รายได้หวย อย่าอ้างเพื่อการศึกษา

ในที่สุด สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ลงมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล(ฉบับที่...) พ.ศ. ... ไปแล้วเมื่อวันที่ 11 ตุลาคมที่ผ่านมา แม้โดยส่วนตัวแล้ว ผมจะไม่เห็นด้วยกับการกลับมาของหวยบนดิน และอบายมุขทุกประเภท เพราะถือว่าเป็นการมอมเมาประชาชน แต่ได้เคยเสนอไว้นานแล้วว่า หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรปรับให้ซื้อขายหวยมีรูปแบบคล้ายสลากออมสิน เพื่อให้ผู้ซื้อซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนยากจนได้รับเงินส่วนหนึ่งคืน ในรูปของเงินออมหลังเกษียณอายุโดยให้สถาบันการเงินของรัฐเป็นผู้บริหารจัดการเงินออมดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม หากร่าง พ.ร.บ.หวย นี้ไม่สามารถแก้ไขเนื้อหาได้มากกว่านี้แล้ว เสนอว่า เงินส่วนนี้ไม่ควรไปกระจุกตัวอยู่ที่ใดที่หนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงกลาโหม หรือกระทรวงใด ๆ แต่ควรรวมเข้าเป็นรายได้ของแผ่นดินรวมกับรายได้อื่น ๆ โดยไม่จำเป็นต้องแจกแจงว่าหน่วยงานใดได้รับการจัดสรรงบจากเงินรายได้จำนวนนี้จำนวนเท่าไหร่ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และเป็นการป้องกันการครหาว่า หน่วยงานใดหาช่องใช้ประโยชน์จากเงินจำนวนนี้อย่างไม่เหมาะสม โดยหน่วยงานต่าง ๆ ก็จัดทำงบประมาณตามปกติ และได้รับจัดสรรตามที่ควรจะเป็น

ที่สำคัญ ไม่ควรสื่อสารกับประชาชนว่า จะนำเงินนี้ไปเพื่อสนับสนุนการศึกษา เพราะเห็นว่าจะเกิดผลเสียมากกว่า ดังเช่นโฆษณาในช่วงที่ผ่านมา ที่พยายามสื่อให้เห็นว่า เงินรายได้นั้นไปทำประโยชน์เพื่อสังคมเพื่อเด็ก เพื่อคนด้อยโอกาส อันมีผลทางอ้อมให้คนเห็นว่า สิ่งที่กองสลากทำนั้นถูกต้อง เท่ากับเป็นการกระตุ้นให้คนในสังคมเล่นหวยมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆทั้ง ๆ ที่หวย หรือสลากกินแบ่งนั้น ไม่ว่าประเภทใดก็ตาม ย่อมถือว่าเป็นการพนัน และเป็นอบายมุขประเภทหนึ่ง

ทั้งนี้ ในความเป็นจริง หน้าที่ในการพัฒนาการศึกษา การให้ทุนการศึกษา เป็นหน้าที่ของรัฐอยู่แล้ว โดยไม่ขึ้นอยู่กับที่มาของรายได้ว่ามาจากที่ใด รัฐควรจัดสรรให้ชัดเจนว่า ในแต่ละปี นักเรียนที่สมควรได้รับทุนรัฐบาลนั้น มีจำนวนเท่าใด ต้องใช้งบประมาณเท่าใด และควรกันงบส่วนนี้ไว้อย่างเฉพาะเจาะจงไม่จำเป็นต้องขึ้นกับเงินรายได้จากกองสลากแต่อย่างใด

แสดงความคิดเห็น
admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2007-10-18