การส่งเสริมการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาในกลุ่มประเทศอาเซียน


แหล่งที่มาของภาพ : http://catennis.squarespace.com/storage/beginner-investing.jpg?__SQUARESPACE_CACHEVERSION=1323320721001

เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการเติบโตอย่างมากในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมาโดยมีความเชื่อมโยงและพึ่งพิงกับเศรษฐกิจโลกที่มีการพัฒนาในระดับสูง เนื่องจากลำพังทรัพยากรภายในประเทศเพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอที่จะพัฒนาประเทศให้ก้าวไปอย่างรวดเร็วจนทำให้ประชาชนส่วนใหญ่มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น การปรับเปลี่ยนตัวเองอยู่เสมอ (dynamism) ของเศรษฐกิจจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะเศรษฐกิจโลกมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา มีประเทศเกิดใหม่จากภูมิภาคอื่นที่พัฒนาตามหลังมา ประเทศในอาเซียนจึงต้องปรับตัวไปหาสิ่งใหม่ ๆ เพื่อหนีการไล่ตามนั้น และหาจุดที่เป็นจุดแข็ง (niche) ที่คู่แข่งไม่สามารถสู้ได้อยู่ตลอดเวลา การวิจัยและพัฒนา เพื่อสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ จึงเป็นเงื่อนไขจำเป็นสำหรับทุกประเทศในภูมิภาคนี้

แต่เมื่อพิจารณาจากระดับการวิจัยและพัฒนาในประเทศอาเซียนแล้ว ประเทศสิงคโปร์มีการลงทุนด้านการทำวิจัยและพัฒนาสูงถึง 2.27%ของ GDP ในปี 2009 ซึ่งสูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน ตามมาด้วยมาเลเซียซึ่งมีการลงทุนด้านการทำวิจัยและพัฒนา 0.84% ของ GDP ในขณะที่ประเทศอื่นๆ มีระดับการทำวิจัย และพัฒนาต่ำกว่า 0.25 %ของ GDP ซึ่งถือว่าต่ำมาก ดังนั้นบทความนี้จะอธิบายถึง ข้อเสนอแนะสำคัญที่ว่าทำอย่างไรประเทศไทยและอีก 7 ประเทศอาเซียนจึงจะสามารถเพิ่มอัตราการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาอันนำมาซึ่งการสร้างนวัตกรรมที่มากขึ้น


1. การสร้างศูนย์เทคโนโลยี (Technology Center) ผ่านการรวมกลุ่มของอุตสาหกรรมต่าง ๆ

สาเหตุหลักที่ภาคเอกชนส่วนใหญ่ไม่ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา เพราะการวิจัยและพัฒนา เป็นสิ่งที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กไม่มีศักยภาพในการลงทุน ดังนั้นหากผู้ประกอบการรายเล็กและผู้ประกอบการรายใหญ่รวมตัวกันตามกลุ่มอุตสาหกรรมอย่างเหมาะสม จะทำให้มีทุน องค์ความรู้ และทรัพยากรมากเพียงพอในการทำการวิจัยนวัตกรรม โดยสามารถตั้งเป็นสถาบันเพื่อการวิจัยของแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อจะทำให้เกิดการทำวิจัยและการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยทุนของสถาบันได้มาจากการสมทบทุนของผู้ประกอบการแต่ละรายในอุตสาหกรรม

2. การส่งเสริมสภาพแวดล้อมของการแข่งขันในสาขาการผลิตต่าง ๆ

สาเหตุอีกประการหนึ่งที่ทำให้ภาคเอกชนไม่ทำการวิจัยและพัฒนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งเอกชนรายใหญ่ ๆ ที่มีความสามารถในการทำการวิจัยและพัฒนาอยู่แล้ว คือสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ไม่มีการแข่งขัน เนื่องจากทำให้ขาดแรงจูงใจในการพัฒนาตนเองเพื่อจะชนะคู่แข่ง ทั้งนี้เพราะการวิจัยและพัฒนาเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการเอาชนะคู่แข่ง ดังนั้นภาครัฐจึงควรกำกับดูแลสาขาการผลิตต่าง ๆ ให้มีการแข่งขันอย่างเต็มที่ ทั้งการแข่งขันกันเองภายในประเทศและการแข่งขันกับต่างประเทศ

3. การเพิ่มงบประมาณวิจัยและพัฒนาเป็น 1% GDP โดยทันที และ 3% GDP ในระยะต่อไป

ประเทศที่มีการลงทุนด้านการวิจัยและการพัฒนาในระดับต่ำ รัฐบาลควรสร้างพันธะ (commitment) และกระตุ้นการวิจัยและพัฒนาในประเทศให้มากขึ้น โดยตั้งเป้าหมายด้านงบประมาณ ที่ภาครัฐจะใช้จ่ายเพื่อการทำวิจัยในสัดส่วนที่จะทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงในการวิจัยและพัฒนาของประเทศอย่างชัดเจน เช่น 1% ของ GDP และ 3% ของ GDP ในระยะต่อไป ทั้งนี้ควรมีระบบควบคุมคุณภาพวิจัยและพัฒนาที่รัฐเข้ามาบทบาทในการส่งเสริมให้เกิดผลลัพธ์ที่สามารถนำไปใช้เป็นประโยชน์ต่อได้ การดำเนินการดังกล่าวจะดึงดูดทรัพยากรต่าง ๆ ของประเทศมาใช้ในภาคการวิจัยและพัฒนาจนเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เช่น สามารถดึงดูดคนเก่งเข้ามาในภาคการวิจัยและพัฒนาจนสามารถสร้างมูลค่าให้กับการวิจัยและพัฒนาให้เห็นได้ ช่วยสร้างบรรยากาศการทำการวิจัยและพัฒนาให้เกิดขึ้นในประเทศ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ในการสร้างแรงดึงดูดให้ภาคเอกชนเห็นประโยชน์ของการวิจัยและพัฒนาจนเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนามากขึ้นต่อไป

