พัฒนาผู้เรียนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์
ผลการวิจัยเรื่อง ผลกระทบโลกาภิวัตน์ต่อการจัดการศึกษาไทยใน 5 ปีข้างหน้า โดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ซึ่งดิฉันได้รับเกียรติให้เป็นหัวหน้าในโครงการวิจัย พบว่า กระแสโลกาภิวัตน์ที่ส่งผลให้สังคมมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทั้งการเปลี่ยนแปลงในด้านที่ดีและด้านที่ไม่ดี ได้ส่งผลกระทบต่อผู้เรียนโดยตรง โดยเฉพาะผลกระทบด้านเทคโนโลยีและการแข่งขันทางการค้าและการลงทุน
ผลกระทบด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยเฉพาะอินเทอร์เน็ต ซึ่งเปรียบเหมือนเป็นทางด่วนข้อมูลข่าวสาร ผู้เรียนมีโอกาสเข้าถึงข้อมูลความรู้ และโอกาสทางการศึกษา ในขณะเดียวกัน ผู้เรียนมีโอกาสรับข้อมูลข่าวสารที่ไม่พึงประสงค์ได้เช่นเดียวกัน และอาจตกเป็นเหยื่อของผู้ไม่หวังดีที่ใช้อินเทอร์เน็ตในการล่อลวง อีกทั้งผู้เรียนอาจเกิดความสับสนระหว่าง ldquo;ความจริงแท้rdquo; กับ ldquo;ความจริงเทียมrdquo; เนื่องจาก อาจมีผู้ที่ปล่อยข่าวสารที่ไม่เหมาะสมสู่เครือข่าย หากผู้เรียนขาดทักษะการคิดย่อมตกเป็นเหยื่อได้ง่าย
ในส่วนผลกระทบด้านการค้าการลงทุนนั้น เนื่องจากกระแสโลกาภิวัตน์มีการเคลื่อนย้ายของบุคคลและสิ่งของ จึงทำให้ผู้คนสามารถติดต่อทำการค้าและการลงทุนข้ามประเทศได้ ประเทศไทยและต่างประเทศสามารถร่วมลงทุนทำการค้าได้อย่างง่ายดาย ซึ่งปัจจัยที่สำคัญต่อการค้าและการลงทุน คือ คุณภาพของแรงงาน ส่งผลให้ผู้เรียนตื่นตัวในการเรียนพัฒนาทักษะความสามารถของตน เพื่อเป็นแรงงานที่มีคุณภาพและได้รับคัดเลือกเข้าไปทำงานในองค์กรธุรกิจที่มีความมั่นคง ในขณะเดียวกันผู้เรียนจะตกอยู่ในวังวนของการแข่งขัน ต้องแก่งแย่งแข่งขันเพื่อความอยู่รอด ก่อให้เกิดความเครียดและมีปัญญาสุขภาพ
การพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์
ดังที่กล่าวมาข้างต้น โลกาภิวัตน์ได้ส่งผลกระทบทั้งในด้านบวกและด้านลบต่อผู้เรียน จึงจำเป็นที่ผู้เรียนควรได้รับการพัฒนาทักษะที่จำเป็น เพื่อจะสามารถตอบสนองต่อผลกระทบในด้านบวก และป้องกันตนเองจากผลกระทบด้านลบ ดังนี้
พัฒนาความรู้ ความต้องการแรงงานที่มีคุณภาพขององค์กรธุรกิจ ทำให้ผู้เรียนตื่นตัวในการพัฒนาความรู้ความสามารถของตนมากขึ้น ผู้บริหารสถานศึกษาจึงควรพัฒนาความรู้ของผู้เรียน ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นความรู้ในหลักสูตรพื้นฐานเท่านั้น เช่น ภาษาไทย ภาษาต่างประเทศ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา และเทคโนโลยี เป็นต้น แต่ควรสนับสนุนให้ผู้เรียนได้เรียนรู้แบบสหวิทยาการ โดยนำสาระวิชาตามหลักสูตรเข้าเชื่อมโยงกับสภาพจริงของชุมชน สังคมไทย และสังคมโลก จนสามารถประยุกต์ใช้ความรู้ที่ได้เรียนมาในสถานการณ์ที่เหมาะสมได้ รวมทั้ง ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งการที่จะสามารถพัฒนาความรู้ของผู้เรียนได้นั้น ผู้บริหารสถานศึกษาควรมีการจัดหาและจัดสรรทรัพยากรเพื่อการศึกษาอย่างเพียงพอและมีคุณภาพ
พัฒนาทักษะการคิด ภายใต้สังคมที่ข้อมูลข่าวสารมีจำนวนมาก ซึ่งมีทั้งข่าวสารที่จริงและเท็จ ที่เป็นประโยชน์และเป็นโทษ ผู้เรียนจึงควรได้รับการพัฒนาทักษะการคิด เพื่อช่วยในการแยกแยะข้อมูลข่าวสารที่เป็นเท็จและเป็นโทษออกจากข้อมูลข่าวสารที่เป็นจริงและมีประโยชน์ เพราะทักษะการคิดทำให้ผู้เรียนสามารถนำข้อมูล ความรู้ และประสบการณ์ มาจัดวางอย่างสมเหตุสมผล จนสามารถตัดสินใจเลือกรับข้อมูลที่ดีที่สุด
