4 ก.พ? ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในประชาธิปไตยไทย
เป็นที่ทราบกันดีว่าวันที่ 4 ก.พ. 49 จะมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่แสดงพลังประชาชนครั้งยิ่งใหญ่ที่หน้าลานพระบรมรูปทรงม้า นำโดยคุณสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ดำเนินรายการ ldquo;เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรrdquo; จะนำประชาชนเรือนหมื่นเรือนแสน เพื่อถวายฎีกาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผ่านพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี
แรกเริ่มของการจัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรในเดือนกันยายน 2548 เกิดขึ้นเนื่องจากการสั่งให้ยุติการออกอากาศทางช่อง 9 ในช่วงแรกมีผู้ฟังเพียงหลักร้อยจนกลายเป็นหลักหมื่น ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ไม่พอใจต่อกระบวนการใช้อำนาจของรัฐที่ไม่เป็นธรรม ร่วมออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลตอบปัญหาต่าง ๆ ที่มีข้อสงสัยต่อการบริหารประเทศ เรียกร้องให้มีการแก้ไขและยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และรวมไปถึงการถวายฎีกาเพื่อที่จะบอกกล่าวถึงความเดือดร้อนของประชาราษฎร์อันสืบเนื่องมาจากบริหารประเทศของรัฐบาล
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนับเป็นสิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะเป็นครั้งแรกของการเมืองไทยที่ผู้นำการเคลื่อนไหวคือนักสื่อสารมวลชน ไม่ใช่นักการเมือง นิสิตนักศึกษา นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ฯลฯ หากจะหาสาเหตุของปรากฏการณ์ดังกล่าว อาจเป็นเพราะ
ประการแรก ความพยายามปิดกั้นการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลผ่านทางสื่อสารมวลชนในแขนงต่าง ๆ
ประการที่สอง การใช้อำนาจของรัฐในการแสวงหาประโยชน์จากส่วนเกินทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการออกนโยบายหรือตรากฎหมายที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจของกลุ่มทุนต่าง ๆ กลายเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนที่ผู้มีอำนาจได้ประโยชน์
ประการที่สาม การใช้อำนาจในการแต่งตั้งที่เอื้ออำนวยต่อพวกพ้องและคนรอบข้างมากกว่าการพิจารณาจากความรู้ความสามารถและคุณธรรมในการดำรงตำแหน่ง
ประการที่สี่ ความไม่เอาจริงเอาจังในการปราบปรามการคอร์รัปชันอย่างเด็ดขาด
ประการที่ห้า การแทรกแซงการจัดรายการด้วยการใช้กลุ่มคนจำนวนหนึ่งเข้ามาก่อสถานการณ์เพื่อสร้างความหวาดกลัวและความวุ่นวายในสถานที่จัดรายการ
ทั้งหมดที่กล่าวมานั้น มีแนวโน้มว่าจะทำให้การเคลื่อนไหวทางการเมืองมีพลังมากขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย เป็นการแสดงสัญลักษณ์บางอย่างที่สะท้อนความไม่พอใจต่อความชอบธรรมในการบริหารประเทศแม้จะมาจากการเลือกตั้งที่มีเสียงสนับสนุนถึง 19 ล้านคะแนนก็ตาม ในขณะที่กระบวนการทำงานของรัฐสภาก็ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนอันเนื่องมาจากเสียงข้างมากของฝ่ายรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม ในทางกฎหมายแล้ว สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบย่อมไม่ผิดแต่ประการใด แต่สิ่งที่ควรระมัดระวังอย่างยิ่ง คือผู้นำการเคลื่อนไหวต้องระมัดระวังในการชุมนุมเคลื่อนไหวมิให้เกิดการใช้ความรุนแรงระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับฝ่ายที่คัดค้าน ในการพยายามควบคุมฝูงชนให้อยู่ในความสงบ มิฉะนั้นแล้วอาจจะเกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน
ในขณะเดียวกัน ภาครัฐจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจธรรมชาติของการเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งต้องมีจุดประสงค์ที่จะต้องสื่อสารเนื้อหาสาระไปยังผู้มีอำนาจ ดังนั้นภาครัฐไม่ควรที่จะไปกีดกันการแสดงออกทางการเมืองดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นการปิดกั้นสถานที่ไม่ให้เกิดการชุมนุม และรวมไปถึงการจัดตั้งม๊อบเข้ามาเผชิญหน้ากันซึ่งอาจจะทำให้เกิดความรุนแรงและความสูญเสียของชีวิต
สังคมไทยควรจะเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้กับประชาชนและสื่อสารมวลชน ในการวิพากษ์วิจารณ์ แสดงความคิดเห็น และการแสดงออกทางการเมือง แต่หากรัฐบาลมีวิธีคิดแบบคู่ตรงข้ามที่แบ่งขั้วอย่างชัดเจนที่มีลักษณะแบ่งฝักแบ่งฝ่าย แบ่งขั้วแบ่งข้าง จนแยกเป็นรัฐบาล-ประชาชน ซึ่งจะทำให้ไม่เกิดการรับฟังความเดือดร้อนหรือมืดบอดต่อปัญหาที่เกิดขึ้น
ถึงเวลาแล้วที่การเมืองไทยอาจจะไม่ใช่เพียงการเมืองแบบตัวแทนเท่านั้น แต่เป็นการเมืองที่ภาคพลเมืองเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน สนใจปัญหา และเอาจริงเอาจังกับปัญหาของบ้านเมือง ซึ่งรัฐบาลจะต้องยอมเปิดพื้นที่การเมืองดังกล่าวให้ทุกฝ่ายในสังคมเข้ามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์ โดยไม่ใช้กำลังหรือกลไกของรัฐในการกดดันหรือปราบปรามกลุ่มที่คิดเห็นหรือแสดงออกต่างไปจากตน แต่ควรพึงที่จะทำให้สังคมไทยเปิดกว้างจนกลายเป็นสังคมประชาธิปไตยอย่างแท้จริง