4. การพัฒนามหาวิทยาลัยที่มีศักยภาพด้านวิจัยสู่การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยชั้นนำ

รัฐสนับสนุนงบประมาณ ทรัพยากร และกำหนดมาตรการเจาะจง ในการพัฒนา มหาวิทยาลัยที่มีศักยภาพด้านการวิจัย สู่มหาวิทยาลัยวิจัยชั้นนำ โดยให้แต่ละ มหาวิทยาลัย เน้นวิจัยตามจุดแข็งและเอกลักษณ์ของตน จัดตั้งหน่วยงานสรรหาบุคลากร (Head Hunter) เพื่อดึงดูดคนเก่ง ผู้เรียน คณาจารย์ทั่วโลกเข้าสู่มหาวิทยาลัยในสาขาวิจัยที่เชี่ยวชาญและมีศักยภาพ เมื่อมหาวิทยาลัยวิจัยวิจัยมีคุณภาพย่อมทำให้เกิดการร่วมมือวิจัยกับภาคเอกชนได้มากขึ้น เอกชนมั่นใจมากขึ้นในการลงทุน ดังเช่นในประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่ภาคเอกชนร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในการสร้างนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ที่สามารถสร้างรายได้มหาศาล

5.การผลักดันให้เกิดนวัตกรรมบนจุดแกร่งของประเทศ รากฐานสู่การพัฒนาภาคธุรกิจที่ยั่งยืน
ปรับทิศทางการวิจัยของประเทศให้อยู่บนฐาน ?การวิจัยนวัตกรรมบนฐานจุดแกร่งของประเทศ? โดยให้ภาคธุรกิจได้ประโยชน์ เพราะจะสามารถสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวด้านนวัตกรรมที่มีความสอดคล้อง เหมาะสม สามารถใช้ได้จริงกับบริบทการพัฒนาและทิศทางการปรับตัวของประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ทั้งนี้อาจแยกเป็นจุดแกร่งในภาพรวมของประเทศ หรือแยกย่อยเป็นจุดแกร่งเฉพาะแต่ละท้องถิ่นแต่ละภูมิภาค เพื่อเป็นฐานการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้และสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ก่อเกิดรายได้ และมีส่วนสนับสนุนการพัฒนาประเทศในอนาคต การกระทำดังกล่าวเป็นการทุ่มทรัพยากรที่ทำให้เกิดผลอย่างชัดเจน แทนการทุ่มเงินแบบเบี้ยหัวแตกในการสนับสนุนการวิจัยในทุกด้าน ทำให้มีพลังมากเพียงพอในการขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนาซึ่งต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก

บทสรุป และ บทเรียนสำหรับประเทศไทย : ข้อเสนอแนะทั้ง 5 ประการคือสิ่งที่สำคัญที่จะช่วยในการเพิ่มการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาภายในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ผมคิดว่าประเทศไทยควรส่งเสริมการลงทุนด้านการวิจัย และการพัฒนา ตามข้อเสนอแนะดังกล่าวโดยเร็วที่สุด เพราะประเทศที่ขาดการทำวิจัยและการพัฒนาอย่างประเทศไทยคือประเทศที่อยู่ในฐานะผู้ผลิตตามคำสั่ง (OEM: Original Equipment Manufacturing) ทำให้บริษัทต่างๆ มีความเสี่ยงในการถูกเลิกจ้างผลิตจากเจ้าของตราสินค้าไปสู่ประเทศใหม่ ๆ ที่มีความได้เปรียบในผลิตมากกว่า ดังนั้นประเทศไทยควรเร่งสร้างนวัตกรรมเพื่อที่จะสามารถสร้างตราสินค้า (Brand) ที่เป็นของตนเอง ในตลาดโลก

ผมเชื่อว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องพยายามปรับตัวและสร้างจุดแข็งเพื่อที่จะสามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านในอนาคตผ่านการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพราะ ในปัจจุบัน ประเทศ ไทยมีความได้เปรียบในการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติน้อยลง เหตุมาจาก ปัจจัยด้านค่าแรงขั้นต่ำที่สูงขึ้น ภาวะขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม เป็นต้น ดังนั้นในอนาคต ในยุคประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2015 หากประเทศไทยยังไม่สามารถส่งเสริมการลงทุนด้านการวิจัย และ พัฒนาให้อยู่ในระดับที่ดีขึ้น เศรษฐกิจไทยจะไม่สามารถพัฒนาเทียบเท่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคได้

ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : http://www.actu-environnement.com/images/illustrations/decryptages/12897_homepage.jpg