สร้างธรรมาภิบาลภาคปฏิบัติ เริ่มจาก สตง.
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่สำคัญในการตรวจสอบการเงินแผ่นดิน รวมถึงการจัดทำรายการและติดตามผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานราชการทั่วประเทศ ปัจจุบันมีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ส่วนภูมิภาค จำนวน 15 แห่งกระจายครอบคลุมทุกภาคของประเทศ แต่ที่ผ่านมา มีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณการจ้างบุคลากร ทำให้ไม่สามารถทำหน้าที่ตรวจสอบการเงินแผ่นดินในหน่วยงานราชการทุกแห่งอย่างเต็มประสิทธิภาพ
จากการแถลงผลการปฏิบัติงานของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2549 ปรากฏว่า จำนวนหน่วยรับตรวจที่มี 71,562 แห่งทั่วประเทศ แต่สามารถตรวจเสร็จและออกรายงานในปีงบประมาณเดียวกันเพียง 6,613 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 9.24 เท่านั้น แสดงให้เห็นถึงภาวะการขาดแคลนบุคลากรในองค์กร ซึ่งแน่นอนว่าย่อมส่งผลต่อประสิทธิภาพการตรวจสอบเงินแผ่นดินในหน่วยงานต่าง ๆ ด้วยโดยปริยาย
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อข้าราชการ สตง. ส่วนภูมิภาคต้องเดินทางไปในจังหวัดที่ตนรับผิดชอบ โดยที่แต่ละแห่งอาจรับผิดชอบ 4-5 จังหวัด และต้องหมุนเวียนกันไปตรวจสอบแต่ละหน่วยงานราชการให้เสร็จตามเวลาที่กำหนดซึ่งบางครั้งเวลาก็ไม่เพียงพอ เนื่องจากบุคลากรมีไม่พอต่อปริมาณงานที่มาก จึงอาจทำให้ขาดการตรวจสอบที่ลงลึก เป็นเหตุให้ผลงานที่ได้เป็นไปอย่างผิวเผิน จนอาจไม่นำไปสู่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุอย่างแท้จริง
การแก้ปัญหานี้ควรเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ควรใส่ใจ แต่เสนอว่าไม่จำเป็นต้องเพิ่มบุคลากรที่เป็นข้าราชการ แต่ควรส่งเสริมการสร้างธรรมาภิบาลภาคปฏิบัติ โดยส่งเสริมให้ประชาชนในทุกจังหวัดเข้ามาทำหน้าที่ร่วมกับ สตง. ส่วนภูมิภาค อย่างเป็นระบบ เพื่อช่วยให้การทำงานของ สตง. มีประสิทธิภาพครอบคลุมหน่วยรับตรวจต่าง ๆ มากขึ้น ซึ่งอาจดำเนินการได้ดังนี้
แก้กฎหมาย เพื่อจัดตั้ง ldquo;อาสาสมัครตรวจเงินแผ่นดิน (อตง.) ประจำจังหวัดrdquo; รัฐบาลควรพิจารณาเพิ่มกฎใน พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 ให้มีการจัดตั้งอาสาสมัครตรวจการแผ่นดินประจำจังหวัดในทุกจังหวัด (ยกเว้นกรุงเทพมหานคร) และระบุขั้นตอนการคัดเลือกผู้สมัครเป็น อตง. ประจำจังหวัด ใน พ.ร.บ. ฯ เพื่อให้เกิดการสร้างธรรมาภิบาลภาคปฏิบัติขึ้น
จัดตั้ง ldquo;อตง. ประจำจังหวัดrdquo; โดย สตง. ส่วนภูมิภาค จะประกาศรับสมัครประชาชนในแต่ละจังหวัดให้เข้ามาร่วมทำงานกับ สตง. ส่วนภูมิภาค แล้วคัดเลือกจังหวัดละ 10 คน เพื่อให้เบาะแสการทุจริตในหน่วยงานราชการ เสนอแนะการตรวจสอบการเงินแผ่นดินด้านต่าง ๆ ปรับปรุงการทำงานให้สอดคล้องกับบริบทปัจจุบัน รวมถึงร่วมตรวจสอบกับ สตง. ส่วนภูมิภาค อาทิ การพิจารณาการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ในจังหวัดกับกลุ่มตรวจสอบดำเนินงาน และการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุภัณฑ์ในจังหวัดกับกลุ่มตรวจสอบบริหารพัสดุ
ฅมอบรางวัล ldquo;เชิดชูคนดีที่ทำงานเพื่อส่วนรวมrdquo; โดย สตง. ส่วนกลาง ควรสนับสนุนให้มีการจัดสัมมนา สตง. ส่วนภูมิภาค เป็นประจำทุกปีเพื่อรายงานผลการดำเนินงาน วางแผนการทำงานในปีถัดไป และมอบรางวัลให้แก่อาสาสมัครตรวจเงินแผ่นดินทุกคน
ธรรมาภิบาลภาคปฏิบัติในระบบราชการจะเป็นจริงได้นั้น ต้องอาศัยการร่วมมือและเห็นคุณค่าจะทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล ข้าราชการ หน่วยงานเอกชน และภาคประชาชน เพื่อความยั่งยืนในการทำหน้าที่บริหารประเทศ และขจัดปัญหาการคอร์รัปชั่นให้หมดไปจากประเทศไทย โดยให้ สตง.เป็นหน่วยงานนำร่องและเป็นต้นแบบให้หน่วยงานอื่นต่อไป
เผยแพร่:
สยามรัฐรายวัน
เมื่อ:
2007-10-18