ถูก ดูผิด ดีกว่าชอบ ดูถูก
ถ้ามีคนพูดกับคุณแบบนี้....จะรู้สึกอย่างไร?
คิดได้เท่านี้หรือ ผมว่าเด็กประถมยังคิดได้ดีกว่าเลย..
หน้าตาแบบนี้ ทำงานเบื้องหลัง แบบไม่ต้องเจอผู้คนน่าจะดีกว่านะ
ประสบการณ์ก็น้อย แถมไม่จบเมืองนอก ยังคิดจะรับงานใหญ่ ..ไม่ประเมินตัวเองเลย!!
เมื่อใครมาพูดกับเราทำนองนี้ ด้วยสีหน้าที่บ่งบอกถึงการดูหมิ่น เยาะเย้ย ไม่ได้แสดงความจริงใจ เราย่อมรู้สึกได้ทันทีว่า กำลังถูก "ดูถูก"
เป็นความจริงที่ว่า ไม่มีใครชอบถูกคนอื่น ดูถูกดูแคลน ดูหมิ่นเหยียดหยาม หรือพูดถึงจุดอ่อน ปมด้อย กล่าวหาว่า เราไม่มีความสามารถ ไม่มีคุณสมบัติที่เหมาะสม โดยไม่ได้ออกมาจากความปรารถนาดี เพียงต้องการ ?กด?เราให้ต่ำลง ด้อยลง สูญเสียความเชื่อมั่นในตัวเองลง
ในทางกลับกัน แม้คนส่วนใหญ่จะเห็นพ้องกันว่า การดูถูกเป็นสิ่งไม่ดี แต่เพราะเหตุใด คนส่วนใหญ่ยัง "ชอบ" ที่จะ "ดูถูก" คนอื่น ทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัว
ลองสำรวจตัวเองดู..เราเคยหัวเราะเยาะ ล้อเลียน เหน็บแนม เย้ยหยัน เพื่อนหรือคนอื่น ๆ บ้างหรือไม่ ...ผมเชื่อว่า เราทุกคนคงเคย "ดูถูก" คนอื่น มาบ้างไม่มากก็น้อย ทั้งตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ
การดูถูกคนอื่น เป็นอีกบทบาทหนึ่งของคนที่ให้ "อีโก้" หรือ "อัตตา" เป็นศูนย์กลาง หลงตัวเองว่ามีอะไร "ดีกว่า" "เหนือกว่า" คนอื่น และต้องการแสดงออกให้คนอื่นรับรู้ วิธีหนึ่งคือ อีโก้จะใช้อัตลักษณ์เชิงเปรียบเทียบ โดยเปรียบเทียบกับคนอื่น ๆ และพยายามทำให้ตัวเองดู "ดีกว่า" ด้วยการกดคนอื่นลง หรือดูถูกคนอื่นให้ "ด้อย" กว่า
การดูถูกจึงเป็นการเน้นย้ำถึงความโดดเด่นของตน ด้วยการตอกย้ำความอ่อนแอ ข้อบกพร่องของผู้อื่น เพื่อที่ตัวเองจะรู้สึก "สูง" ขึ้น ก่อให้เกิดความภาคภูมิใจ ความรู้สึกมั่นใจว่า "ฉันดีกว่า" "ฉันเหนือกว่า" และจะแสดงท่าทางว่า ตนดูดี มีอำนาจ มีความสง่างามกว่า และเกิดความสุขเมื่ออีโก้ของตนลำพองขึ้น
เราจึงเห็นการดูถูกกันเป็นเรื่องปกติในสังคม เช่น คนเก่งดูถูกคนไม่เก่ง คนรวยดูถูกคนจน คนมีการศึกษาสูงดูถูกคนด้อยการศึกษา คนปกติดูถูกคนพิการ คนหน้าตาดีดูถูกคนหน้าตาไม่ดี คนมีประสบการณ์ดูถูกคนด้อยประสบการณ์ เป็นต้น
คำถามคือ เราควรจัดการ "อีโก้" ของเรา ไม่ให้ดูถูกคนอื่นได้อย่างไร?
