วอนสังคมร่วมมือสร้างเยาวชนรุ่นใหม่
สภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ได้นำความเจริญ ความทันสมัย ความบันเทิง และความสบาย มาสู่คนในสังคม เด็กและเยาวชน ที่เกิดมาในช่วงความเจริญของสังคม จึงมีแนวโน้มจะติดภาพของความสบาย และไม่กระตือรือร้นที่จะแสวงหาเป้าหมายของชีวิต ประกอบกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศ ไม่ว่าจะเป็น อินเทอร์เน็ต โทรศัพท์มือถือ สื่อมวลชน ที่ส่วนใหญ่ตอบสนองความต้องการด้านบันเทิง แฟชั่น สินค้าราคาแพง ฯลฯ
ในประเทศไต้หวัน เด็ก และเยาวชนส่วนหนึ่ง ถูกเรียกว่า เด็กสตรอเบอรี่ (Strawberry Generation) เนื่องจากเด็กมีลักษณะไม่ชอบทำงานหนัก เปลี่ยนงานบ่อย ทนต่อแรงบีบคั้นไม่ได้ เนื่องจากเติบโตขึ้นมาท่ามกลางสภาพที่พ่อแม่ทุ่มเทเวลาให้กับการทำงาน โดยเลี้ยงดูลูกอย่างตามใจ คล้ายกับผลสตรอเบอรี่ที่เป็นผลไม้ที่ช้ำง่าย ไม่ทนทานต่อแรงกระแทก
เมื่อพิจารณาสถานการณ์เด็กและเยาวชนในประเทศไทยพบว่า ปัจจุบันเด็กไทยกำลังเผชิญสถานการณ์เช่นเดียวกัน เห็นได้จากผลการวิจัยเรื่อง ldquo;มองวิฤตเด็กและเยาวชนไทยจากปี 2547-2548rdquo; ของ ดร. อมรวิชช์ นาครทรรพ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) พบว่า สถาบันศาสนาที่อ่อนแอ สภาพครอบครัวที่แตกแยก สถาบันการศึกษาที่ขาดการสอนทักษะการคิด และหลักการดำเนินชีวิตที่ดี เป็นปัจจัยที่ทำให้เด็กและเยาวชนไทยถูกดึงเข้าสู่กระแสบริโภคนิยม สื่อลามก และสภาพสังคมที่ไร้ระเบียบ เช่น มีสถานบันเทิง ร้านเกม ค็อกเทลเลานจ์ เกลื่อนเมือง ในขณะที่ลานกิจกรรม ลานกีฬามีน้อย ฯลฯ
การที่สังคมได้นำเสนอปัญหาเด็กและเยาวชน ที่เกิดจากความเจริญก้าวหน้าของเศรษฐกิจ เป็นสิ่งที่จำเป็น เพื่อนำไปสู่แนวทางแก้ไข ซึ่งในที่นี้ผมขอเสนอแนวทางในเชิงบูรณาการต่อผู้เกี่ยวข้องดังนี้
สื่อมวลชน ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลมาก ควรนำเสนอสื่อที่มีส่วนในการปลูกฝังและพัฒนาค่านิยมที่ถูกต้องในทางสร้างสรรค์ รวมถึงการนำเสนอภาพของเด็กและเยาวชนที่อดทนทำงานหนัก มีความพยายาม หรือเป็นเด็กที่ล้มแล้วลุกขึ้นสู้มากขึ้น
ครอบครัว ควรสร้างความเข้าใจระหว่างคนในครอบครัว ผ่านการพูดคุย เข้าใจ และให้อภัยเสมอ เพื่อทำให้เด็กและเยาวชนรู้สึกว่าตนเองเป็นที่ยอมรับและมีคุณค่า และมุ่งพัฒนาตนเองตามศักยภาพมากขึ้น
สถาบันศาสนา ควรนำเสนอหลักธรรม คำสอน ในรูปแบบที่โน้มน้าวเด็กและเยาวชนให้หันมาปฏิบัติตามมากขึ้น
กระทรวงศึกษาธิการ ควรจริงจังกับการส่งเสริมการสอนทักษะการคิด เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของข้อมูลข่าวสารที่มักชักนำไปสู่ความฟุ่มเฟือย ความสนุก หรือไปในทางที่ไม่เหมาะสมจนเกินพอดี สอนให้เด็กมีหลักการดำรงชีวิตภายใต้เศรษฐกิจพอเพียง การปลูกฝังค่านิยมความอดทนและการทุ่มเททำงานหนัก และพัฒนาด้านคุณธรรมจริยธรรม
ประการสำคัญที่สำคัญคือการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนรู้จักเป้าหมายของชีวิต และพัฒนาตามเป้าหมายและศักยภาพของเด็กเป็นสำคัญ รัฐบาล ควรผลักดันการบังคับใช้กฎหมาย เช่น กฎหมายกำหนดโซนนิ่งของสถานบริการ กฎหมายเอาผิดสถานบริการที่ยอมให้เด็กต่ำกว่าอายุ 18 ปี เข้าใช้บริการ กฎหมายการโฆษณาเหล้า ฯลฯ เพราะที่ผ่านมากฎหมายและกฎระเบียบจำนวนมากหละหลวม อีกทั้งเจ้าหน้าที่รัฐยังขาดความรับผิดชอบในการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง
แม้ว่าเราไม่สามารถปฏิเสธความเจริญก้าวหน้าได้ แต่เราสามารถป้องกันและพยายามลดผลกระทบเชิงลบที่มีผลต่อการพัฒนาค่านิยมและลักษณะชีวิตเด็กและเยาวชนได้ โดยทุกภาคส่วนต้องร่วมมือในทางสร้างสรรค์ เพื่อดึงศักยภาพที่มีอยู่ในตัวออกมา และถูกนำมาใช้ในทางสร้างสรรค์ อันก่อเกิดประโยชน์ต่อตัวเด็กเอง สังคม และประเทศชาติต่อไป