ข้อสังเกตต่อการดำเนินการเกี่ยวกับการเปิดเสรี
เมื่อวันที่ 24 พ.ย. ที่ผ่านมา ผมได้อภิปรายในการพิจารณารับทราบ ldquo;รายงานสรุปผลการดำเนินงานของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2548 ของสภาผู้แทนราษฎรrdquo; โดยข้อสังเกตของ คระกรรมาธิการฯมีความน่าสนใจอย่างมาก หากสำนักงบฯและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำข้อสังเกตต่าง ๆ ไปดำเนินการอย่างจริงจัง จะทำให้การใช้งบประมาณเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น
แต่เมื่อพิจารณารายงานดังกล่าว ผมพบว่ามีข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯหลายประการที่ยังไม่มีการดำเนินการอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเจรจาการค้าเสรี (FTA) ซึ่งกรรมาธิการฯให้ข้อสังเกตว่า ควรศึกษาวิเคราะห์เปรียบเทียบเชิงลึกระหว่างกลุ่มผู้ได้รับประโยชน์กับผู้เสียประโยชน์ สร้างความรู้ ความเข้าใจให้แก่ประชาชนทุกระดับ กำหนดแนวทางเตรียมความพร้อมด้านต่าง ๆ และมาตรการรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
ผมเห็นว่าหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องยังไม่ได้ดำเนินการตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ ดังนี้
หนึ่งhellip;ขาดยุทธศาสตร์ภาพรวมของการเปิดเสรี
การที่ สศช.จ้างสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ทำโครงการวิจัยผลกระทบของกระแสการจัดตั้งเขตการค้าเสรีทวิภาคีและประเด็นอื่น ๆ เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ภาพรวมของการเปิดเสรี ระหว่าง ก.ค. 2547 ถึง เม.ย. 2548 ผมเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีที่ควรทำ เพราะการเจรจาบนพื้นฐานข้อมูลทางวิชาการ จะทำให้ประเทศได้ประโยชน์สูงสุดและมีผลกระทบน้อยที่สุด เพียงแต่ผมสงสัยว่าเหตุใดเพิ่งทำการศึกษา
หากพิจารณาช่วงเวลาที่ไทยเจรจาและเปิด FTA กับประเทศต่างๆ เช่น FTA กับจีนที่เริ่มลดภาษีสินค้าพวกผัก ผลไม้ตั้งแต่ ต.ค.46 หรือ FTA กับอินเดียที่ลงนามร่วมกันตั้งแต่ ต.ค.46 FTA กับออสเตรเลียเริ่มเจรจาตั้งแต่ ส.ค.45 เสร็จสิ้น มี.ค.47 ขณะที่ FTA กับสหรัฐเจรจาครั้งแรกกลางปี 47 และปัจจุบันเจรจารอบที่ 5 แล้ว
จะเห็นได้ว่า การเจรจา FTA โดยส่วนใหญ่ เกิดก่อนโครงการศึกษาของ NIDA บางประเทศเริ่มเจรจาไปก่อนทำการศึกษาในโครงการนี้ บางประเทศได้เปิดเสรีไปแล้ว ด้วยเหตุนี้ จะมั่นใจได้อย่างไรว่า การเปิด FTA ที่ผ่านมา ส่งผลดีมากกว่าผลเสีย เพราะไม่ได้มีการศึกษายุทธศาสตร์ภาพรวมของการเปิดเสรีทั้งหมดก่อน แต่ลงนามไปโดยไม่ได้ประเมินภาพรวมและจัดลำดับความสำคัญ
สองhellip;ขาดการศึกษาเกี่ยวกับการปรับโครงสร้าง และการรองรับผลกระทบ
รัฐบาลกล่าวเสมอว่า ผลประโยชน์ของการเจรจาอยู่บนเงื่อนไขสำคัญ คือ ขึ้นอยู่กับความพร้อมของรัฐบาล ผู้ประกอบการ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ในการใช้ประโยชน์จากข้อตกลงเขตการค้าเสรีต่างๆ แต่ผลการดำเนินงานไม่ได้กล่าวถึงว่า มีมาตรการปรับโครงสร้าง หรือเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการอย่างไร ส่วนการตั้งกองทุนปรับโครงสร้างภาคเกษตร 10,000 ล้านบาท โดยปี 2547 ได้รับเงิน 100 ล้านบาทนั้น คำนวณจากอะไร และเพียงพอหรือไม่ เพราะไม่พบว่ามีการศึกษาต้นทุนการปรับตัว (adjustment cost) ของการเปิดเสรี
สามhellip;ขาดการประชาสัมพันธ์ และเผยแพร่ข้อมูลอย่างเพียงพอ
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้เผยแพร่ข้อมูลการเจรจา FTA ผ่านเว็บไซต์ www.oae.go.th ซึ่งเป็นช่องทางที่เกษตรกรโดยส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงได้ และจากการที่ผมได้รับฟังคำชี้แจงของคณะเจรจาต่าง ๆ พบว่า คณะเจรจาทั้งหมดยังไม่มีกลไกรับฟังความเห็นของคนบางกลุ่ม เช่น ผู้บริโภค ผู้ประกอบการรายย่อย และเกษตรกร ซึ่งเป็นรายย่อยและไม่มีการจัดตั้งเป็นกลุ่มที่ชัดเจน ยิ่งไปกว่านั้นแต่ละหน่วยงานต่างคนต่างทำการประชาสัมพันธ์และรับฟังความเห็น ไม่ได้มีการประสานงานกันหรือแบ่งความรับผิดชอบในการประชาสัมพันธ์ ซึ่งอาจเกิดความซ้ำซ้อนในกิจกรรมและกลุ่มคน
ผมเห็นว่า หากฝ่ายบริหารมีความเอาใจใส่ และนำความเห็นและข้อเสนอของฝ่ายนิติบัญญัติไปดำเนินการ หรือกำกับดูแลให้มีการดำเนินการอย่างจริงจัง การใช้งบประมาณและการบริหารราชการแผ่นดินคงจะมีประสิทธิภาพมากกว่าที่เป็นอยู่