนมาเป็นการคำนึงถึง คุณค่า ของสิ่งที่ทำมากยิ่งขึ้น เช่น ทำสิ่งที่ดี สิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม ไม่เอาเปรียบ ยึดมั่นในจรรยาบรรณ เพื่อประโยชน์ของทุกฝ่ายร่วมกัน

     คนดีจะเกิดขึ้นได้ต้องเริ่มจาก มี ?จิตสำนึกแห่งความเที่ยงธรรม? 
     เมื่อวันที่ 9 มกราคม ที่ผ่านมา (2558) เกิดเหตุมือปืนบุกจับตัวประกันในร้านขายของชำชาวยิว ไฮเปอร์ เคเชอร์ ชานกรุงปารีส ในช่วงเวลานั้น มีผู้สื่อข่าวของสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นแห่งหนึ่ง ได้แอบเข้าไปในร้านขณะเกิดเหตุ และได้เผยแพร่ออกอากาศ เปิดเผยที่ซ่อนของตัวประกัน 6 คน ที่หลบซ่อนอยู่ ไม่เพียงเท่านี้ ผู้สื่อข่าวยังติดต่อกับคนร้ายโดยตรง ทั้ง ๆ ที่ควรเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
     จากเหตุการณ์นี้ ผมขอตั้งคำถามให้ผู้อ่านลองคิด...
     ท่านคิดว่า สิ่งที่ผู้สื่อข่าวและสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นแห่งนี้ทำ ถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ ?
     สมมติว่า ถ้าท่านเป็นผู้สื่อข่าวคนนี้ ท่านจะทำเช่นเดียวกันหรือไม่ เพราะเหตุใด?
     ในทางกลับกัน สมมติท่านเป็น 1 ใน 6 ตัวประกันที่หลบซ่อนอยู่ จะรู้สึกอย่างไรกับการกระทำของผู้สื่อข่าวรายนี้?
     แม้ว่า ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าว ตัวประกันทั้ง 6 รายจะปลอดภัย แต่ก็ไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันว่า การกระทำของผู้สื่อข่าวรายนี้ถูกต้อง ผู้รอดชีวิตตัดสินใจยื่นฟ้องสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นแห่งนี้ โดยให้เหตุผลว่า การทำงานของสื่อในช่วงเวลานั้น ทำให้ผู้อื่นตกอยู่ในอันตรายโดยเจตนา ละเลยต่อขั้นตอนพื้นฐาน เพราะเปิดเผยที่ซ่อนของเหยื่อให้คนร้ายเห็นภาพที่ออกอากาศ และอาจกระตุ้นให้คนร้ายก่อเหตุรุนแรงมากขึ้น
     เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ สะท้อนให้เห็นการกระทำที่มุ่งเป้าหมาย ?ความสำเร็จ? ของตน มากกว่าที่จะคำนึงถึงความถูกต้องเหมาะสม และที่สำคัญ ?ความปลอดภัย? ของผู้อื่น
     ตัวอย่างข้างต้นอาจจะไกลตัว แต่ในการทำงานแวดวงต่าง ๆ มักมีรูปแบบการตัดสินใจในลักษณะคล้าย ๆ กัน เช่น การพูดเฉพาะส่วนดีของสินค้า ลดแลกแจกแถม เพื่อกระตุ้นยอดขาย แต่ไม่ได้บอกถึงส่วนเสียที่อาจก่ออันตรายแก่ผู้บริโภค การสื่อสารบิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่อปกป้องภาพลักษณ์ขององค์กร การผลิตสินค้าที่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
     คนทำงานที่ดีจึงควรเป็นคนที่มีจิตสำนึกแห่งความเที่ยงธรรม หมายถึง คนที่ซื่อตรงต่อหลักคุณธรรมที่ยึดถืออยู่ภายใน มีใจเป็นธรรม ซื่อสัตย์ต่อความจริง กล้ายืนหยัดในความถูกต้อง มีความรับผิดรับชอบ ไม่เบี่ยงเบนด้วยผลประโยชน์ส่วนตัว หรือสิ่งล่อใจใด ๆ
     คนดีต้องถือคติว่า การทำสิ่งที่ถูกต้อง คือ ศักดิ์ศรีของชีวิต
     ชีวิตเรามีเพียงชีวิตเดียว สิ่งที่ควรสะสมมากที่สุดควรเป็นคุณงามความดี มากกว่าความอยู่รอด ในงานที่เราทำจึงควรรับผิดชอบต่อเพื่อนมนุษย์ รับผิดชอบต่อสังคม รับผิดชอบต่อคนรุ่นต่อ ๆ ไปให้ดีที่สุด โดยมีจุดยืนการทำงานในใจว่า ตั้งใจจะทำสิ่งที่ถูกต้อง ยุติธรรม ไม่เห็นแก่เงินหรือผลประโยชน์ และพิจารณาลักษณะงานที่เรากำลังทำหรือเลือกที่จะทำว่า สอดคล้องหรือมีโอกาสเปิดช่องให้เราทำสิ่งที่ขัดแย้งกับคุณธรรมในใจหรือไม่ ถ้ามีให้เราหลีกเลี่ยงเสียตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อลดความลำบากใจที่ต้องเข้าไปอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้น อันจะทำให้เรารู้สึกภาคภูมิใจที่ทำสิ่งดีทิ้งไว้ มากกว่าเสียใจในสิ่งผิดที่ทำลงไปด้วยความเห็นแก่ตัว
     กล้าปฏิเสธไม่ทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แม้ว่าเป็นหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายมา แต่เมื่อเราเห็นว่าไม่ถูกต้อง เราควรยืนหยัดในจุดยืน โดยกล้าปฏิเสธที่จะไม่ทำงานนั้น มีความกล้าเข้าไปสื่อสารว่าเพราะเหตุใด เราจึงไม่สามารถทำได้ และอธิบายว่าเรายินดีทำหน้าที่อื่น ๆ ที่ไม่ขัดแย้งกับจิตสำนึกเชิงคุณธรรมในใจ และจะยินดีทำอย่างเต็มที่
     การทำงานคือ การทำหน้าที่ในฐานะมนุษย์ให้ดีที่สุด ดังนั้น เราจึงต้องเห็นแก่ส่วนรวมมากกว่าเห็นแก่ตัว โดยตระหนักว่า หากคุณธรรมที่อยู่ในจิตสำนึกพื้นฐานของมนุษย์บกพร่องไป และตัดสินเรื่องต่าง ๆ เพียงเพื่อความอยู่รอด เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง เราย่อมเป็นคนหนึ่งที่ทำให้สังคมเลวร้ายลง แทนที่จะทำให้น่าอยู่มากยิ่งขึ้น
 
 
 
ที่มา: งานวันนี้
ปีที่ 17 ฉบับที่ 736 วันที่ 12-19 พฤษภาคม 2558
 
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com
 
แหล่งที่มาของภาพ : https://scuolamediamuratori.files.wordpress.com/2014/11/61_progetti.jpg