SE เพิ่มโอกาสการเรียนรู้ให้คนในสังคม

รัฐบาลทุกสมัยมีเจตนารมณ์ให้ประชาชนทุกคนได้รับการศึกษาและการเรียนรู้อย่างทั่วถึง และมีคุณภาพ แต่ปัจจุบันพบว่า มีประชาชนบางกลุ่มยังไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ จึงขาดโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี จากผลการติดตามและประเมินการดำเนินงานปฏิรูปการศึกษานับตั้งแต่ประกาศใช้ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ถึงสิ้นสุดปีงบประมาณ 2548 สะท้อนปัญหาการจัดการเรียนรู้ที่ไม่ทั่วถึง ซึ่งพบว่าผู้เรียนจำนวนหนึ่งไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้ ดังนี้

การศึกษาในระบบ
นักเรียนที่จบชั้นประถมศึกษาในปี 2546 จำนวน 992,087 คน ศึกษาต่อในชั้นมัธยมต้นปีการศึกษา 2547 คิดเป็นร้อยละ 97.2 แม้เพิ่มขึ้นจากปี 2546 ร้อยละ 4.7 แต่ถือว่ามีเด็กที่ไม่ได้เรียนต่อมัธยมต้นอีกร้อยละ 2.8 และในปีการศึกษา 2547 ผู้เรียนที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมต้นจำนวนหนึ่งไม่ศึกษาต่อมัธยมปลายได้ เนื่องจากอยู่ไกลและค่าใช้จ่ายสูง แม้ว่าผู้เรียนได้เข้าสู่ระบบการศึกษา ยังมีปัญหาออกกลางคัน ประมาณ 1 แสนคนต่อปี นอกจากนี้ ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาสเข้าถึงระบบการศึกษาได้น้อย ปีการศึกษา 2547 ผู้พิการรับการศึกษาเพียงร้อยละ 20 และผู้ด้อยโอกาสเพียงร้อยละ 13.3

การศึกษานอกระบบและอัธยาศัย
การจัดการศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัยแก่ผู้ที่ไม่สามารถเข้าเรียนการศึกษาในระบบได้ ไม่ว่าจะเป็นเด็กและเยาวชน กลุ่มคนทำงาน กลุ่มผู้สูงอายุ รวมถึงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ ยังไม่ทั่วถึงและได้คุณภาพมาตรฐาน ประกอบกับการเทียบโอนผลการเรียนจากการศึกษาในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย การฝึกอาชีพ และประสบการณ์ทำงาน ยังไม่ราบรื่นเท่าที่ควร

ดังนั้น จะเห็นได้ว่ารัฐบาลไม่สามารถจัดการศึกษาได้โดยลำพัง ผมจึงเห็นว่าควรมีตัวช่วยเข้ามาอุดรอยรั่วด้านการจัดการเรียนรู้ของรัฐ ที่เรียกว่าผู้ประกอบการทางสังคม (Social Entrepreneur: SE) คือ ผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ มีความสามารถในการบริหารจัดการแบบธุรกิจ และมีความต้องการแก้ไขปัญหาสังคม โดยใช้รูปแบบการบริหารธุรกิจ ซึ่งมีทั้งความคล่องตัว ความมีประสิทธิภาพ จึงสามารถเลี้ยงตัวเองได้ หรือทำธุรกิจ เพื่อนำผลกำไรมาสนับสนุนการแก้ไขปัญหาสังคมโดยเฉพาะ

ผมได้เห็นตัวอย่างผู้ประกอบการทางสังคมในต่างประเทศ ที่ประสบความสำเร็จในการช่วยเหลือด้านการเรียนรู้ให้แก่คนในสังคม อาทิ

บริษัทนิวไลฟ์ (Newlife)
เป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือในด้านการจ้างงานและการฝึกอบรม ให้แก่ผู้ที่ตกงาน และเยาวชนที่ออกจากระบบการศึกษา มีการประเมินกันว่า การที่บริษัท Newlife ได้สนับสนุนกลุ่มเป้าหมายให้มีงานทำ ช่วยลดงบประมาณของกระทรวงการคลังได้ราว 77,000 ปอนด์ต่อปี นั่นหมายความว่าบริษัทนิวไลฟ์ ได้ช่วยลดภาระของรัฐในการจัดสรรงบประมาณ เพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในสังคม

Homeboy Industries
ก่อตั้งโดยบาทหลวง เกรเกอรี่ เจ บอยล์ (Gregory J. Boyle) เมื่อปี 1988 เป็นผู้ประกอบการทางสังคม เน้นช่วยเหลือเด็กที่เสี่ยงก่ออาชญากรรม ในนครลอสแอนเจลิสประเทศสหรัฐอเมริกา ให้การฝึกอบรมอาชีพด้านการประกอบอาชีพ โดยที่เด็กมีโอกาสได้ทำงานที่ตนถนัดและมีรายได้ไปพร้อมกัน ซึ่งทำให้ Homeboy Industries สามารถดำเนินกิจกรรมได้อย่างต่อเนื่อง เช่น ร้านขนมปัง ร้านสกรีนภาพ เสื้อผ้า ร้านสเต็ก เย็บเสื้อผ้า เด็ก ผู้ใหญ่ บุรุษ สตรี หมวก และการซ่อมบำรุง ปัจจุบัน Homeboy Industries ได้ช่วยเหลือเด็กได้กว่า 1 พันคนต่อเดือน บางคนมีธุรกิจเป็นของตนเอง

Youth Radio
ผู้ก่อตั้งคือ เอลลิน โอ เลียรี (Ellin Orsquo;Leary) นักหนังสือพิมพ์และนักจัดรายการวิทยุ เป็นผู้ประกอบการทางสังคมที่ใช้ความสามารถของตน ในการพัฒนาทักษะด้านสื่อวิทยุให้แก่เด็ก ในนครซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กมัธยมปลาย ที่ไม่ประสบความสำเร็จด้านการเรียน กว่าร้อยละ 80 มาจากครอบครัวที่มีรายได้ต่ำ เด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมกับ Youth Radio จะได้รับการอบรมการเขียนบทและการจัดรายวิทยุเอง Youth Radio ช่วยรื้อฟื้นการเห็นคุณค่าและการเชื่อมั่นในตนเองของเด็ก Youth Radio รับการสนับสนุนผ่านการบริจาค โดยที่ผู้บริจาคได้รับของขวัญตอบแทนตามจำนวนเงินที่ได้บริจาค

Inveneo
ก่อตั้งโดย คริสติน ปีเตอร์สัน (Kristin Peterson) เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร และเป็นผู้ประกอบการทางสังคม ที่มีเป้าหมายนำอุปกรณ์ด้านไอซีที เช่น คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต ฯลฯ และฝึกอบรมด้านไอซีที เข้าประชาชนในชนบท ในประเทศที่กำลังพัฒนา โดยเฉพาะประเทศแถบแอฟริกา ลักษณะเด่นของ Inveneo ในการเป็นผู้ประกอบการทางสังคมคือ สร้างเครือข่ายกับบริษัทที่ผลิตเทคโนโลยีด้านไอซีที อาทิ Intel's, AMD, Linux Solution ฯลฯ เมื่อ Inveneo เข้าไปในประเทศใด จะเข้ามาสร้างเครือข่ายกับบริษัทไอซีทีในประเทศนั้น ซึ่งเรียกว่า ldquo;Inveneo Certified ICT Partnersrdquo; (ICIPs) ตั้งแต่กลางปี 2006 Inveneo ทำสำเร็จ 20 โครงการ มีประชาชนกว่า 1 แสนคน ได้รับการพัฒนาทักษะไอซีที

ดังที่นำเสนอมาข้างต้นนี้ จะเห็นได้ชัดว่าผู้ประกอบการเพื่อสังคม ได้มีส่วนช่วยพัฒนาการเรียนรู้ของคนในสังคมจึงสามารถช่วยอุดช่องโหว่การให้บริการด้านการเรียนรู้ของรัฐ

การให้ผู้ประกอบการทางสังคมเข้ามามีบทบาทจัดการเรียนรู้ให้คนไทยได้นั้น ควรวิเคราะห์บริบทสังคมไทยว่า สามารถผลักดันผู้ประกอบการทางสังคม ให้เกิดขึ้นและประสบความสำเร็จได้หรือไม่และอย่างไร รวมถึงการสนับสนุนทางกฎหมายจากภาครัฐ การสนับสนุนสถาบันอุดมศึกษาเปิดหลักสูตรผู้ประกอบการเพื่อสังคม รวมถึงการประชาสัมพันธ์ผู้ที่เป็นผู้ประกอบการทางสังคม ให้เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับ ฯลฯ เพื่อให้ผู้ประกอบการทางสังคมเกิดขึ้นได้
admin
Catagories: 
เผยแพร่: 
การศึกษาวันนี้
เมื่อ: 
2007-10-18