จำไว้ว่า เมื่อฉุดคนอื่นต่ำลง ตัวเองจะต่ำยิ่งกว่า
ไม่มีใครชอบและทนต่อการถูก "ดูถูก" การดูถูกคนอื่นสะท้อนพื้นฐานของจิตใจที่หยาบกระด้าง เห็นแก่ตัว ไม่ให้เกียรติผู้อื่น ไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งแน่นอนว่า เป็นเรื่องที่สังคมไม่ให้การยอมรับ และไม่มีใครทนต่อการถูกดูหมิ่นเหยียดหยาม แต่จะลุกขึ้นมาต่อต้าน ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ลูกน้องอาจจับกลุ่มไม่ให้ความร่วมมือหัวหน้างานที่ชอบดูถูก หรือเพื่อนร่วมงานอาจร่วมกันบอยคอต เลิกคบเพื่อนคนหนึ่งที่ชอบดูถูกพนักงานในตำแหน่งที่ต่ำกว่า เป็นต้น
เรื่องจริงเรื่องหนึ่งเกิดขึ้น เมื่อไม่นานมานี้ หนังสือพิมพ์สเตรทไทมส์ของสิงคโปร์ ลงข่าวว่าเศรษฐีชาวอังกฤษที่พำนักอยู่ในสิงคโปร์ ถูกไล่ออกจากงานและต้องย้ายครอบครัวออกจากประเทศ สาเหตุเพราะเขาได้ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กดูถูกผู้ใช้รถไฟฟ้าในสิงคโปร์ว่าเป็น "พวกคนจน" โดยได้โพสต์ภาพลูกชายวัย 5 ขวบซึ่งนั่งอยู่ในรถไฟฟ้า พร้อมข้อความว่า "พ่อครับ รถพ่อไปไหน แล้วคนจนพวกนี้เป็นใคร?" อีกโพสต์เป็นภาพลูกชายกำลังโบกมือขณะนั่งอยู่ในรถปอร์เชสีเงินเปิดประทุน พร้อมข้อความว่า "เฮ้อ... ได้เจอลูกเสียที กลับมาทำงานตามปกติ หลังจากไปล้างกลิ่นสกปรกบนรถไฟฟ้าออกจากตัว"
ภายหลังจากที่ข้อความเฟซบุ๊กของเขาแพร่สะพัดไปในโลกอินเทอร์เน็ต เขาถูกผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสิงคโปร์ประณามด่าทออย่างรุนแรง ครอบครัวถูกขู่ทำร้าย ต่อมาบริษัทตัดสินใจไล่เขาออกจากงาน เพราะทำให้ภาพลักษณ์บริษัทต้องมัวหมอง ในที่สุด เขาจึงตัดสินใจเดินทางไปออสเตรเลีย พร้อมขออภัยต่อคำพูดที่ได้สร้างความเจ็บช้ำต่อชาวสิงคโปร์
เรียนรู้เอาใจเขามาใส่ใจเรา คนที่ขับเคลื่อนด้วยอีโก้ จะถูกครอบงำด้วยอคติแห่งความเห็นแก่ตัว การหลงตัวเอง จึงละเลย ไม่ใส่ใจ ไม่สนใจความรู้สึกของบุคคลที่ตนดูถูก ในบางครั้งอาจทำไปโดยไม่รู้ตัว เช่น เราอาจรู้สึกสนุก หรือสะใจ เมื่อจับกลุ่มพูดจาดูถูกคนอื่น ในเชิงล้อเลียน หรือเห็นว่าเป็นตัวตลก โดยไม่ได้คิดว่า บุคคลที่เราล้อเลียนนั้นจะรู้สึกอย่างไร จนกระทั่ง ถูกตอบโต้หรือต่อว่ากลับมา จึงเริ่มคิดได้ว่า สิ่งที่ตนเองทำลงไปนั้นไม่ดี ไม่เป็นที่ยอมรับ เกิดความรู้สึกละอายใจในสิ่งที่ได้ทำลงไป และต้องออกมาขอโทษในที่สุด
ดังนั้น ถ้าเราเพียงแต่ "เอาใจเขาไปใส่ใจเรา" เราจะระมัดระวังความคิด คำพูดและการกระทำของเราให้มากขึ้น ที่สำคัญ เราต้องให้เกียรติทุกคนเท่าเทียม ไม่ว่าผู้ร่วมงานของเราจะมีตำแหน่งอะไร จบมาจากสถาบันใด ระดับใด ฐานะเช่นไร รสนิยมอย่างไร รูปร่างหน้าตาเป็นเช่นไร สิ่งเหล่านี้ไม่ควรเป็นเงื่อนไขที่ทำให้เรานำมาเปรียบเทียบ ตัดสิน และเป็นเหตุให้ยกตนข่มท่าน ดูถูก เยาะเย้ยถากถาง แต่เราควรเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน
จำไว้ว่า "การกดคนอื่นให้ต่ำลง ไม่ได้ทำให้เราสูงขึ้น"
เราไม่จำเป็นต้องดูถูกคนอื่น เพื่อให้ตัวเองดูดีขึ้น เพราะในความเป็นจริง เราเป็นอย่างไรก็เป็นเช่นนั้น เราควรเรียนรู้ที่จะภาคภูมิใจในตัวเอง และเรียนรู้ที่จะให้เกียรติคนอื่น ที่สำคัญ ควรเรียนรู้ที่จะยกผู้อื่นให้สูงขึ้น ด้วยการชื่นชม ยกย่อง ชมเชย สนับสนุนส่วนดีของทุกคนรอบข้าง เพราะในที่สุด เราจะถูกยกให้สูงขึ้น จากเสียงชื่นชมสรรเสริญในความดีที่เราได้กระทำ
ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : http://blogs.babycenter.com/wp-content/uploads/2011/11/disdain-300x200.jpg