บทเรียนจากการพัฒนาการศึกษาเวียดนาม

แนวคิดเรื่องการพัฒนาประเทศแบบยั่งยืนเริ่มได้รับการยอมรับและกล่าวถึงมากขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย แนวคิดนี้ได้เน้นให้คนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา โดยพยายามผลักดันให้มีการพัฒนาคุณภาพของคนผ่านทางการศึกษา

ดังตัวอย่างประเทศเวียดนามที่พยายามปฏิรูปการศึกษาให้มีคุณภาพมากขึ้นในระดับสากล โดยล่าสุดรัฐบาลเวียดนามได้วางแผนที่จะสร้างมหาวิทยาลัยเพื่อจะให้เป็นแม่แบบของการเรียนรู้ โดยมีการขอความช่วยเหลือจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งด้านการออกแบบ การสร้างหลักสูตรและการบริหารจัดการ เพื่อสร้างมหาวิทยาลัยนานาชาติที่สามารถแข่งขันกับมหาวิทยาลัยในภูมิภาคและทั่วโลก สำหรับแนวทางการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยคือ จะมีการเชื่อมต่อข้อมูลกับแหล่งวิทยาการทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้นักศึกษาเข้าถึงข้อมูลได้สะดวกยิ่งขึ้น และดำเนินการโดยไม่หวังผลกำไร เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเข้าเรียนได้ ตลอดจนการมีพันธกิจในการพัฒนานักศึกษาให้ออกไปรับใช้สังคม และสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจโดยตรง

ความน่าสนใจของแนวคิดนี้คือ การคิดเชิงยุทธศาสตร์ และคิดเชิงบูรณาการ

-คิดเชิงยุทธศาสตร์ โดยการนำผู้เชี่ยวชาญและผู้บริหารระดับสูงของสถาบันศึกษาที่มีชื่อเสียงมาช่วยออกแบบการบริหารจัดการมหาวิทยาลัย ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างทางลัดในการพัฒนาคุณภาพให้กับมหาวิทยาลัยให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีความเป็นไปได้มากกว่าการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยตนเอง

-คิดเชิงบูรณาการ โดยแนวคิดดังกล่าวคำนึงถึงประโยชน์ด้านอื่น ๆ ด้วย กล่าวคือ เป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับหลักสูตรการศึกษา เป็นทางเลือกในการศึกษาต่อของนักศึกษาทั้งในประเทศและภูมิภาค และอาจเป็นช่องทางคนในภูมิภาคและทั่วโลกหันมาสนใจประเทศเวียดนามมากขึ้น ทั้งในแง่ความสามารถในการแข่งขัน การลงทุน เปลี่ยนมุมมองของหลายประเทศที่มีต่อเวียดนาม และการพัฒนาคนในประเทศให้มีคุณภาพ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

เมื่อหันกลับมามองประเทศไทย ปัญหาสำคัญที่ประเทศไทยเผชิญคือ การพัฒนาประเทศไม่ได้เน้นพัฒนาการศึกษาเป็นอันดับแรก แต่เน้นการเจริญเติบโตของตัวเลขทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ซึ่งการเติบโตมาจากการลงทุนข้ามชาติและพึ่งพิงเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ไม่ได้เกิดจากการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้และความสามารถ ทำให้ขาดความสามารถในการสร้างนวัตกรรมและต่อยอดองค์ความรู้ และทำให้มีความเสี่ยงที่จะขาดความสามารถในการแข่งขันในภาวะที่โลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคสังคมฐานความรู้

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาการศึกษาของชาติจะต้องมียุทธศาสตร์ที่ชาญฉลาด ไม่ใช่การทุ่มงบประมาณแบบปูพรมโดยขาดยุทธศาสตร์ ทั้งนี้ผมเคยเสนอยุทธศาสตร์ในการพัฒนาการศึกษาของชาติ คือ การพัฒนามหาวิทยาลัยบางแห่งให้เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก (Elite University) ในประเทศไทย ส่วนมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ควรพัฒนาให้เป็นมหาวิทยาลัยที่เชี่ยวชาญเฉพาะทาง (Niche University) เช่น เดียวกับการอนุญาตให้บางโรงเรียนเป็นโรงเรียนที่มีคุณภาพสูง (Elite School) เพื่อนำรายได้จากสถาบันการศึกษาที่มีคุณภาพสูงมาช่วยพัฒนาการศึกษาของชาติทั้งระบบ

นอกจากนี้ การพัฒนาระบบการศึกษาจะต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน การศึกษาต้องไม่เป็นเพียงเครื่องมือเสริมระบบเศรษฐกิจ โดยเน้นเพียงการสร้างความรู้สำหรับการประกอบอาชีพเท่านั้น แต่หน้าที่สำคัญอีกประการหนึ่งของการศึกษาคือ สร้างคนให้เกิด "ปัญญา" เพราะปัญญาจะช่วยให้คนประยุกต์ใช้ความรู้ได้อย่างถูกต้องและดีงาม ซึ่งเป็นการพัฒนามนุษย์ที่ยั่งยืน ไม่ใช้การสร้างคนเพื่อตอบสนองระบบเศรษฐกิจแต่เพียงประการเดียวเท่านั้น

admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2006-07-06