ยุทธศาสตร์บริหารประสิทธิภาพ 8E โมเดล E7 ประสิทธิเขต
ปัจจุบันเป็นโลกที่ทุกศาสตร์เชื่อมโยงถึงกัน และไม่อาจแยกออกจากกันได้ เพราะโลกปัจจุบัน เป็นโลกที่มีความซับซ้อน มากขึ้นปัจจุบันเป็นโลกที่ทุกศาสตร์เชื่อมโยงถึงกัน และไม่อาจแยกออกจากกันได้ เพราะโลกปัจจุบัน เป็นโลกที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ความปรารถนาและเป้าหมายของมนุษย์ก็มีความซับซ้อนมากขึ้น สิ่งที่ทำได้จึงมีเพียงการบูรณาการศาสตร์ต่างๆ เข้าด้วยกัน ผมมองขาดว่าในอนาคต การทำสิ่งใดๆ ที่อยู่ในขอบเขตเดิมจะไปไม่ได้ไกล ผู้ที่ขี่ยอดคลื่นเท่านั้นที่จะยังคงอยู่และไปต่อได้ ด้วยเหตุนี้ ผมจึงนำการคิดเชิงบูรณาการมารวมกับการบริหาร เกิดเป็นยุทธศาสตร์การบริหารอย่างมี ?ประสิทธิเขต? (Externality) หรือที่เรียกว่า ?ยุทธศาสตร์ประสานพลังบูรณาการขยายผลลัพธ์ไปนอกขอบเขต? เป็น 1 ใน 8 ยุทธศาสตร์ที่อยู่ในยุทธศาสตร์การบริหาร 8E โมเดล
ผมสร้างศัพท์ คำว่า ?ประสิทธิเขต? จากการผสมคำ 2 คำ ได้แก่ คำว่า ?ประสิทธิ? + ?เขต? คำว่า เขต หมายถึง อาณาบริเวณ, บริเวณ, เขตแดน, แถบ, ถิ่น, ย่าน, อาณาเขต, แนวที่กำหนดขีดคั่นไว้ การบริหารอย่างมีประสิทธิเขต จึงหมายถึง การบริหารเชิงยุทธศาสตร์ที่มุ่งขยายผลลัพธ์ที่เลอค่าออกนอกกรอบเดิม หรือให้ส่งผลกระทบเชิงบวกไปนอกขอบเขตเดิมได้ โดยมีหลักการ คือ ทุกระบบหรือทุกกระบวนการ มีขอบเขตในการสร้างผลลัพธ์เสมอ เพราะฉะนั้น จึงต้องเรียนรู้การประสานพลังกับสิ่งที่อยู่นอกขอบเขต และการบูรณาการกับสิ่งที่อยู่ภายนอกของขอบเขต
การขยายผลลัพธ์ไปนอกขอบเขตสามารถทำได้ 2 แนวทางหลัก
แนวทางแรก ขยายผลลัพธ์ใน ?แนวนอน? หมายถึง ขอบเขตพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ ทำให้เกิดผลกระทบเชิงบวกจากผลลัพธ์ที่ได้ ไม่เพียงพัฒนาให้เกิดความเจริญในหมู่บ้านเป้าหมาย แต่ส่งผลให้ความเจริญเกิดขึ้นเกินกว่าหมู่บ้านนั้น เช่นขยายผลไปสู่ตำบล หรืออำเภอ หรือจังหวัด หรือประเทศนั้น หรือแม้กระทั่งไปประเทศอื่นๆ เช่น การดูแลไม่ให้เกิดไฟป่า ไม่ให้เกิดมลภาวะจากไฟป่าล่องลอยไปกระทบประเทศอื่นๆ
แนวทางที่สอง ขยายผลลัพธ์ใน ?แนวตั้ง? หมายถึง ขอบเขตประเด็นหรือเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ทำให้เกิดผลกระทบเชิงบวกจากผลลัพธ์ที่ได้ ไปนอกประเด็น เช่น เครื่องจักรไอน้ำที่ใช้ในโรงงานได้ถูกนำไปประยุกต์ใช้เป็นรถจักรไอน้ำ หรืออินเทอร์เน็ตเดิมที่ถูกสร้างเพื่อใช้ในทางทหาร แต่ถูกเอาไปใช้ในทางพาณิชย์ ในการเรียนรู้ หรือจีนให้ความช่วยเหลือต่างประเทศในการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อสร้าง Soft Power หรืออิทธิพลทางการเมืองระหว่างประเทศ หรือนำโลจิสติกส์ ไปใช้ในทางการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
เครื่องมือที่ช่วยให้เกิดการบริหารอย่างมีประสิทธิเขต เช่น
1) สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media)
การนำ social media มาใช้ นอกจากทำให้เกิดการทวีคูณแล้ว ยังทำให้เกิดประสิทธิเขตได้เช่นกัน เพราะสื่อสังคมออนไลน์ นับว่าเป็นช่องทางการทวีคูณและขยายขอบเขตผลลัพธ์ไปถึงคนทุกกลุ่มได้รวดเร็วที่สุด และมีต้นทุนต่ำที่สุด สำหรับผม การขยายขอบเขตของผลลัพธ์ด้วยสื่อสังคมออนไลน์ที่ดีที่สุด คือ การใช้เพื่อขยายอิทธิพลทางความคิดที่ดี ที่อารยะ เช่น การเปลี่ยนมุมมองความคิดเรื่องการเห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน การไม่ตัดสินคนจากภายนอก เพราะการส่งความคิดที่ดีและมีพลัง ไปยังคนทุกกลุ่ม ทุกประเภท จะสามารถก่อให้เกิดการส่งต่อหรือหยิบความคิดนั้นไปบูรณาการกับประเด็นต่างๆ ในสังคม
2) ความคิด 10 มิติ
ความคิดสร้างสรรค์และความคิดประยุกต์ เช่น บริษัท Cropx ได้ประยุกต์และนำเทคโนโลยีที่ใช้วิเคราะห์พันธุกรรมมนุษย์ มาวิเคราะห์ที่ดินทำการเกษตร เพื่อสร้างเทคโนโลยีที่เรียกว่า ?Internet of Soil? มาวิเคราะห์จุดที่เหมาะสมในการวาง wireless sensor ในที่ดิน โดยให้ส่งข้อมูลมาที่ application ในมือถือ และระบุว่าแต่ละจุดในที่ดินต้องการน้ำเท่าไร จึงจะได้ผลผลิตสูงสุด
แนวทางบริหารอย่างมีประสิทธิเขต เช่น
1) การบูรณาการข้ามศาสตร์ คือ การผสมผสานของศาสตร์ที่แตกต่างกัน อาทิ การให้นักวิจัยจากหลายสาขามาทำวิจัยร่วมกันในหัวข้อเรื่องหนึ่ง โดยแยกกันไปศึกษาในสาขาของตนเบื้องต้น แล้วจึงนำมาวิเคราะห์หาผลกระทบร่วมกันระหว่างศาสตร์, การให้นักวิจัยจากหลายสาขามาทำวิจัยร่วมกันในหัวข้อเรื่องหนึ่ง โดยแบ่งงานออกอย่างชัดเจนตามความถนัด จะทำให้เกิดการสร้างสรรค์องค์ความรู้ในสาขาใหม่ หรือนวัตกรรมที่นำไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบอื่นๆ เช่น (1) การศึกษาพฤติกรรมบูรณาการกับเศรษฐศาสตร์ ทำให้เกิดเศรษฐศาสตร์แขนงใหม่ คือ behavioral economics หรือ experimental economics
(2) การนำความรู้ฟิสิกส์นำมาใช้ในการวิเคราะห์ทางธรณีวิทยา ทำให้เกิดศาสตร์ธรณีฟิสิกส์ ซึ่งเป็นประโยชน์ในการสำรวจแหล่งแร่ น้ำมัน
หรือ (3) การนำความรู้ทางวิศวกรรมศาสตร์มาใช้ในทางการแพทย์ ทำให้เกิด วิศวกรรมชีวะการแพทย์ อันเป็นศาสตร์ที่เรียนรู้การพัฒนาเทคโนโลยีและอุปกรณ์สำหรับใช้ประโยชน์ทางการรักษาพยาบาล
2) การขยายบทบาท หมายถึงการเพิ่มบทบาทให้กับองค์กรหรือภาคส่วนต่างๆ นอกเหนือจากบทบาทหลัก เช่น มหาวิทยาลัยอาจสร้างประสิทธิเขต โดยการขยายบทบาทไปสู่ภาคธุรกิจ ผ่านการร่วมมือกับภาคเอกชนในการทำวิจัย การจัดตั้งบริษัทเพื่อต่อยอดงานวิจัย การจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ ดังตัวอย่าง Silicon Valley ที่เริ่มต้นจาก Startup ของนักศึกษา จนปัจจุบันกลายเป็นที่ตั้งของธุรกิจดิจิตัลชั้นนำของโลก และมีผลต่อการสร้างความสามารถในการแข่งขันของสหรัฐ ทำให้เกิดนวัตกรรมมากมาย หรือจะเป็นการขยายบทบาทไปสู่สังคม โดยการเป็นต้นแบบด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม (มหาวิทยาลัยสีเขียว)
ต้นแบบด้านธรรมาภิบาล (มหาวิทยาลัยสีขาว) การสร้างความเข้มแข็งของชุมชน บริการชุมชน การจัดตั้ง community affair หรือการให้ทุนนักศึกษาต่างประเทศ เพื่อให้ไทยมีพลังอ่อนละมุน (Soft Power)
การขยายขอบเขตจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นได้รับการทวีคูณที่มากพอ รวมถึงมีการประสานความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ อย่างทั่วถึง ด้วยใจยินดีที่จะพัฒนาสรรสร้างสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นร่วมกัน การบริหารอย่างมีประสิทธิเขต นับเป็นยุทธศาสตร์ที่ผู้นำและผู้บริหารพึงมี เพราะเป็นแนวทางจะทำให้เกิด ?นวัตกรรม? และสามารถนำพาบริษัทองค์กรไปสู่ยอดคลื่นของสังคมในปัจจุบันได้
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