ทบทวนเกณฑ์ชี้วัดจัดอันดับ ม. ไทย
ldquo;โครงการ Ranking 2006rdquo; ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ที่มีการเปิดเผยเมื่อวันที่ 31 ส.ค.ที่ผ่านมา ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่าย ทั้งในส่วนที่เห็นด้วยกับการจัดอันดับที่จะทำให้มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา แต่อีกฝ่ายไม่ยอมรับและได้ออกมาทักท้วงการจัดอันดับดังกล่าว ทั้งในแง่ตัวชี้วัดที่เลือกใช้ ความครบถ้วนและความน่าเชื่อถือของการกรอกข้อมูลที่ทำโดยแต่ละมหาวิทยาลัย ตลอดจนประโยชน์ที่จะได้รับและการนำไปใช้ได้จริงของข้อมูล
ทั้งนี้ในระดับสากลมีการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดยสถาบันที่เป็นที่รู้จักหลายสถาบันโดยมีวัตถุประสงค์ในภาพรวมคือ เพื่อเป็นข้อมูลและแนวทางแก่นักศึกษาในการเลือกศึกษาต่อ สำหรับบริษัทต่างๆ ที่จะคัดเลือกบุคคลจากมหาวิทยาลัยเข้าทำงาน ตลอดจนนำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง อาทิ
การจัดอันดับมหาวิทยาลัยของ The Times Higher Education Supplement โดยนิตยสารไทม์ ซึ่งเป็นการจัดอันดับคะแนนตามเกณฑ์ ประกอบด้วย 5 เกณฑ์หลัก ได้แก่ การประเมินโดยคณาจารย์ในสาขาวิชา สัดส่วนคณาจารย์ต่อนักเรียน คณาจารย์จากต่างประเทศ นักศึกษาจากต่างประเทศ และอัตราส่วนการถูกอ้างอิงในวารสารวิชาการต่อจำนวนคณาจารย์ โดยแต่ละเกณฑ์จะถูกให้น้ำหนักแตกต่างกัน
การจัดอันดับมหาวิทยาลัยของ The Academic Ranking of World Universities โดยสถาบันของอุดมศึกษา(Institute of Higher Education) ของมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เจียวถง (Shanghai Jiao Tong University) ซึ่งเป็นการจัดอันดับคะแนนตามเกณฑ์ประกอบด้วย4เกณฑ์คือคุณภาพการศึกษาคุณภาพของคณะผลงานวิจัย ขนาดของสถาบัน ซึ่งการจัดอันดับของสถาบันนี้เชื่อว่ามีความน่าเชื่อถือ เพราะเป็นการจัดอันดับคุณภาพเชิงปริมาณโดยรวมทุกสาขาวิชา
การจัดอันดับมหาวิทยาลัยของ Webometrics ที่จัดทำขึ้นเพื่อแสดงความตั้งใจและการมีส่วนร่วมในการเผยแพร่องค์ความรู้สู่เว็บไซต์ของสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ และเป็นความริเริ่มเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงความรู้อย่างเปิดกว้างทั่วโลก การจัดอันดับของ Webometrics จะบอกถึงปริมาณและคุณภาพของสิ่งตีพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ของสถาบันอุดมศึกษาเพื่อใช้ร่วมกับตัวชี้วัดอื่นๆในการประเมินผลงานวิจัยของสถาบันฯ
หากพิจารณาจากแนวทางการจัดอันดับข้างต้น ผมเห็นว่า การจัดอันดับสถาบันการศึกษาจะช่วยสร้างบรรยากาศการแข่งขัน ทำให้เกิดการตื่นตัวในการพัฒนาคุณภาพสถาบันการศึกษา แต่การจัดอันดับนั้น ควรมีเกณฑ์ที่เหมาะสม สอดคล้องสภาพของมหาวิทยาลัย อาทิ
สอดคล้องกับหลักการของมหาวิทยาลัยอย่างครบถ้วน คือ สอดคล้องตามภารกิจหลักของมหาวิทยาลัยในการจัดการเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมอย่างครบถ้วน เพื่อนำไปสู่การตื่นตัวในการพัฒนาคุณภาพ และสร้างบรรยากาศแข่งขัน เพื่อใช้เป็นกรอบประเมินและพัฒนาคุณภาพ ประสิทธิภาพ และประสิทธิผลในการดำเนินการของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งได้ชัดเจนขึ้น
จัดอันดับเป็นกลุ่มตามเอกลักษณ์ของมหาวิทยาลัย คือ สถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่งมีความแตกต่างกันไม่ว่าจะเป็นจุดมุ่งหมายในการจัดการศึกษา หรือสาขาวิชาที่เป็นจุดเด่นหรือจุดแกร่งต่างกัน การจัดอันดับการแข่งขันจึงควรมุ่งเน้นให้เฉพาะมหาวิทยาลัยที่มีเอกลักษณ์ใกล้เคียงกันเปรียบเทียบกันเอง เช่น กลุ่มมหาวิทยาลัยชั้นนำ กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ กลุ่มมหาวิทยาลัยทางด้านเกษตรกรรม และกลุ่มมหาวิทยาลัยด้านเทคโนโลยี เป็นต้น ตลอดจนแบ่งการแข่งขันออกเป็นกลุ่มตามเอกลักษณ์ของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง เช่น ด้านเทคโนโลยี ด้านการท่องเที่ยว หรือตามคณะหรือสาขาวิชา เช่น คณะแพทยศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ เป็นต้น
หาวิธีจัดอันดับเพื่อให้เกิดการแข่งขันในเชิงสร้างสรรค์ และลดผลเชิงลบที่อาจเกิดขึ้นให้น้อยสุด เช่น ประกาศเฉพาะอันดับต้น ๆ อย่างเป็นทางการ หรือจัดอันดับโดยการให้ดาวมากกว่าการเรียงตามลำดับ เป็นต้น
การพยายามผลักดันให้มหาวิทยาลัยไทยพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้เทียบเท่ากับสากลนั้นเป็นสิ่งที่เราต้องยอมรับว่าเป็นความสำคัญระดับหนึ่ง เนื่องจากเรากำลังถูกนับรวมเข้าสู่ยุคของการแข่งขันระหว่างประเทศอย่างเข้มข้น ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่า มหาวิทยาลัยทั้งหมดต้องพัฒนาตนเองให้เป็นไปตามเกณฑ์เหล่านั้นทั้งหมด เพราะนั่นเท่ากับเป็นการทำลายระบบการศึกษาที่มีความหลากหลายลง หากแต่เราควรผลักดันให้มหาวิทยาลัยมีจุดแกร่งของตนเอง และพัฒนาบนพื้นฐานการวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ตามศักยภาพของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง ซึ่งจะส่งผลต่อการยกระดับคุณภาพการอุดมศึกษาให้เป็นที่ยอมรับในระดับชาติ และนานาชาติต่อไป