การศึกษาพื้นฐาน ?โคม่า? ชี้ชัดนโยบายเหลว
เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม ที่ผ่านมาผมได้เห็นข่าวที่ท่าน ศ.ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(สมศ.)ประกาศผลการประเมินคุณภาพภายนอกสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยระบุว่าจากสถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่ประเมิน 30,010 แห่ง ปรากฏว่าประมาณ 2 ใน 3 หรือมากกว่า 20,000 แห่ง มีแนวโน้มไม่ได้มาตรฐานขั้นต่ำ โดยเข้าขั้นอาการหนักถึงกว่า 15,000 แห่ง ผู้เรียนส่วนใหญ่มีผลสัมฤทธิ์ตามหลักสูตรต่ำ ด้อยความคิดสร้างสรรค์และขาดนิสัยการใฝ่รู้ใฝ่เรียน รวมทั้งมีปัญหาการขาดแคลนครูทั้งปริมาณและคุณภาพ
จากผลการประเมินดังกล่าวรัฐบาลชุดนี้คงไม่สามารถปฏิเสธได้ เห็นว่าเป็นความล้มเหลวของการปฏิรูปการศึกษาและนโยบายการศึกษาโดยระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาหากจะพัฒนาการศึกษาไทยอย่างลงลึกทั้งระบบแล้ว น่าจะเพียงพอสำหรับยกระดับมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานขึ้นมาได้บ้าง ไม่ควรตกต่ำถึงเพียงนี้ทั้งนี้เห็นได้ชัดว่าที่ผ่านมา เป็นการแก้ปัญหาแบบฉาบฉวย สร้างภาพ ที่ผ่านมา นโยบายรัฐบาลด้านการศึกษาให้ความสำคัญกับการเอื้อประโยชน์ในด้านวัตถุมากกว่าในด้านปัญญา เน้นการดำเนินโครงการที่เห็นผลได้รวดเร็ว มีผลงานเป็นรูปธรรมชัดเจน สร้างภาพ แต่ขาดความรอบคอบ ไม่ได้คิดวางแผนระยะยาว ไม่ได้แก้ไขที่รากปัญหาของระบบการศึกษาไทยอย่างแท้จริง โครงการต่าง ๆ ที่ดำเนินการจึงมีลักษณะฉาบฉวยและไม่ได้พัฒนายกมาตรฐานของผู้เรียนแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นโครงการแจกคอมพิวเตอร์ทุกโรงเรียน โครงการแล็ปท็อปราคา 100 เหรียญ โครงการ 1 อำเภอ 1 โรงเรียนในฝัน โครงการให้ทุนการศึกษา แต่เรื่องสำคัญกว่ากลับไม่ได้ทำ
ขาดการกำหนดทิศทางการศึกษาที่ชัดเจน ที่ผ่านมาการศึกษาไทยไม่ได้กำหนดทิศและเป้าหมายอย่างชัดเจน ไม่มีความเป็นเอกภาพ ไม่มีความชัดเจนว่าการศึกษาไทยจะไปทิศทางใด แต่ละหน่วยงานเกิดการแยกส่วนในการปฏิบัติ ทำให้ไม่สามารถขับเคลื่อนการศึกษาได้อย่างต่อเนื่อง เกิดการสูญเสียทรัพยากร รวมไปถึงที่ผ่านมาการเปลี่ยน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการถึง 6 คนทำให้ไม่สามารถสานต่อโครงการได้สำเร็จ มักคิดโครงการใหม่ ๆ ที่ฉาบฉวยขึ้นมาตลอดส่งผลให้การศึกษาไทยอ่อนแอและเด็กไทยด้อยปัญญาดังการประเมินที่ปรากฏ
น่าเศร้าที่ นโยบายหาเสียงด้านการศึกษาของพรรคไทยรักไทย ยังคงใช้รูปแบบเดิมๆที่ไม่ได้รับประกันใด ๆ เลยว่าจะสามารถยกระดับมาตรฐานทางปัญญาของเด็กไทยให้สูงขึ้น การนำเสนอขายยังคงเน้นแจก ldquo;เครื่องมือrdquo; ที่เป็นวัตถุ ไม่ว่าจะเป็นการให้ทุกโรงเรียนมีอินเทอร์เน็ตมีคอมพิวเตอร์เด็ก ๆ ถือแล็ปทอปไปโรงเรียนโดยไม่คำนึงว่าเครื่องมือเหล่านี้จะมี ldquo;ผู้ใช้rdquo; ที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะถ่ายทอดและสร้างปัญญาให้กับเด็ก ๆ ของชาติได้หรือไม่
การพัฒนาด้านการศึกษานับเป็นความท้าทายของทุกพรรคการเมืองที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาล ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่นโยบายที่ใช้หาเสียง แต่อยู่ที่ผลลัพธ์ที่จะปรากฏออกมาภายหลัง ซึ่งนั่นก็ขึ้นอยู่กับความจริงจังและความจริงใจว่าต้องการเข้ามายกระดับมันสมองของชาติมากน้อยเพียงใด