การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญากับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
การบังคับใช้สิทธิในการผลิตหรือนำเข้ายาที่ติดสิทธิบัตร (Compulsory license หรือ CL) ของไทยต่อบริษัทผลิตยาของสหรัฐอเมริกา ในยา 3 รายการ คือ ยาต่อต้านไวรัสเอดส์ 2 รายการ (เอฟฟาไวเรนซ์และคาเลตตรา) และยาป้องกันความรุนแรงของโรคเส้นเลือดอุดตันในหัวใจ (พลาวิกซ์) อีก 1 รายการ เป็นเหตุให้เกิดการโต้แย้งที่ยังไม่ได้ข้อยุติ ด้านรัฐบาลไทยยังคงพยายามเจรจาต่อรองให้บริษัทยาลดราคายาลง เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาเหล่านี้ได้มากขึ้น แต่ทางด้านบริษัทยาของสหรัฐฯ ยังคงยืนกรานไม่ยอมลดราคาลง และหาทางกดดันรัฐบาลไทยในหลายด้าน โดยเฉพาะการขู่ว่าจะตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ในสินค้าส่งออกของไทย ซึ่งผลจะเป็นอย่างไรคงต้องติดตามกันต่อไป
สหรัฐฯ เป็นประเทศที่ให้ความสำคัญเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญามาก เนื่องจากเศรษฐกิจของสหรัฐถูกขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม สินค้าที่ถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินทางปัญญาในระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มีมูลค่าถึง 5 ndash; 5.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณร้อยละ 45 ของรายได้ประชาชาติของประเทศสหรัฐฯ ซึ่งถือได้ว่าสูงกว่ารายได้ประชาชาติของทุกประเทศในโลกเสียด้วยซ้ำ
อย่างไรก็ตาม การที่สหรัฐฯ เอาจริงเอาจังในการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา อาจไม่ได้ส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เสมอไป เนื่องจากการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่ยาวนานเกินไป ทำให้ประโยชน์จากการผูกขาดไปตกกับเจ้าของสิทธิบัตรมากและนานเกินไป ในขณะที่ผู้บริโภคต้องแบกรับภาระต้นทุนในการซื้อสินค้าที่มีสิทธิบัตรในราคาที่สูงมาก
งานศึกษาเรื่อง ldquo;การเจริญเติบโตและทรัพย์สินทางปัญญาrdquo; (Growth and Intellectual Property) โดยไมเคิล โบลดริน และเดวิด เลวีน ระบุว่า การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา ทำให้เกิด ldquo;ภาวะได้อย่างเสียอย่างrdquo; (trade off) ระหว่างการผูกขาดที่ไม่น่าปรารถนา กับ การสร้างสรรค์นวัตกรรมซึ่งเป็นสิ่งที่ดี นโยบายการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เหมาะสม จึงขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ของการสร้างสรรค์นวัตกรรม และต้นทุนของการผูกขาด ผลด้านใดจะมากกว่ากันในเชิงปริมาณ ทั้งนี้ผู้ศึกษาไม่ได้สนับสนุนให้ยกเลิกการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เพียงแต่ต้องกำหนดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
งานศึกษาชิ้นนี้เป็นการวัดระดับการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาที่เหมาะสมของสังคมสหรัฐฯ และหาความสัมพันธ์ของระดับการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญากับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (Market size) ของสหรัฐฯ
ผลการศึกษานำไปสู่ข้อสรุปเชิงนโยบายว่า นโยบายคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เหมาะสมควรเปลี่ยนแปลงไปตามขนาดของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เนื่องจากทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ระบุว่า ยิ่งเศรษฐกิจหรือตลาดมีขนาดใหญ่ ยิ่งทำให้รายได้จากการผูกขาดเพิ่มสูงขึ้น ระยะเวลาในการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาจึงควรลดลงเมื่อตลาดมีขนาดใหญ่ขึ้น
ทั้งนี้จากการวิเคราะห์จากข้อมูลอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ผ่านมา พบว่า ระยะเวลาการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาควรจะลดลงประมาณ 2 เดือนต่อปี เช่น หากเดิมมีการคุ้มครองสิทธิบัตร 2 ปี ระยะเวลาการปกป้องควรจะลดลง 4 เดือน จาก 2 ปี เหลือ 1 ปี 8 เดือน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาระยะเวลาการคุ้มครองสิทธิบัตรและลิขสิทธิ์ของสหรัฐในขณะนี้ กำลังเคลื่อนไปในทิศทางที่ไม่ตรงกับหลักการที่ควรจะเป็น กล่าวคือ ในขณะที่เศรษฐกิจมีการขยายตัวมากขึ้น และตลาดมีขนาดใหญ่ขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ระยะเวลาการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญายังคงยาวนานเช่นเดิม ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการเรียกร้องให้คุ้มครองยาวนานขึ้น
ผลการศึกษาเจาะลึกลงไปอีกว่า ระยะเวลาการปกป้องลิขสิทธิ์และสิทธิบัตรในสหรัฐฯ สูงกว่าระดับที่เหมาะสม ทำให้เกิดการผูกขาดอย่างสมบูรณ์ในตลอดระยะเวลาวัฏจักรของสินค้าใหม่ ซึ่งระยะเวลาที่เหมาะสมในการให้ความคุ้มครองลิขสิทธิ์ คือ 2 ปี และสิทธิบัตรอยู่ที่ระยะเวลาประมาณ 10 ปี
จากงานศึกษาดังกล่าว แม้ว่าไม่ได้ศึกษากรณีประเทศไทยโดยตรง แต่ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งหากมีการนำผลการศึกษาไปต่อยอด นำไปปรับใช้ให้สอดคล้องกับบริบทประเทศไทย เพื่อที่จะกำหนดนโยบายที่เหมาะสมในการคุ้มครองลิขสิทธิ์และสิทธิบัตรของประเทศไทย เพื่อทำให้การกำหนดระยะเวลาการคุ้มครองอยู่บนพื้นฐานของเหตุผล เป็นวิทยาศาสตร์มากกว่าการกำหนดบนพื้นฐานอารมณ์ความรู้สึก หรือเป็นไปตามความเคยชิน
นอกจากนี้จะเห็นว่านโยบายที่เหมาะสมในการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญานั้น อาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนระยะเวลาการคุ้มครองอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับระดับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปด้วย
Catagories:
Tags:
เผยแพร่:
สยามธุรกิจ
เมื่อ:
2007-06-13
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ค่าแรงขั้นต่ำ: ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการบริหารจัดการ
Total views: อ่าน 128 ครั้ง
สว. 2567 คนแบบคุณก็เป็นได้ โดยไม่ต้องใช้เงิน
Total views: อ่าน 163 ครั้ง
ที่ดิน ส.ป.ก. ทำกินเพื่อเกษตรกร ไม่ใช่ ทุจริตเพื่อข้าราชการ นายทุน และนักการเมือง
Total views: อ่าน 157 ครั้ง
เปลี่ยนเงินหวย เป็น 'สลากออมทรัพย์'
Total views: อ่าน 3,434 ครั้ง
แนวทางการพัฒนา ทุนมนุษย์ สำหรับประเทศไทย
Total views: อ่าน 1,483 ครั้ง