หนี้พุ่ง เงินคงคลังหด รายได้เพิ่ม หลักฐานชัด รัฐบาลใช้จ่ายเกินตัว

เงินคงคลังวิกฤต เหตุรัฐบาลใช้จ่ายเกินตัว เป็นหนี้ตั๋วเงินคลังคงค้างกว่า 9.8 หมื่นล้าน เงินคงคลังหายไป 1.1 แสนล้าน จี้รัฐบาลชี้แจงกับประชาชนเงิน 1.1 แสนล้าน หายไปไหน

การที่รัฐบาลออกตั๋วเงินคลัง สะท้อนว่าอาจเกิดวิกฤตเงินคงคลัง ซึ่งเกิดจากการใช้จ่ายเกินตัวของรัฐบาล โดยมีหลักฐานดังต่อไปนี้ หนี้ตั๋วเงินคลังเพิ่มขึ้น แต่เงินคงคลังกลับลดลง ในความเป็นจริง รัฐบาลใช้จ่ายเกินตัวสะสมเรื้อรังมาตั้งแต่รัฐบาลทักษิณ 1 แล้ว เห็นได้จากหลักฐานการใช้เงินคลังที่ขัดแย้งกับการที่รัฐบาลอ้างว่าจัดงบประมาณแบบสมดุล เพราะในอดีตรัฐบาลออกตั๋วเงินคลังแต่ยังไม่ใช้คืนหนี้เป็นจำนวนมาก ทั้ง ๆ ที่โดยปกติตั๋วเงินคลังจะใช้คืนในระยะเวลาอันสั้น เช่น 3 เดือน 6 เดือน หรือ 12 เดือน ดังนั้นหากดูข้อมูลย้อนหลัง หนี้ตั๋วเงินคลังโดยสุทธิกลับเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ช่วงรัฐบาลทักษิณ 1 (2544) จนถึงปัจจุบัน ออกตั๋วเงินคลังรวมกันแล้ว 4.8 แสนล้าน แต่ใช้หนี้ตั๋วเงินคลังคืนเพียง 3.8 แสนล้าน แสดงว่าหนี้ตั๋วเงินคลังที่ยังไม่ได้ใช้คืนเป็นหนี้สะสม 9.8 หมื่นล้านrdquo;

เงินคงคลังตอนต้นรัฐบาลทักษิณ 1 มีประมาณ 5 หมื่นล้าน และเมื่อกู้ตั๋วเงินคลังเข้ามาเพิ่มสุทธิ 9.8 หมื่นล้าน ดังนั้นเวลานี้ควรจะมีเงินคงคลังอยู่ประมาณ 1.5 แสนล้าน แต่ขณะนี้กลับมี 3.6 หมื่นล้านเท่านั้น คำถามคือเงินคงคลังหายไปไหน 1.12 แสนล้าน ในการนี้รัฐบาลไม่ได้นำเงินคงคลังไปลดหนี้สาธารณะเพราะหนี้สาธารณะก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และรัฐบาลไม่ได้ใช้เงินคงคลังไปชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จึงมีความเป็นไปได้ว่ารัฐบาลทักษิณ 1-2 ใช้เงินคงคลังไปในรายจ่ายที่เกินความจำเป็น หากรัฐบาลใช้จ่ายอย่างมีวินัย ตอนนี้ควรมีเงินคงคลังอย่างน้อย 1.5 แสนล้าน แต่กลับมีเงินคงคลังเหลือเพียง 3.6 หมื่นล้าน ทำให้ต้องออกตั๋วเงินคลังเพิ่ม และหากกู้มาใส่เพิ่ม 8 หมื่นล้านตามตัวเลขของรัฐบาล จะมีเงินคงคลังเพียง 1.16 แสนล้าน ซึ่งยังต่ำกว่าระดับที่ควรจะเป็น แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลใช้จ่ายเกินตัวมาเป็นเวลานานแล้ว

รัฐบาลออกตั๋วเงินคลังในภาวะที่รัฐบาลอ้างว่าจัดเก็บรายได้เกินเป้า หากพิจารณาข้อมูลในอดีต เงินคงคลังเพิ่มขึ้นมาโดยตลอดโดยไม่ต้องออกตั๋วเงินคลัง เงินคงคลังเคยสูงถึง 3 แสนกว่าล้าน จนกระทั่งช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ รัฐบาลจำเป็นต้องใช้นโยบายงบประมาณขาดดุลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงต้องใช้เงินคงคลังมาชดเชยการขาดดุลบางส่วน ซึ่งไม่ใช่การใช้จ่ายเกินตัว ดังนั้นการที่รัฐบาลจะอ้างว่ารัฐบาลก่อน ๆ ออกตั๋วเงินคลังเหมือนกันนั้น ไม่สมเหตุสมผล เนื่องจากสภาพการณ์ต่างกัน ปัจจุบันรัฐบาลบอกมาตลอดว่าเศรษฐกิจดี เก็บรายได้เกินเป้า แต่ทำไมต้องออกตั๋วเงินคลัง แสดงว่ารัฐบาลใช้จ่ายเกินตัวใช่หรือไม่ เป็นไปได้ว่า ณ ตอนนี้ รัฐบาลเริ่มเก็บรายได้ไม่ถึงเป้า เนื่องจากประมาณการเศรษฐกิจปี 49 ในขณะนี้ ต่ำกว่าช่วงที่จัดทำงบประมาณค่อนข้างมาก ขณะนั้นประมาณไว้ว่าจีดีพีจะเติบโต 5.5%-6.5%

อันที่จริง ถ้ามีหนี้ตั๋วเงินคลังคงค้าง เงินคงคลังควรโตขึ้นตามจำนวนหนี้ตั๋วเงินคลังคงค้าง แต่ที่เป็นอยู่คือ เงินคงคลังกลับลดลง ขณะที่รัฐบาลบอกว่าจัดเก็บรายได้เกินเป้า ดังนั้นจึงอย่างอื่นไปไม่ได้ นอกเสียจากว่า รัฐบาลใช้จ่ายเกินตัว ทั้งนี้เปรียบเทียบกับภาพของครอบครัว โดยให้หนี้ตั๋วเงินคลังคือหนี้ เงินคงคลังคือเงินออม การจัดเก็บภาษีคือรายได้ และงบประมาณรายจ่ายคือรายจ่าย ภาวะที่ครอบครัวเป็นหนี้มากขึ้น แต่เงินออมลดลง ทั้งที่รายได้สูงขึ้น ย่อมเกิดจากการที่ครอบครัวใช้จ่ายมากเกินไปนั่นเอง

สรุปว่า รัฐบาลควรใช้จ่ายอย่างประหยัด ทบทวนหรือลดรายจ่ายในโครงการที่มีความสำคัญในระดับต่ำ ปรับเปลี่ยนการใช้จ่ายให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่เปิดช่องโหว่ให้มีการใช้จ่ายอย่างไม่รัดกุม หรือไม่รอบคอบ

admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2005-12-10