ทักษะการคิดที่จำเป็นสำหรับผู้เรียนในกรณีที่ต้องเลือกรับข้อมูลข่าวสาร คือ การคิดเชิงวิเคราะห์ คิดเชิงสังเคราะห์ คิดเชิงวิพากษ์ คิดเชิงบูรณาการ คิดเชิงเปรียบเทียบ และคิดเชิงมโนทัศน์ ผู้เรียนจะสามารถแยกแยะข้อมูล วิพากษ์ข้อเท็จจริงของข้อมูล ดูความสมเหตุสมผล และสรุปเป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง ผู้บริหารและครูสามารถพัฒนาทักษะการคิดของผู้เรียนได้โดย จัดให้มีการสอนทักษะการคิดนอกหลักสูตร ให้การเรียนการสอนในห้องเรียนมีกรณีศึกษาเพื่อยกเป็นตัวอย่างให้ผู้เรียนได้ฝึกการคิด
พัฒนาทักษะทางอารมณ์ สังคมที่มีการแข่งขัน ผู้คนต่างเอารัดเอาเปรียบ คบหากันเพื่อผลประโยชน์ ส่งผลให้ผู้เรียนมีปัญหาด้านอารมณ์ เกิดความเครียด ในขณะเดียวกัน ผู้เรียนก็ขาดทักษะการควบคุมอารมณ์ที่ดีพอ เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่มากระทบจิตใจมักแก้ปัญหาในทางที่ผิด เช่น หาสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจในทางที่ผิด ฆ่าตัวตาย ฆ่าผู้อื่น ติดยาเสพติด ใช้ชีวิตอย่างไม่มีเป้าหมาย ไม่สนใจสังคม ฯลฯ
การควบคุมอารมณ์จะช่วยให้ผู้เรียนตัดสินใจทำอะไรโดยมีเหตุผลรองรับ โดยไม่ตัดสินใจทำสิ่งที่ผิดพลาด ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น แม้ว่าในขณะนั้นจะมีสิ่งที่เข้ามากระทบจิตใจอย่างรุนแรงก็ตาม ดังนั้น ผู้บริหารสถานศึกษาควรให้สนับสนุนการพัฒนาทักษะการควบคุมอารมณ์ให้แก่ผู้เรียน โดยร่วมมือกับนักจิตวิทยาในพื้นที่มาให้คำแนะนำกับผู้เรียน อบรมครูแนะแนวให้รู้การช่วยเหลือผู้เรียนที่มีปัญหาชีวิต และสอดแทรกสถานการณ์ความขัดแย้งในชั้นเรียน เพื่อให้ผู้เรียนได้ฝึกการควบคุมอารมณ์ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้เรียนมีเสถียรภาพทางอารมณ์
พัฒนาลักษณะชีวิต แม้ว่าผู้เรียนจะได้รับการพัฒนาความรู้ความสามารถ ฝึกทักษะการคิดจนเชี่ยวชาญเพียงใด แต่หากลักษณะชีวิตไม่ดี ผู้เรียนอาจกลายกลายเป็นคนที่ไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต หรือกลายเป็น ldquo;โจรคอปกขาวrdquo; ที่ใช้ความรู้ความสามารถของตนเองในทางที่ไม่ถูกต้อง ยิ่งสังคมในปัจจุบันมีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง คนที่มีความรู้แต่ขาดลักษณะชีวิตที่ดีมักจะเอาเปรียบคนที่อ่อนแอกว่า ดังนั้น ผู้บริหารสถานศึกษาและครูควรพัฒนาความรู้ ทักษะการคิด และการควบคุมอารมณ์ไปพร้อมกับการพัฒนาลักษณะชีวิตที่ดี เช่น ความซื่อสัตย์ ความขยัน ความอดทน ความทุ่มเททำงานหนัก มีนิสัยทำทุกอย่างดีที่สุด มีระเบียบวินัย มีชีวิตแบบพอเพียง มีความเมตตา มีจิตสำนึกประชาธิปไตย มีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อส่วนรวม ฯลฯ โดยผู้บริหารอาจมอบหมายให้ครูสอดแทรกลักษณะชีวิตที่ดีในการเรียนการสอน หรือนำมาเป็นส่วนหนึ่งของธรรมนูญโรงเรียน
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กระแสโลกาภิวัตน์ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงสังคมไทยอย่างมาก ผู้เรียนที่มีทักษะความรู้ ทักษะการคิด ทักษะการควบคุมอารมณ์ และลักษณะชีวิตที่ดี สามารถหยิบฉวยเอาประโยชน์ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงมาใช้พัฒนาตนเอง และยังสามารถป้องกันตนเองจากผลกระทบด้านลบของการเปลี่ยนแปลงได้อีกด้วย แต่ในขณะเดียวกัน มีผู้เรียนจำนวนมากขาดทักษะที่จำเป็นเหล่านี้ จึงตกเป็นเหยื่อของการเปลี่ยนแปลงของสังคม ทำให้หลายคนหมดอนาคต และมีอีกหลายคนก่อปัญหาสังคม ดังนั้น ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา และครูผู้สอน ควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะที่จำเป็นแก่ผู้เรียน เพื่อให้พวกเขาสามารถอยู่ในสังคมอย่างผู้ชนะไม่ใช่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ
เผยแพร่:
การศึกษาอัพเกรด
เมื่อ:
2007-10-04