กรุงเทพฯ : เมืองโดนัท
ทุกวัน สมศักดิ์ต้องขับรถออกจากบ้านหลังใหม่บริเวณศรีนคริทร์ที่เขาซื้อเมื่อ 5 ปีก่อน เพื่อไปส่งลูกสาววัยรุ่นที่มหาวิทยาลัยแถวสามย่าน แล้วเดินทางต่อไปทำงานที่สำนักงานย่านอโศก แต่หลังจากที่ราคาน้ำมันแพงขึ้นทำให้สมศักดิ์รู้สึกเสียดายที่ตัดสินใจขายบ้านเดิมของพ่อแม่ที่เขาเคยอยู่อาศัยเมื่อวัยเด็ก และรู้สึกคิดถึงบรรยากาศเก่า ๆ ของกรุงเทพมหานครเมื่อหลายสิบปีก่อนที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
รูปร่างหน้าตาของเมืองเปลี่ยนไปเสมอ กรุงเทพในปัจจุบันนี้ต่างจากเมื่อ 50 ปีที่แล้วแทบจะสิ้นเชิง คำถามก็คือ แล้วกรุงเทพในอนาคตที่พอจะคาดการณ์ได้ เช่นในปี 2020 หรืออีก 12 ปีจะมีหน้าตาเป็นเช่นไร และเราควรเตรียมการอย่างไรบ้างเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมาถึง
ผมคาดการณ์ว่ามีปัจจัยอย่างน้อยสองปัจจัยเปลี่ยนโฉมกรุงเทพในอีก 12 ปีข้างหน้า ปัจจัยแรกคือแนวโน้มที่ท่าเรือคลองเตยจะย้ายไปรวมกับท่าเรือแหลมฉบัง เนื่องจากตามข้อกำหนดนั้น ปริมาณตู้สินค้าที่จะผ่านท่าเรือคลองเตยถูกจำกัดไม่ให้เกิน 1 ล้านตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุต (Twenty-foot Equivalent Unit: TEU) ต่อปี ซึ่งมีนัยว่าท่าเรือคลองเตยกำลังถูกทำให้เล็กลงเมื่อเทียบกับท่าเรือแหลมฉบัง จนกระทั่งอาจจะถูกยุบไปรวมกับท่าเรือแหลมฉบังในที่สุด
อีกปัจจัยหนึ่งคือการเคลื่อนย้ายทุนต่างชาติ World Future Society คาดการณ์ว่า ภายในปี 2025 จะมีผู้ที่มีสินทรัพย์เกินหนึ่งล้านเหรียญสหรัฐเกินหนึ่งพันล้านคนทั่วโลก ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อมูลหลายตัวที่สะท้อนว่า เงินทุนในโลกกำลังเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล เงินทุนเหล่านี้จะเคลื่อนย้ายไปสู่ที่ต่าง ๆ ในโลกที่ให้ผลตอบแทนสูง ดังนั้นกรุงเทพซึ่งเป็นเมืองหนึ่งที่น่าลงทุน อาจจะถูกทุนต่างชาติจะถาโถมเข้ามาเหมือนคลื่นสึนามิ
สองปัจจัยที่ผมกล่าวมานี้จะเปลี่ยนรูปร่างหน้าตาของกรุงเทพ ธุรกิจต่างชาติที่เข้ามาลงทุนจะเลือกเฉพาะบริเวณที่มีสาธารณูปโภคทุกอย่างรองรับอย่างดีที่สุดเพื่อให้เอื้อต่อการทำธุรกิจ ทำให้นักพัฒนาโครงการสำนักงานและคอนโดมิเนียมจะพยายามแย่งชิงเนื้อที่ใจกลางเมือง เพื่อรองรับบริษัทข้ามชาติและชาวต่างชาติ ผลสุดท้ายคือนอกจากใจกลางเมืองจะอัดแน่นไปด้วยสำนักงานและคอนโดมิเนียมดังกล่าวแล้ว ราคาที่ดินบริเวณเมืองชั้นในจะสูงขึ้นอีกมาก จนทำให้โครงการที่อยู่อาศัยไม่อาจตั้งอยู่ได้ ต้องย้ายออกไปบริเวณเมืองชั้นนอกมากขึ้นเรื่อย ๆ
แม้ปัจจุบันดูเหมือนว่ามีคอนโดมิเนียมผุดขึ้นที่ใจกลางเมืองมากมาย แต่คอนโดมิเนียมเหล่านี้จะไม่สามารถรองรับคนกรุงเทพให้อยู่ในเขตใจกลางเมืองหรือเมืองชั้นในได้ทั้งหมด เนื่องจากคอนโดมิเนียมขนาดใหญ่ที่จุคนได้เกินหนึ่งพันคนมีเพียงไม่กี่แห่ง และในคอนโดมิเนียมจำนวนนี้มักมีราคาแพงมากและมุ่งขายให้ชาวต่างชาติ จึงมีเพียงผู้มีเงินเดือนสูงเท่านั้นจึงจะสามารถอยู่อาศัยในคอนโดมิเนียมกลางกรุงได้
จากการตรวจสอบข้อมูลประชากรในกรุงเทพระหว่างปี 2541 ndash; 2549 พบลักษณะที่สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงในทิศทางดังกล่าว โดยเขตเมืองชั้นในที่ดูเหมือนมีคนพลุกพล่าน แท้ที่จริงมีประชากรที่มีที่อยู่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าวลดลง โดยในพื้นที่ประเภทเมืองเก่าและใจกลางเมืองนั้นประชากรลดลงเฉลี่ยร้อยละ 22.5 ซึ่งถือว่าสูงมากในช่วงเวลาไม่ถึง 10 ปี และในพื้นที่การค้าและธุรกิจนั้น ประชากรลดลงเฉลี่ยร้อยละ 7.6 ในทางตรงกันข้าม เขตเมืองชั้นนอกกลับมีประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยพื้นที่ประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่น และพื้นที่ประเภทชานเมืองนั้น มีประชากรเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 12.2 และ 39.6 ตามลำดับ
การเปลี่ยนแปลงของประชากรดังกล่าว ทำให้สัดส่วนของจำนวนคนอาศัยในเขตเมืองชั้นในต่อเขตเมืองชั้นนอก เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด โดยปี 2541 คนส่วนใหญ่อยู่ในเมืองชั้นใน แต่ในปัจจุบันคนกรุงเทพเกินครึ่งย้ายไปนอกเมืองแล้ว ผมจึงคาดการณ์ว่าในปี 2020 ปริมาณคนกรุงเทพ เกือบ 2 ใน 3 จะมีที่อยู่อาศัยหลักอยู่เขตเมืองชั้นนอก
ในอีกด้านหนึ่ง หากมีการย้ายท่าเรือคลองเตยไปรวมกับท่าเรือแหลมฉบังเกิดขึ้นจริง จะทำให้ความเป็นเมืองจะขยายออกไปทางด้านตะวันออกของกทม.อีกมาก แม้ปัจจุบันจะขยายไกลมากแล้วก็ตาม ส่วนฝั่งธนซึ่งอยู่ด้านตะวันตกก็จะขยายต่อไปในอัตราที่ช้ากว่าด้านตะวันออก
ถ้าเราประมวลภาพจากทิศทางที่ผมกล่าวไปทั้งหมด รูปร่างของกทม.ในปี 2020 จะกลายเป็น ldquo;เมืองโดนัทสอดไส้รูปร่างเบี้ยว ๆrdquo; โดยไส้ตรงกลางจะเป็นเมืองชั้นในที่อัดแน่นขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยธุรกิจและการค้า ส่วนตัวเนื้อโดนัทจะเป็นเมืองชั้นนอกที่รองรับที่อยู่อาศัยซึ่งถูกผลักออกมาจากกลางเมือง แต่จะมีรูปร่างของโดนัทเบี้ยวไปทิศตะวันออก ส่วนน้ำตาลที่อยู่รอบ ๆ โดนัท คือพื้นที่น้อยนิดตามขอบกรุงเทพที่ยังคงมีสีเขียวและเกษตรกรรมแบบประปราย
เมื่อภาพกรุงเทพในอนาคตเป็นเช่นนี้ หากไม่มีการเตรียมการรองรับใด ๆ จากนี้ไปจนถึงปี 2020 การจราจรจะติดขัดมากขึ้นอย่างมาก แม้ประชาชนจะย้ายออกไปชานเมืองแล้วแต่ยังคงต้องเข้ามาทำงานในใจกลางเมืองซึ่งเป็นศูนย์รวมธุรกิจ การจราจรในถนนที่เชื่อมชานเมืองกับเขตเมืองชั้นในจะยิ่งคับคั่งกว่าปัจจุบัน และการที่มีผู้อยู่อาศัยในฝั่งธนมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ผังเมืองกลับไม่อนุญาตให้สร้างตึกสูงในฝั่งธนได้ จะทำให้คนจากฝั่งธนจำนวนมหาศาลต้องข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามาทำงานใจกลางเมือง ส่งผลให้การจราจรบนสะพานที่เชื่อมระหว่างสองฝั่งแม่น้ำอาจจะถึงจุดเดือด
