ทำงานสังคมแบบนักเศรษฐศาสตร์
ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
งานสังคม (social work) หมายถึงงานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเข้าไปแก้ปัญหาของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการช่วยแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ที่มีปัญหาหรือไม่สามารถช่วยตัวเองได้ ตัวอย่างของงานสังคมที่พบอยู่ในประเทศไทย อาทิ งานสังคมสงเคราะห์ งานสาธารณประโยชน์ งานพัฒนาชุมชน ประชาสังคม การเรียกร้องสิทธิของผู้ที่ยากไร้และขาดอำนาจต่อรอง ฯลฯ
ผู้ที่ทำงานสังคมจำนวนมากเป็นผู้ที่ตระหนักถึงความสำคัญหรือรุนแรงของปัญหาสังคม และเสียสละตัวเองและอาสาตัวเข้าไปทำงานนั้น โดยไม่ได้คำนึงถึงผลตอบแทนที่เป็นตัวเงิน เช่น อาสาสมัคร ผู้นำชุมชน ผู้ที่ทำงานในมูลนิธิหรือสมาคมต่าง ๆ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ผลงานวิจัยและข้อมูลที่ปรากฏยืนยันว่า การทำงานสังคมโดยอาสาสมัครและองค์กรพัฒนาเอกชนจำนวนมากในประเทศไทยยังขาดประสิทธิภาพ ซึ่งเหตุผลส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะแนวความคิดของผู้ที่ทำงานสังคมที่เน้นการให้โดยไม่หวังผลตอบแทนหรือแสวงหากำไร จึงอาจทำให้เขาละเลยที่จะประเมินประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากรและผลที่ได้รับจากการทำงานเพื่อสังคม
แม้ว่าผู้ที่ทำงานสังคมจะไม่ได้มีแรงจูงใจทางเศรษฐกิจ แต่ผมเห็นว่า ผู้ที่ทำงานสังคมไม่ควรละเลยแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ เพราะผมเชื่อว่าหากเขาเหล่านั้นนำวิธีคิดทางเศรษฐศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในงานสังคม จะทำให้การใช้ทรัพยากรและการทำงานสังคมมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยที่ไม่ทำให้เขาต้องสูญเสียอุดมการณ์แต่อย่างใด โดยผมขอนำเสนอแนวคิดเศรษฐศาสตร์บางแนวคิดในบทความนี้
ต้นทุนค่าเสียโอกาส (Opportunity Cost)
ต้นทุนค่าเสียโอกาส หมายถึง ผลตอบแทนที่มากที่สุดจากทางเลือกที่ไม่ถูกเลือก หรืออธิบายให้เข้าใจได้ง่าย ๆ ว่า หากเรามีทางเลือกในการใช้ทรัพยากรอยู่หลายทาง แต่ละทางเลือกมีผลตอบแทนจากการใช้ทรัพยากรไม่เท่ากัน หากเราเลือกทางเลือกที่มิได้ให้ผลตอบแทนมากที่สุด ต้นทุนค่าเสียโอกาสจะมีค่าเท่ากับทางเลือกที่ให้ผลตอบแทนมากที่สุด แต่หากเลือกทางเลือกที่ให้ผลตอบแทนมากที่สุด ต้นทุนค่าเสียโอกาสจะมีค่าเท่ากับทางเลือกที่ให้ผลตอบแทนมากเป็นอันดับสอง ต้นทุนค่าเสียโอกาสแตกต่างจากต้นทุนทางบัญชีที่มองเฉพาะต้นทุนทางการเงินเท่านั้น แต่นักเศรษฐศาสตร์นำค่าเสียโอกาสมาคำนวณเป็นต้นทุนด้วย
การทำงานสังคมจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรเช่นเดียวกับงานประเภทอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเงิน วัสดุอุปกรณ์ สถานที่ และแรงงาน แต่ผู้ที่ทำงานสังคมส่วนหนึ่งอาจละเลยต้นทุนค่าเสียโอกาสในการนำทรัพยากรต่าง ๆ มาใช้ในการทำงานสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้นทุนที่ไม่เป็นตัวเงินหรือต้นทุนที่มองไม่เห็น (implicit cost) เช่นต้นทุนแรงงานที่เป็นอาสาสมัครในงานเพื่อสังคม ซึ่งอาจจะไม่ถูกนำมาคิดเป็นต้นทุนในการทำงาน หรือไม่ถูกนำมาคิดในการประเมินผลการทำงานสังคม
ยิ่งไปกว่านั้น งานสังคมจำนวนหนึ่งอาจใช้ทรัพยากรเกินความจำเป็น (Overcapacity) โดยเฉพาะการระดมอาสาสมัครจำนวนมากเกินกว่างานที่มีอยู่หรือคนล้นงาน และการใช้คนที่ไม่เหมาะสมกับงานหรือให้งานที่ไม่ถนัดหรือต่ำกว่าระดับความสามารถ เช่น นักวิชาการอ่านหนังสือบันทึกเสียงให้คนตาบอดฟัง แพทย์เดินรับบริจาคเงิน นักธุรกิจไปเยี่ยมชนบท เป็นต้น ซึ่งแม้ว่าการทำงานอาสาสมัครเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ดี แต่มีต้นทุนค่าเสียโอกาสเป็นจำนวนมาก และอาจมีทางเลือกอื่นที่มีประสิทธิภาพมากกว่าในการทำงานสังคม
ผลตอบแทนต่อสังคมมากกว่าต้นทุนต่อสังคม
แนวคิดอีกประการที่ผู้ทำงานสังคมควรคำนึงถึง คือ การใช้ทรัพยากรเพื่อทำงานสังคมต้องทำให้เกิดผลตอบแทนต่อสังคมหน่วยสุดท้าย (Marginal Social Benefit) มากกว่าต้นทุนต่อสังคมหน่วยสุดท้าย (Marginal Social Cost) หรือหมายความว่า ต้นทุนแต่ละหน่วยที่สังคมต้องจ่ายเพิ่มเข้าไปในงานสังคมนั้นจะต้องให้ผลตอบแทนต่อสังคมเพิ่มขึ้นมากกว่าต้นทุนที่เพิ่มเข้าไป จึงจะเรียกได้ว่าเป็นการทำงานสังคมที่มีประสิทธิภาพ
การตัดสินใจของผู้ที่ทำงานสังคมในการเลือกว่าจะทำงานสังคมประเภทใด และใช้ทรัพยากรสำหรับแต่ละงานเท่าไร ควรพิจารณาด้วยหลักการข้างต้น ด้วยเหตุนี้ผู้ที่ทำงานสังคมจึงจำเป็นต้องพิจารณาปัญหาสังคมและทางเลือกในการทำงานสังคมให้กว้างขึ้น เพื่อที่จะเลือกและจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่ไปในงานที่จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและคุณภาพชีวิตของประชาชนมากที่สุด และทำให้ปัญหาสังคมได้รับการแก้ไขและผู้ที่มีปัญหาได้รับการช่วยเหลือในระดับที่เหมาะสมและทั่วถึง
ประการสำคัญผู้ทำงานสังคมควรพิจารณาศักยภาพของตน เครือข่ายอาสาสมัครและทรัพยากรที่มีอยู่ เพื่อจัดสรรกำลังคนและทรัพยากรไปในงานที่เหมาะสม ในการปัญหาสังคมหนึ่ง ๆ ผู้ทำงานสังคมต้องพิจารณาว่าวิธีการทำงานแบบใดที่มีต้นทุนต่ำและผลตอบแทนต่อสังคมสูงสุด ทั้งนี้ผู้ทำงานสังคมบางท่านอาจมีศักยภาพในการบริหารธุรกิจมากกว่าการทำงานสังคมโดยตรง ดังนั้นการที่เขาผันตัวเองไปเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคม (Social Entrepreneur) โดยทำธุรกิจเพื่อหาเงินมาทำงานสังคม หรือเป็นนักธุรกิจเพื่อหาเงินมาบริจาคให้กับคนที่ทำงานสังคม หรือจ้างคนมาทำงานสังคม อาจเป็นทางเลือกที่มีต้นทุนค่าเสียโอกาสต่ำกว่าและเกิดประโยชน์ต่อสังคมมากกว่าการลงไปทำงานสังคมด้วยตนเองโดยตรง เช่น บิลล์ เกต ควรทุ่มเทเวลาทำงานกับบริษัทไมโครซอฟท์แล้วนำกำไรไปสนับสนุนคนอื่นหรือหน่วยงานอื่นทำงานแก้ปัญหาสังคม น่าจะดีกว่าผันตัวมาเป็นผู้ทำงานสังคมโดยตรง เป็นต้น
ในสภาวะที่การทำงานสังคมในประเทศไทยมีทรัพยากรจำกัด หากผู้ทำงานสังคมนำแนวคิดดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ น่าจะเป็นประโยชน์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดสรรทรัพยากร และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการตอบสนองความต้องการทางสังคมและการแก้ปัญหาสังคมที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก
Catagories:
Tags:
เผยแพร่:
กรุงเทพธุรกิจ
เมื่อ:
2007-10-31
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ค่าแรงขั้นต่ำ: ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการบริหารจัดการ
Total views: อ่าน 118 ครั้ง
การหมิ่นประมาท คือ ฆาตกรรมชื่อเสียง
Total views: อ่าน 84 ครั้ง
Passive Outcome
Total views: อ่าน 202 ครั้ง
เกียรติระบบ : Honour System สังคมให้เกียรติ หลู่เกียรติ ทอนเกียรติ ตู่เกียรติ
Total views: อ่าน 166 ครั้ง
ยุติสงคราม สร้างสันติภาพโลกถาวร (ซ้ำ)
Total views: อ่าน 148 ครั้ง