คนไทยจะได้อะไรจากกระแส outsourcing
เชื่อหรือไม่ว่า ทฤษฎีที่บอกว่าโลกกลม กำลังจะถูกล้มล้าง เพราะโลกกำลังจะแบน !!!
หนังสือ ldquo;The World is Flatrdquo; ของ Thomas Friedman ได้จุดประกายความคิดนี้จากการเดินทางของผู้เขียนไปทำข่าวที่เมือง Bangalore ประเทศอินเดีย และได้พบกับความก้าวหน้าในอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) และพบว่าประเทศของเขาคือสหรัฐอเมริกา และประเทศที่เคยถือว่าด้อยพัฒนากำลังจะก้าวขึ้นมาเทียบชั้นกัน ทำให้เป็นโลกที่ไม่มีอันดับอีกต่อไป เขาจึงสรุปว่า ldquo;โลกกำลังจะแบนrdquo; ซึ่งถือว่าเป็นขั้นสุดยอดของโลกาภิวัตน์ (Globalization) ซึ่งไม่ได้หมายความว่าโลกแบนในเชิงกายภาพ
Friedman ได้แบ่งโลกาภิวัตน์ออกเป็น 3 ยุค คือ Globalization 1.0 (version 1.0) เริ่มต้นตั้งแต่โคลัมบัสค้นพบดินแดนใหม่ ยุคนี้เป็นการเชื่อมกันระหว่างประเทศ โดยตัวจักรที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคือ กำลังคน กำลังของสัตว์ต่าง ๆ
ต่อมาคือยุค Globalization 2.0 เริ่มต้นตั้งแต่ช่วงปี 1800 ซึ่งเริ่มมีการปฏิวัติอุตสาหกรรม เกิดการค้นพบเทคโนโลยีการผลิตตั้งแต่ พลังเครื่องจักรไอน้ำ เครื่องจักรที่ใช้น้ำมัน จนกระทั่งเป็นเทคโนโลยีการสื่อสาร เช่น โทรศัพท์ โทรเลข เป็นต้น ทำให้ต้นทุนในการขนส่งและสื่อสารลดลง ยุคนี้จึงเกิดบรรษัทข้ามชาติ (Multinational corporation ndash; MNCs) ขึ้น และเป็นโลกที่เชื่อมโยงกันไม่เพียงแต่ระดับรัฐชาติเท่านั้น แต่ลงลึกไปถึงระดับบรรษัทข้ามชาติที่ย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศต่าง ๆ
สุดท้ายคือยุค Globalization 3.0 ซึ่งเริ่มต้นเมื่อปี 2000 Friedman มองว่ายุคนี้เป็นการเชื่อมโยงลงลึกไปถึงระดับปัจเจกบุคคล ทำให้สามารถติดต่อสื่อสารกันได้โดยตรงผ่านเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต เช่น การประชุมระหว่างผู้บริหารบริษัทที่อยู่กันคนละทวีป หรือนักศึกษาชาวอเมริกันและชาวนิวซีแลนด์ร่วมกันคิดค้นโปรแกรมโดยไม่เคยเห็นหน้ากันแม้แต่ครั้งเดียว เป็นต้น
Friedman ได้อธิบายการเชื่อมโยงของโลกในปัจจุบัน ที่มีระบบการจ้างหน่วยงานหรือบุคคลภายนอก (outsourcing) มากอย่างที่เราอาจคาดไม่ถึง เช่น บริษัทในสหรัฐฯ ต่างย้าย call center ไปยังอินเดีย โดยมีพนักงานชาวอินเดียที่สามารถพูดภาษาอังกฤษสำเนียงอเมริกันได้อย่างดี เช่นเดียวกับบริการบริษัทด้านบัญชีของสหรัฐฯ ที่นิยมจ้างนักบัญชีในอินเดีย โดยธุรกิจนี้เติบโตอย่างรวดเร็วจาก 25,000 งานในปี 2003 เป็น 4 แสนงานในปี 2005 แม้แต่บริษัทด้านข่าวอย่าง Reuters ยัง outsource ไปยังอินเดีย หรือแม้แต่รูปปั้น Virgin of Guadadalupe ที่ชาวเม็กซิกันนับถือและวางขายในเม็กซิโกยังทำมาจากประเทศจีน เป็นต้น
อันที่จริง outsourcing เป็นเพียงส่วนหนึ่งของโลกาภิวัตน์เท่านั้น ยังมีกระบวนการผลิตแบบอื่น ๆ อีกมากที่ Friedman ได้กล่าวในหนังสือเล่มนี้ แต่การที่ผมนำเรื่อง outsourcing มาเล่าสู่กันฟัง เพราะคิดว่าเป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงต่อคนไทย
ในด้านโอกาสนั้น outsourcing ทำให้ตลาดแรงงานของไทยถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของตลาดแรงงานโลก ซึ่งแน่นอนว่ามีค่าจ้างแรงงานที่สูงกว่าการทำงานในประเทศไทยมาก outsourcing จะทำให้แรงงานไทยจำนวนหนึ่งสามารถรับการจ้างงานจากบริษัทต่างประเทศ โดยไม่ต้องจากบ้านจากถิ่นไปยังต่างประเทศ แต่ได้รับรับเงินเดือนระดับสูงได้ (แม้จะยังต่ำกว่าค่าจ้างแรงงานอเมริกัน) ซึ่งเป็นโอกาสให้แรงงานไทยในระดับบนทั้งหลาย
แต่ในขณะเดียวกัน outsourcing อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย
ประการแรก ความไร้เสถียรภาพของตลาดแรงงานระดับสูง เพราะเมื่อตลาดแรงงานไทยถูกผนวกเข้ากับตลาดแรงงานโลกแล้ว อาจทำให้ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกจะถูกส่งผ่านมายังเศรษฐไทยมากขึ้น กล่าวคือหากเศรษฐโลกตกต่ำจะส่งผลโดยตรง ทำให้แรงงานระดับสูงของไทยตกงานไปด้วย
ประการที่สอง ปัญหาการสมองไหลจากหน่วยงานในประเทศ โดยเฉพาะหน่วยงานราชการจะยิ่งทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เมื่อมีบริษัทต่างชาติมาจ้างคนไทยด้วยเงินเดือนสูงถึงบ้านเกิดเมืองนอน
ประการสุดท้าย ช่องว่างการกระจายรายได้ที่มากขึ้น เนื่องจากแรงงานที่รับประโยชน์จาก outsourcing คือแรงงานที่มีฝีมือ (skilled labor) ที่มีคุณสมบัติสำคัญขั้นพื้นฐาน คือ พูดภาษาอังกฤษหรือภาษาต่างประเทศได้คล่องและใช้คอมพิวเตอร์ได้ดี ความต้องการแรงงานกลุ่มนี้จะทำให้ระดับค่าจ้างแรงงานมีฝีมือในประเทศเพิ่มขึ้น ดังนั้น outsourcing จะทำให้ช่องว่างของรายได้เพิ่มมากขึ้น
ผมเห็นว่าความเสี่ยงดังกล่าวข้างต้นเป็นเรื่องที่รัฐบาลสามารถจัดการได้ outsourcing จึงน่าจะเป็นโอกาสมากว่าความเสี่ยง อย่างไรก็ตาม โอกาสดังกล่าวนี้อาจจะยังไม่เปิดต่อประเทศไทยมากนัก เนื่องจากบุคลากรในประเทศไทยที่มีคุณสมบัติตรงตามที่บริษัทต่างประเทศต้องการ มีจำนวนไม่มากนัก ซึ่งเป็นผลจากความล่าช้าของการปฏิรูปการศึกษา ทำให้คนไทยจึงไม่ได้รับประโยชน์จากกระแส outsourcing มากนัก