ยิ่งไปกว่านั้น การก่อสร้างรถไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนับจากนี้ จะทำให้การจราจรติดขัดมากขึ้นอีก เพราะการที่คนจำเป็นต้องออกไปอยู่อาศัยบริเวณชานเมืองและปัญหาน้ำมันแพง จะยิ่งกดดันให้ต้องเกิดรถไฟฟ้าที่จะไปถึงชานเมืองมากสายขึ้น ผมจึงคาดว่าจะมีการสร้างรถไฟฟ้าในเฟส 3 และ 4 ตามมา หลังจากที่โครงการรถไฟฟ้าเฟส 2 เสร็จสิ้นตามแผนในปี 2012
ฉะนั้น กรุงเทพมหานครจำเป็นต้องมีการรองรับปัญหาการจราจรที่อาจจะถึงขั้นจลาจล อีกทั้งผู้แก้ไขปัญหาควรมีมุมมองในเชิงมหภาคในการแก้ปัญหาจราจร กล่าวคือมองเห็นทิศทางการเปลี่ยนแปลงของทั้งเมือง แล้ววางแผนการจราจรอย่างเป็นระบบ โดยผมขอเสนอแนวทางการรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นอย่างน้อย 3 ประการดังนี้
ประการแรก รถไฟฟ้าเพื่อเชื่อมชานเมืองทุกแห่งกับใจกลางเมืองจะต้องเกิดขึ้น เพื่อรองรับการเดินทางของคนกทม. กว่า 2 ใน 3 ที่อยู่ชานเมือง ซึ่งรถไฟฟ้าจะช่วยขนส่งคนแทนการใช้ถนนเชื่อมชานเมืองกับใจกลางเมือง และแทนการใช้สะพานเชื่อมระหว่างสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา อย่างไรก็ตาม ควรมีการจัดลำดับความสำคัญในการสร้างรถไฟฟ้า เพื่อไม่ให้เกิดปัญหารถติดมากเกินไปในช่วงระหว่างก่อสร้าง
ประการที่สอง ควรมี City link card ซึ่งเป็นบัตรแทนตั๋วโดยสารที่ใช้สำหรับการขนส่งมวลชนได้ทุกรูปแบบ ทั้งรถเมล์ รถไฟฟ้า รถไฟ และเรือ เพื่อช่วยสร้างความสะดวกในการเชื่อมต่อระหว่างการขนส่งมวลชนรูปแบบต่าง ๆ จากบ้านถึงที่ทำงาน และช่วยทำให้คนประหยัดเงินในเดินทาง ซึ่งจะจูงใจให้ประชาชนลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวได้มากขึ้น
ประการที่สาม ควรมีการสร้างระบบการรู้เวลารถเมล์ล่วงหน้าก่อนออกจากบ้าน เนื่องจากการที่คนอยู่ชานเมืองจะทำให้เขาใช้เวลาเดินทางยาวนานขึ้น ทำให้ความจำเป็นที่จะต้องบริหารเวลาการเดินทางอย่างดี ดังนั้นรถเมล์แต่ละคันควรจะมีระบบบอกตำแหน่งบนพื้นผิวโลก (GPS) เพื่อจะตรวจสอบได้ว่า รถเมล์จะมาถึงป้ายรถเมล์ในเวลาใด หรืออาจใช้ระบบอินเทอร์เน็ตหรือระบบส่งข้อความผ่านมือถือ (SMS) ในการแสดงข้อมูลหรือส่งข้อความเพื่อให้ผู้โดยสารทราบเวลาการมาถึงของรถเมล์อย่างเจาะจง
การที่นกอินทรีบินสูงทำให้เห็นภาพบนพื้นดินทั้งหมด ซึ่งจะทำให้โฉบลงมาจิกเหยื่อได้อย่างแม่นยำ ฉันใดก็ฉันนั้น การบริหารกรุงเทพมหานครจำเป็นต้องมีวิสัยทัศน์และมองเห็นปัญหาภาพรวมที่จะเกิดขึ้นในวันหน้า เพื่อจะสามารถวางแผนรับมือได้ทันท่วงทีตั้งแต่วันนี้
* นำมาจากหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันพฤหัสบดีที่3 กรกฎาคม 2551
แสดงความคิดเห็น
Tags:
เผยแพร่:
0
เมื่อ:
2008-07-04