ผลกระทบจากความมั่นคงของญี่ปุ่นสู่ความมั่นคงของไทย

 
ปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา กระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นตั้งใจเผยแพร่สมุดปกขาว Defense of Japan 2012 ต่อสาธารณชนทั่วโลก อยากให้มีผู้อ่านมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เปิดเผยอย่างชัดเจนว่าญี่ปุ่นถือว่าใครหรืออะไรเป็นภัยคุกคาม วิเคราะห์รายประเทศอย่างละเอียดทั้งด้านการทหาร การเมือง เศรษฐกิจ ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ ลงรายละเอียดถึงขั้นภัยคุกคามนั้นแสดงพฤติกรรมอย่างไร กี่ครั้ง ญี่ปุ่นประเมิน คาดการณ์อย่างไร พร้อมแผนเผชิญภัยคุกคามนั้น
 
สมุดปกขาว Defense of Japan 2012 เขียนไว้อย่างชัดเจนว่า ญี่ปุ่นมองประเทศที่มีศักยภาพเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของตน คือ เกาหลีเหนือ จีน รัสเซีย ญี่ปุ่นมองการพัฒนากำลังรบของเพื่อนบ้านอย่างหวาดระแวง ไม่เชื่อว่าเพื่อนบ้านเสริมสร้างกำลังรบเพื่อสันติ
 
ญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางทะเลมาก เพราะสินค้าทั้งขาเข้าขาออกของญี่ปุ่นราวร้อยละ 99 อาศัยการขนส่งทางทะเล การดำรงอยู่ของชาติเกี่ยวข้องกับการขนส่งทางทะเล จึงต้องรักษาศักยภาพทางทหารเพื่อให้การคุ้มครอง ในทำนองเดียวกัน จีนเห็นว่านับวันผลประโยชน์ทางทะเลของตนเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน จึงต้องเพิ่มกองกำลังทางเรือและอื่นๆ ให้เพียงพอ ด้านรัสเซียที่เศรษฐกิจกำลังดีวันดีคืนได้เพิ่มงบประมาณกลาโหม พัฒนาอาวุธรุ่นใหม่ ส่วนสหรัฐ เล็งเห็นว่าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก คือ บริเวณที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง จึงทุ่มกองกำลังที่ประจำต่างประเทศให้มารวมที่นี่เป็นหลัก
 
นอกจากญี่ปุ่นเพิ่มขีดความสามารถในการรบของตนเองแล้ว ยังยึดถือการสร้างพันธมิตร สหรัฐ คือ หนึ่งในเสาหลักความมั่นคงของญี่ปุ่น แผนความมั่นคงของญี่ปุ่นเชื่อมโยงสอดประสานกับนโยบายความมั่นคงของสหรัฐ อย่างชัดเจน ออสเตรเลียกับเกาหลีใต้เป็นอีกสองประเทศที่ญี่ปุ่นจับมือด้วย ยิ่งสถานการณ์มีความเปราะบางเพียงใด ความสำคัญของสหรัฐก็ยิ่งเพิ่มขึ้น สมการความมั่นคงในเอเชียแปซิฟิกจึงมีสหรัฐเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญ ยุทธศาสตร์ความมั่นคงของญี่ปุ่นจึงให้ความสำคัญในกรอบเอเชียตะวันออกไกลเป็น สำคัญ โดยดึงประเทศนอกภูมิภาคอย่างสหรัฐเข้ามาเกี่ยวพัน ส่วนอาเซียนมีความเกี่ยวในลักษณะผลกระทบสืบเนื่อง
 
สรุปภาพรวมสถานการณ์โดยย่อได้ว่า แต่ละชาติต่างมีผลประโยชน์มหาศาลที่ต้องปกป้อง จึงต้องเสริมกำลังกองทัพ ต่างเกิดความวิตกกังวลและนำสู่ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจนโยบายที่อีกประเทศ ประกาศว่าเพื่อการสันติ ผลตามมาคือความตึงเครียดเพิ่มมากขึ้น มีโอกาสเกิดการกระทบกระทั่งเพิ่มมากขึ้น เริ่มจากนโยบายสู่การทูตและอื่นๆ
 
นับจากวันนี้ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะเป็นเวทีประชันของเหล่ามหาอำนาจและประเทศต่างๆ ในย่านนี้อย่างรุนแรงมากขึ้น
 
สมุดปกขาว Defense of Japan 2012 วิเคราะห์ความมั่นคงของประเทศโดยเน้นการค้นหาภัยคุกคามและตีความตามแนวคิด สำนักสัจนิยม (Realism) ที่ทุกประเทศต้องดิ้นรนเอาตัวรอด ปลาใหญ่กินปลาเล็ก แต่ในด้านเศรษฐกิจ สังคม ญี่ปุ่นใช้หลักคิดที่ต่างออกไป คือ ใช้แนวคิดแบบพึ่งพาซึ่งกันและกัน (Interdependence) ภายใต้บริบทยุคโลกาภิวัตน์
 
