ปรับแอดมิสชั่นส์ อย่าเป็นแค่โยนหินถามทาง (ศึกษาทัศน์)
เมื่อเร็ว ๆ นี้ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) มีแนวคิดการนำคะแนนสะสมความดีมาเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อสถาบันอุดมศึกษา ในระบบแอดมิสชั่นส์ ซึ่งอาจเริ่มใช้ในปีการศึกษา 2554 หากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีนโยบายและจัดทำระบบวัดคุณธรรมที่ชัดเจน และประสานงานกับมหาวิทยาลัยเรียบร้อยแล้ว โดยระยะแรกอาจเริ่มในระดับมัธยมปลาย สัดส่วนร้อยละ 5 หรือมหาวิทยาลัยอาจนำไปเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการรับตรง แต่ระยะยาวควรเริ่มตั้งแต่ประถมศึกษาปีที่ 1 จนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 ทั้งนี้ เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนและครู ได้เรียนรู้และปฏิบัติเชิงคุณธรรมอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ศธ. และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้การประชุมร่วมกัน และมีมติให้นำการทำกิจกรรมคุณธรรมความดีมาเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการพิจารณาเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา
หากจะวิเคราะห์นับตั้งแต่มีการใช้ระบบแอดมิสชั่นส์ครั้งแรกเมื่อปี 2549 พบว่า มีการปรับเปลี่ยนในรายละเอียดองค์ประกอบแอดมิสชั่นส์บ่อยครั้ง อาทิ แอดมิสชั่นส์ปีการศึกษา 2550 ได้เปลี่ยนข้อสอบ A-NET ให้เป็นปรนัยทั้งหมด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการตรวจข้อสอบอัตนัยดังเช่นในปีการศึกษา 2549 และเมื่อเดือนมิถุนายน 2550 ทปอ. เพิ่งประกาศใช้องค์ประกอบการสอบแอดมิสชั่นส์ ปีการศึกษา 2553 โดยการสอบ O-NET ได้เพิ่มกลุ่มสาระการเรียนรู้ในจาก 5 เป็น 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ซึ่ง 3 กลุ่มสาระการเรียนรู้ที่เพิ่มเข้ามา ได้แก่ สุขศึกษาและพลศึกษา การงานอาชีพและเทคโนโลยี และศิลปะ และเอา Aptitude Test มาแทนการสอบ A-NET แบ่งเป็นการวัดความถนัดทั่วไป และการวัดความถนัดเฉพาะวิชาชีพ ซึ่งมีข้อถกเถียงอีกว่า การสอบเพิ่มกลุ่มสาระวิชาในการสอบ O-NET จาก 5 เป็น 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ เป็นภาระหนักสำหรับผู้เรียน และอีก 3 กลุ่มสาระการเรียนรู้ที่เพิ่มเข้ามาเป็นเพียงวิชาที่นำไปใช้ในชีวิตประจำวัน และยังมีแนวคิดที่จะนำคะแนนสะสมความดีมาเป็นองค์ประกอบในการสอบแอดมิสชั่นส์ ในปีการศึกษา 2554
ผมจึงมีความเป็นห่วงว่า การมีการปรับเปลี่ยนองค์ประกอบแอดมิสชั่นส์บ่อยครั้ง ในระยะเวลาแค่ 2 ปี หากไม่ดำเนินการอย่างรอบคอบ อาจทำให้ผู้เรียน พ่อแม่ผู้ปกครอง รวมถึงผู้ปฏิบัติงานในสถานศึกษาเกิดความสับสน อีกทั้ง ประชาชนอาจไม่ไว้วางใจการทำงานของ ศธ. สกอ. และ ทปอ. เพราะมติที่กลับไปกลับมา กล่าวคือ เพิ่งมีการปรับองค์ประกอบกอบแอดมิสชั่นส์ที่จะนำไปใช้ปีการศึกษา 2553 แต่มีแนวคิดที่จะนำคะแนนสะสมคุณธรรมความดีมาองค์ประกอบใหม่ในปีการศึกษา 2554 ซึ่งผิดจากข้อตกลงที่ต้องประกาศองค์ประกอบแอดมิสชั่นส์ใหม่ล่วงหน้าอย่างน้อย 3 ปี
ดังนั้น เพื่อให้ประชาชนไว้วางใจการทำงานของ ศธ. สกอ. และ ทปอ. และเพื่อป้องกันผู้เรียนไม่ให้ตกเป็นหนูทดลองซ้ำแล้วซ้ำอีก ควรมีความรอบในการปรับเปลี่ยนองค์ประกอบแอดมิสชั่นส์ โดย
ให้พร้อมแล้วค่อยตัดสินใจดำเนินการ การตัดสินใจเกี่ยวกับองค์ประกอบแอดมิสชั่นส์ของ ศธ. สกอ. และ ทปอ. ควรตัดสินใจครั้งเดียวให้รอบคอบมากที่สุด ไม่กลับไปกลับมาหรือปรับเปลี่ยนบ่อย เนื่องจากมีผลต่อผู้เรียนทั้งประเทศ ควรเรียนรู้ประสบการณ์ความผิดพลาดของการสอบแอดมิสชั่นส์ครั้งแรกในปี 2549 แม้ความผิดพลาดครั้งนั้นไม่ได้มีสาเหตุหลักมาจากองค์ประกอบแอดมิสชั่นส์ แต่เกิดจากการขาดความพร้อมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบจัดสอบ O-NET และ A-NET เป็นต้น
ศึกษาวิจัยผลกระทบอย่างบูรณาการ การที่จะตัดสินใจลงมติใช้องค์ประกอบแอดมิสชั่นส์อย่างรอบคอบเพียงครั้งเดียวต้องเกิดจากการศึกษาวิจัยล่วงหน้า มีการเปรียบเทียบผลดีผลเสียกับองค์ประกอบเดิมที่เคยดำเนินการมา วิเคราะห์ผลกระทบเชิงบวกและเชิงลบของการปรับเปลี่ยนองค์ประกอบแอดมิสชั่นส์ โดยการศึกษาวิจัย ไม่ควรเป็นการศึกษาวิจัยกันเองภายใน แล้วนำไปสรุปเป็นมติที่ประชุม แต่ควรให้นักวิชาการจากภาคส่วนอื่น รวมถึงภาคประชาชนเข้ามีส่วนร่วมแสดงความเห็นด้วย และควรมีช่องทางนำเสนองานวิจัยสู่สาธารณชนด้วย เพื่อให้ภาคประชาสังคมมีส่วนใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาและแสดงความเห็น ก่อนสรุปเกี่ยวกับแอดมิสชั่นส์
การจะกำหนดกติกาการศึกษาใด จำเป็นต้องคิดอย่างรอบคอบ มีการศึกษาวิจัยรองรับ และประกาศใช้เมื่อมีความพร้อม เพื่อเกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และเกิดผลกระทบเชิงลบให้น้อยที่สุด
Tags:
เผยแพร่:
สยามรัฐรายวัน
เมื่อ:
2007-10-29