ทักษะการอ่านพื้นฐานการเรียนรู้และการทำงาน

ปลายเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนเมษายน ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์มีมหกรรมงานหนังสือ 2 งานติดกันคือ งานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 6 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-30 มีนาคม พ.ศ. 2551 และงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 36 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 มีนาคม ndash; 7 เมษายน พ.ศ. 2551
ทุกครั้งที่มีการจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ประเด็นที่ถูกหยิบยกนำมาพูดคุยกันอยู่เสมอคือ คนไทยอ่านหนังสือน้อยมาก แม้ว่าผู้คนจะให้ความสนใจเข้ามาเยี่ยมชมและซื้อหนังสือในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติเป็นจำนวนมากก็ตาม
ประเด็นถกเถียงในเรื่องการอ่านหนังสือของคนไทย เป็นสิ่งที่มีการพูดคุยกันมานาน แต่ประเด็นที่ยังไม่ได้ถูกกล่าวถึงกันมากนักคือldquo;ความสามารถด้านทักษะการอ่านหนังสือของคนไทยrdquo; การอ่านหนังสือจำนวนมากหรือน้อยอาจไม่สำคัญเท่ากับ ผู้อ่านได้รับอะไรจากสิ่งที่อ่านหรือผู้อ่านได้นำสิ่งที่ได้อ่านนั้นไปใช้ประโยชน์อย่างไรบ้าง ขึ้นอยู่กับวิธีการอ่านเป็นสำคัญ ผู้อ่านที่ขาดทักษะการอ่าน แม้อ่านหนังสือมากแต่อาจไม่ได้รับประโยชน์ก็เป็นได้
ทักษะการอ่าน เป็นสิ่งที่ควรปลูกฝังตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน นักวิชาการด้านการศึกษาในสหรัฐอเมริกา หลุยส์ เอ็ม โกเมซ (Louis M. Gomez) ศาสตราจารย์ด้านศาสตร์แห่งการเรียนรู้ (Learning Sciences) แห่งสถาบันสอนนโยบายการศึกษาและสังคม (school of Education and Social Policy) มหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น (Northwestern University) และผู้ช่วยศาสตราจารย์คิมเบอร์ลี่ โกเมซ (Kimberley Gomez) วิทยาลัยการศึกษา (College of Education) มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ (University of Illinois) ออกมาแสดงความคิดเห็นในนิตยสาร Phi Delta Kappan ฉบับเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2007 เรื่อง ldquo;Reading for Learning: Literacy support for 21st Century Workrdquo; ไว้ว่า การขาดทักษะการอ่านของผู้เรียนระดับการศึษาขั้นพื้นฐานเป็นปัญหาใหญ่ที่มีผลต่อการทำงานในอนาคต
นักวิชาการทั้ง 2 ท่าน กล่าวว่า เศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21 ต้องการแรงงานคนที่มีทักษะการคิดเชิงสรรค์ การคิดเชิงวิเคราะห์ เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลก และในอนาคต อาชีพที่จะเติบโตมากที่สุดคือ อาชีพที่อาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านและอาชีพด้านงานบริการ ทั้ง 2 อาชีพ ต้องอาศัยทักษะการสื่อสารกับกลุ่มคนที่มีความแตกต่าง โดยเครื่องมือสำคัญที่จะทำผู้เรียนมีทักษะดังกล่าวคือ ldquo;การอ่านเพื่อการเรียนรู้rdquo; เนื่องจากการอ่านต้องอาศัยการวิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูล จนสามารถแปลงข้อมูลที่ได้รับและนำไปใช้ประโยชน์
ผู้เรียนที่มีพื้นฐานด้านทักษะการอ่านที่ไม่ดีตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน จะมีความยากลำบากในการเรียนระดับการศึกษาที่สูงขึ้นและเมื่อก้าวเข้าสู่โลกการทำงาน ในสหรัฐอเมริกา ผู้เรียนระดับมัธยมศึกษาจำนวนมาก มีทักษะการอ่านเท่ากับผู้เรียนระดับประถมศึกษา นั่นหมายความว่า สถานศึกษาในสหรัฐอเมริกาหลายแห่ง ไม่ได้ฝึกทักษะพื้นฐานด้านการอ่านเพื่อการเรียนรู้ให้ผู้เรียน ปัญหาดังกล่าวส่วนหนึ่งมีสาเหตุเนื่องจากผู้เรียนส่วนใหญ่ มักคิดว่าตนเองรู้เทคนิคการอ่านอยู่แล้ว ขณะเดียวกัน ผู้สอนก็มักคิดว่าตนเองไม่ได้มีหน้าที่สอนวิธีการอ่านหนังสือและคิดว่าผู้เรียนน่าจะรู้เทคนิคการอ่านอยู่แล้ว จึงไม่ได้เข้มข้นในการสอนและพัฒนาทักษะการอ่านอย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพให้ผู้เรียน
ศ.หลุยส์ เอ็ม โกเมซ และ ผศ.คิมเบอร์ลี่ โกเมซ ได้แนะนำเทคนิคการอ่านที่ผู้สอนสามารถนำไปฝึกทักษะการอ่านเพื่อการเรียนรู้ให้ผู้เรียน ซึ่งสามารถทำไปพร้อมกับการเรียนการสอนได้ ดังนี้
Annotation เป็นเทคนิคการอ่านที่ผู้เรียนต้องวิเคราะห์เนื้อหาที่อ่านให้เข้าใจ โดยจับใจความสำคัญหลัก ใจความที่สำคัญรอง ถอดความเข้าใจจากคำศัพท์ที่ยาก ขีดเส้นใต้จุดที่สำคัญ และสรุปใจความสำคัญอย่างย่อในสิ่งที่ได้จากการอ่าน การถอดความสำคัญผู้เรียนสามารถเก็บไว้ใช้เพื่อประโยชน์ในอนาคต เทคนิคการอ่านนี้ทำให้ผู้เรียนสามารถสำรวจโครงสร้างและใจความสำคัญของเนื้อหา ซึ่งพัฒนาให้ผู้เรียนมีทักษะการคิดวิเคราะห์
Double-entry readings logs เทคนิคนี้ผู้เรียนต้องทำ 2 ส่วน คือ ส่วนแรก ถอดใจความสำคัญจากเรื่องที่อ่าน และอธิบายให้ได้ว่าหาใจความสำคัญมาได้อย่างไร วิธีนี้จะทำให้ผู้เรียนสามารถวิเคราะห์เนื้อหาและถ่ายทอดออกมาได้ ส่วนที่สอง หาคำศัพท์ใหม่ ๆ หาความหมายของคำศัพท์ และอธิบายให้ได้ว่าคำศัพท์ดังกล่าวเกี่ยวข้องกับใจความสำคัญอย่างไร โดยอาจต้องอาศัยการวิเคราะห์ประเด็นแวดล้อม การอ่านหนังสือด้วยเทคนิคนี้ ผู้สอนสามารถประเมินการเรียนรู้ของผู้เรียนได้ว่า สิ่งไหนที่ผู้เรียนเข้าใจและสิ่งไหนที่จำเป็นต้องสอนซ้ำ
Summarization เป็นการสรุปเนื้อหาจากสิ่งที่อ่านทั้งหมด การสรุปเนื้อหาที่ดี ผู้เรียนต้องจับใจความสำคัญของเนื้อหา ตลอดจนใจความสนับสนุนที่เชื่อมโยงกับใจความสำคัญ เทคนิคนี้ ทำให้ผู้เรียนเข้าใจเนื้อหาที่อ่านลึกซึ้ง และผู้สอนสามารถประเมินความเข้าใจของผู้เรียนว่าถูกต้องมากน้อยเพียงใด
เทคนิคดังกล่าวเป็นเทคนิคง่าย ๆ ที่หากถูกนำมาพัฒนาการสอนในเด็กและเยาวชน ย่อมมีส่วนในการวางรากฐานการพัฒนาทักษะการอ่านได้อย่างมีคุณภาพ
กรณีการอ่านในประเทศไทย การเรียนรู้และพัฒนาด้านทักษะการอ่าน ยังไม่ถูกให้ความสำคัญเท่าที่ควร สาเหตุหนึ่งเนื่องจากผู้สอนไม่ได้สอนทักษะการอ่านเพื่อการเรียนรู้ที่ถูกต้อง ให้ผู้เรียน เพราะต้องสอนเนื้อหาวิชาที่มีมาก การสอนจึงเป็นลักษณะของการป้อนความรู้และผู้เรียนจำสิ่งป้อน และแม้ว่าผู้สอนจะมอบหมายผู้เรียนไปอ่านหนังสือที่เป็นประโยชน์ แต่ผู้เรียนไม่รู้วิธีการอ่านที่ถูกต้อง จึงทำได้เพียงอ่านเพื่อจำและนำไปสอบ ไม่ได้คิดวิเคราะห์และสังเคราะห์ในเนื้อหาที่อ่านอย่างจริงจัง กระบวนการเรียนรู้ที่แท้จริงและการนำไปใช้ประโยชน์จึงไม่เกิดขึ้น
ดังนั้น สถาบันการศึกษาตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ควรฝึกการพัฒนาทักษะการอ่านที่ถูกต้องให้ผู้เรียน โดยดำเนินการร่วมกับผู้ปกครองและชุมชน ในการร่วมพัฒนาทักษะการอ่านในเด็กและเยาวชน
นอกจากนั้น ผมเสนอว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกบ้านควรมีชั้นหนังสือ เพื่อให้เด็กเยาวชนและสมาชิกในครอบครัว ได้มีโอกาสอ่าน ใช้เวลาร่วมกันในการอ่าน อันจะพัฒนาไปสู่การเป็นนักเรียนรู้ที่มีคุณภาพ สามารถเอาตัวรอดในสภาพการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาได้อย่างเท่าทันอีกทั้งยังส่งผลดีต่อการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นและการทำงาน
admin
เผยแพร่: 
การศึกษาวันนี้
เมื่อ: 
2008-04-10