การมองเรื่องเศรษฐกิจระหว่างประเทศจะมองเป็นโอกาส เป็นแหล่งการลงทุน เป็นคู่ค้าหรืออย่างมากเป็นคู่แข่งขันทางการค้า แต่เวลามองเรื่องความมั่นคงจะคิดว่าเป็นภัยคุกคาม เพื่อยกระดับการป้องกันประเทศขึ้นสู่ระดับสูงสุด ตราบเท่าที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังรองรับค่าใช้จ่ายด้านกลาโหมจำนวนมหาศาลได้และ ชาวญี่ปุ่นยังเห็นดีเห็นงามกับนโยบายดังกล่าว
 
แต่หลักคิดทั้งสองมีส่วนที่ขัดแย้งกัน เช่น ความร่วมมือทางเศรษฐกิจย่อมทำให้ประเทศคู่ค้าเติบโตทางเศรษฐกิจ อันหมายถึงเพิ่มการเสริมสร้างกำลังทหารของคู่ค้า หรือหากความขัดแย้งระหว่างประเทศตนกับคู่ค้าบานปลายย่อมกระทบต่อเศรษฐกิจภาย ในประเทศญี่ปุ่นอย่างหนีไม่พ้น ในระบบเศรษฐกิจปัจจุบันเป็นไปได้ว่ายังไม่ทันที่สงครามจะปะทุ ตลาดทุนตลาดเงินญี่ปุ่น (กับคู่กรณี) ก็ปั่นป่วนอย่างหนัก กระทบกระเทือนต่อประชาชนอย่างกว้างขวางด้วยข่าวร้ายว่ากำลังจะเกิดสงคราม เรียกว่าสงครามยังไม่เกิดขึ้นจริงแต่ผลกระทบต่อระบบตลาดเงินตลาดทุนภายใน ประเทศเกิดขึ้นล่วงหน้าแล้ว กระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ทางสังคมก่อน
 
สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่น ในโลกยุคปัจจุบัน กองทัพเหมาะสำหรับการป้องปราม (Deterrence) หากเกิดสงครามขึ้นจริงกองทัพอาจปกป้องอธิปไตยได้ แต่ประเทศอาจต้องสูญเสียด้านอื่นๆ อย่างมากมาย การรักษาความมั่นคงจึงต้องอาศัยเครื่องมืออื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ผ่านการทูต เน้นความร่วมมือ ยึดการอยู่ร่วมกันตามหลักพหุสังคม
 
ดังที่กล่าวแล้วว่า จากนี้ไปภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะเป็นเวทีประชันของเหล่ามหาอำนาจและประเทศ ต่างๆ ในย่านนี้ ประเทศไทยแม้ไม่ใช่ตัวแสดงเอก แต่คือหนึ่งในตัวแสดงที่อยู่ในเวทีดังกล่าว นโยบายต่างประเทศของไทยต่อบริบทดังกล่าว อาจแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เอกเทศกับส่วนที่ผูกพันกับองค์กรระหว่างประเทศ
 
ในส่วนที่เป็นเอกเทศ ประเทศไทยดำเนินนโยบายเป็นมิตรกับญี่ปุ่น จีน สหรัฐ พร้อมกันทั้งสามประเทศ อยู่แล้ว ไทยมีความสามารถในการดำเนินทางการทูตลักษณะนี้ ผลประโยชน์ของไทยยังยึดโยงกับโครงสร้างความสัมพันธ์ดังกล่าว หากญี่ปุ่นเกิดความตึงเครียดจะมีโอกาสเกี่ยวข้องกับประเทศมหาอำนาจอื่นๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยิ่งหากเกิดสงครามขึ้นจริง ย่อมกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างแน่นอน
 
ในส่วนที่ผูกพันกับองค์กรระหว่างประเทศ องค์กรที่ใกล้ตัวและสำคัญที่สุด คือ อาเซียนที่มีการประชุมด้านความมั่นคง ASEAN Regional Forum (ARF) หากเกิดข้อพิพาทระหว่างประเทศควรนำเข้าสู่กลไกดังกล่าว จุดยืนของไทยควรอิงท่าทีจุดยืนของอาเซียน
 
สำหรับด้านกลาโหมไทย ทิศทางการพัฒนากองทัพไทยที่มีประสิทธิภาพต้องเริ่มด้วยการจำแนกแยกแยะอย่าง ชัดเจนว่าสิ่งใดคือภัยคุกคามปัจจุบัน สิ่งใดเป็นภัยคุกคามอนาคตในอีกสิบปียี่สิบปีข้างหน้า แต่ละอย่างเป็นภัยคุกคามระดับใด ภัยคุกคามต่อความมั่นคงเอเชียแปซิฟิกควรเน้นการพัฒนาด้านคุณภาพมากกว่า ปริมาณ ส่วนการพิทักษ์ความมั่นคงตามแนวชายแดน เขตเศรษฐกิจทางทะเลควรมีปริมาณกำลังเพียงพอ อีกทั้งต้องพัฒนาต่อต้านภัยคุกคามรูปแบบใหม่ เช่น การก่อการร้ายสากล การโจมตีทางไซเบอร์
 
ทุกประเทศล้วนมีผลประโยชน์ มีอธิปไตยที่ต้องปกป้อง จำต้องมีกองทัพที่พอเหมาะแก่การป้องปราม แต่การใช้กำลังควรเป็นเครื่องมือสุดท้าย เพื่อให้เกิดความสูญเสียน้อยที่สุด
 
"หากเกิดสงครามขึ้นจริง ย่อมกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างแน่นอน"
 
กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์: ดร.แดน มองต่างแดน
Catagories: