อารยสดับ : 7 ขั้นของการฟังแบบอารยะ

     แอมบรอส เบียร์ส (Ambrose Gwinnett Bierce: 1842?1913) นักเขียนชาวอเมริกัน ซึ่งรู้จักกันดีในฐานะผู้แต่งพจนานุกรมเสียดสีพฤติกรรมมนุษย์ ฉบับที่ใช้ชื่อว่า ดิคชันนารีของปีศาจ (The Devil's Dictionary) เขาได้ให้ความหมายของคำว่า ?คนน่าเบื่อ? ไว้ว่า หมายถึง ?คนที่พูด เมื่อคุณต้องการให้เขาฟัง? 

     ลองย้อนดูสิว่า เราเคยพบ ?คนน่าเบื่อ? ตามความหมายข้างต้นหรือไม่ 
     คนที่คุยกันเอง หรือเหม่อลอยคิดเรื่องอื่น ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งกำลังพูด
     คนที่แสร้งพยักหน้า เหมือนกำลังฟังอยู่ แต่จริง ๆ ในใจคิดกังวลเรื่องอื่นอยู่
     คนที่พูดแทรกขึ้นมา โดยไม่รอให้อีกฝ่ายพูดให้จบก่อน
     คนที่ชอบเปลี่ยนเรื่อง ทั้ง ๆ ที่เรื่องที่เรากำลังพูดอยู่ยังหาข้อสรุปร่วมกันไม่ได้
     คนที่พูดแต่เรื่องของตัวเอง โดยไม่สนใจที่จะฟังเรื่องของอีกฝ่ายหนึ่ง....
     คนจำนวนไม่น้อยชอบ ?พูด? มากกว่า ?ฟัง? และขณะเดียวกันก็ชอบให้คนอื่น ?ฟัง? สิ่งที่ตนเอง ?พูด? โดยไม่คำนึงถึงใจเขาใจเรา นี่คือ คนน่าเบื่อ ตามนิยามข้างต้น
     หากเรายอมรับความจริงด้วยความจริงใจ เราอาจมองเห็นว่า แท้จริงแล้ว หลายครั้ง คนน่าเบื่อนี้คือ ตัวเราเอง ทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัว ทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ 
     การเป็นผู้ฟังที่ไม่ดี ไม่เพียงแต่เป็นการเสียมารยาท แต่ที่สำคัญกว่านั้น คือแสดงว่าเราไม่เคารพสิทธิของผู้พูด ทำให้ผู้พูดเสียเวลาอันมีค่าของเขาไป ที่อุตสาห์มาพูดให้เราฟัง แต่เรากลับไม่ตั้งใจฟัง และนอกจากนี้ การที่เราไม่ฟัง ย่อมทำให้เราเสียประโยชน์จากสิ่งที่ผู้พูดต้องการจะสื่อสารถึงเรา  
     สังคมมักมีการฟังที่ไม่อารยะ ให้เห็นอยู่เสมอ ตั้งแต่ในการสนทนาระหว่างคนสองคน การสนทนาในกลุ่ม การฟังบรรยาย จนถึงการฟังจากสื่อสาธารณะต่าง ๆ  ทั้งนี้เพราะคนส่วนใหญ่ขาดการเรียนรู้ที่จะฟังแบบอารยะ หรือ อารยสดับ
     อารยสดับ เป็นศัพท์ที่ผมได้นิยามขึ้น ให้ความหมายถึง การฟังแบบอารยะ หรือการฟังด้วย ?ใจ? ที่กำกับด้วยปรัชญาปัจเจกอารยะ คือ ความดี ความงาม ความจริงที่แท้จริง และปรัชญาสังคมอารยะ คือ เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพที่พึงประสงค์ อารยสดับ 7 ขั้น ได้แก่
     ฟังด้วยใจที่ ?สนใจ? การฟังที่ไม่อารยะ คือ การไม่ฟังคนอื่น ไม่สนใจว่าใครกำลังสื่อสารอะไร นี่คือ ปัญหาร้ายแรงที่เป็นจุดเริ่มต้นการสื่อสารที่ล้มเหลว และทำให้เราเสียโอกาสที่เราควรจะได้รับจากคนที่สื่อสาร เราต้องรับฟังคนอื่น ให้ความสนใจที่จะฟัง โดยยินดีละวางกิจกรรมอื่น ๆ ที่ทำอยู่ หันมาให้ความสำคัญและพร้อมที่จะรับฟังอย่างเต็มที่
     ฟังด้วยใจที่ ?จริงใจ? เราต้องให้เกียรติผู้พูด ด้วยการฟังแบบจริงใจ คือ ตั้งใจฟังจริง ๆ ว่าผู้พูดต้องการสื่อสารอะไร ไม่แสร้งว่ากำลังฟัง โดยอาจมีการจดบันทึกประเด็นที่ผู้พูดกำลังสื่อสาร จดคำถามที่เรามีข้อสงสัย การพยักหน้าเมื่อเราเข้าใจจริง ๆ หรือการยกมือถามหรือให้ผู้พูดกล่าวทวนซ้ำ เมื่อเราไม่เข้าใจหรือได้ยินไม่ชัดเจน เป็นต้น
     ฟังด้วยใจที่ ?ไร้อคติ? เราทุกคนมีกรอบความคิด ความเชื่อ มุมมองต่อเรื่องต่าง ๆ ที่แตกต่างกัน และมักจะใช้กรอบของเราในการตีความข้อมูลที่ได้รับ รวมทั้งในการฟังด้วย จึงมักจะฟังแบบลำเอียง ตีความสิ่งที่ผู้พูดกล่าวตามความคิดของตนเอง ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด ดังนั้น ทางที่ดีกว่า เราต้องฟังว่าเขาพูดอะไร อย่างที่เขาต้องการสื่อสารจริง ๆ รับข้อมูลด้วยใจที่เป็นกลาง ไม่ตีความตามใจเรา และไม่ด่วนสรุปตามความคิดของเรา
     ฟังด้วยใจที่ ?จดจ่อ? ผมมักจะเตือนสติทีมงานที่เข้าประชุมด้วยอยู่เสมอ ๆ ว่า ?อย่าเข้าเกียร์ว่าง? ?อย่านั่งสูดอากาศ? แต่ให้ตั้งใจฟัง มีสมาธิในการฟัง ต้องสามารถเก็บข้อมูลที่รับฟังได้ทั้งหมด ทุกประเด็นครบถ้วน รู้ว่าทั้งหมดที่สื่อสารนั้นคืออะไร และสามารถนำข้อมูลเหล่านั้นมาจัดระบบ สังเคราะห์ เชื่อมโยงจากฐานข้อมูลที่ได้รับอย่างครบถ้วน ช่วยให้เราสามารถวิเคราะห์และประเมินได้ค่อนข้างถูกต้อง และช่วยให้เวลาเราแสดงความคิดเห็น จะไม่ออกนอกประเด็น และเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง
     ฟังด้วยใจ ?กระตือรือร้น? เราต้องฟังด้วยใจที่กระตือรือร้น มีความกระฉับกระเฉง (active) โดยเอาตัวเราเข้าร่วมกับสิ่งที่เราฟัง พยายามมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งที่ฟัง เป็นผู้เข้ามาร่วม เหมือนเป็นผู้เล่นด้วยกัน ด้วยการต้องคิดพิจารณาตลอดเวลาที่ฟังว่า เราจะมีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องที่ฟังนั้นได้อย่างไร ในระดับใด จึงเหมาะสม และพยายามหาทางมีส่วนร่วมให้มากที่สุด 
     ฟังด้วยใจ ?สัมผัสใจ? มนุษย์ไม่ใช่ ?เครื่องจักรตรรกะ? ไม่เหมือนคอมพิวเตอร์ที่สามารถสื่อสารได้แต่สิ่งที่เป็นเพียงเหตุและผล แต่มนุษย์นั้นสื่อสารอารมณ์ความรู้สึกออกมาด้วย ดังนั้น เราจึงต้องรับฟังแบบ ?รู้สึกร่วม? โดยรับฟังอารมณ์ความรู้สึกที่ผู้พูดสื่อสารออกมาด้วย ต้องสัมผัสได้ว่า ผู้พูดรู้สึกอย่างไร และสามารถส่งกลับความรู้สึกของเราไปด้วย ทำให้เราสามารถตอบสนองแบบ ?ได้ใจ? คน เพราะคนจะสัมผัสได้ว่าเราจริงใจ ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเขาจริง ๆ 
     ฟังด้วยใจ ?ตอบสนอง? คนที่อารยสดับ จะไม่เป็นพวก NATO ? No Action Talk Only : ไม่ทำอะไร พูดอย่างเดียว และไม่เป็นพวก NAHO - No Action Hear Only : ไม่ทำอะไร ฟังอย่างเดียว แต่จะพยายามมีส่วนสนองตอบต่อสิ่งที่ฟังอย่างเหมาะสม โดยไม่ต้องให้คนพูดนั้นมาร้องขอ แต่เราจะเป็นฝ่ายเสนอตัว หาทางช่วยเหลือ เพื่อสนองตอบในสิ่งที่เป็นประเด็นที่สื่อสารออกมา
     เอพิคเตทัส (Epictetus) นักปรัชญากรีกกล่าวไว้อย่างน่าคิดว่า ?เรามีสองหูและมีปากเดียว ดังนั้น เราจึงควรฟังมากกว่าพูดสองเท่า? หากเราเรียนรู้ที่จะฟังกันและกันให้มาก ย่อมลดปัญหาและการเข้าใจผิดต่าง ๆ ที่เกิดจากการไม่ฟังและการฟังอย่างไม่รอบคอบได้ 

ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์

นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com
Catagories: