อุปสรรคการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (AEM retreat) ระหว่าง 3-4 พฤษภาคม2550 ที่ผ่านมา ณ กรุงบันดาเสรี เบกาวัน ประเทศบรูไน ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแผนการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC blueprint) โดยจะมีการเปิดตลาดในภูมิภาคอาเซียน เพื่อมุ่งสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC : ASEAN Economic Community) ภายในปี พ.ศ.2553-2558
เหตุการณ์นี้ทำให้ผมนึกถึงหนังสือ ldquo;ชุมชนนิยมrdquo; ที่ผมได้เขียนขึ้น ซึ่งเป็นแนวคิดการสร้างชุมชนในระดับภาพย่อย หลักการสร้างชุมชนในหนังสือดังกล่าวมี 7 ประการคือ มีจุดมุ่งหมายร่วมกัน มีผลประโยชน์ร่วมกัน มีความเป็นเจ้าของร่วมกัน มีกติการ่วมกัน มีกิจกรรมร่วมกัน มีระบบการจัดการร่วมกัน และมีการเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งผมจะใช้เป็นกรอบในการวิเคราะห์ความสำเร็จของการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
ขาดความผูกพันกับวิสัยทัศน์ แม้ว่าประเทศอาเซียนจะมีจุดมุ่งหมายร่วมกันอย่างชัดเจน ในการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ภายในปี พ.ศ.2553-2558 และมีการจัดทำแผนการดำเนินงานเพื่อไปสู่จุดหมายดังกล่าว แต่วิสัยทัศน์และแผนการดำเนินงานยังเป็นเพียงหลักการเบื้องต้น รัฐบาลของประเทศสมาชิกยังไม่ผูกมัดตัวเองต่อวิสัยทัศน์ดังกล่าว ทำให้ขาดเจตจำนงทางการเมือง รวมทั้งกระแสการเจรจาการค้าเสรีแบบทวิภาคี ยังทำให้ความสำคัญของความร่วมมือระดับภูมิภาคลดลง
ขาดผลประโยชน์ร่วมอย่างเพียงพอ อาเซียนมีความพยายามสร้างความร่วมมือบนพื้นฐานของที่ทุกประเทศได้ประโยชน์ร่วมกัน สังเกตได้จากบรรทัดฐานสำคัญของอาเซียน คือ ฉันทานุมัติและความสมัครใจ แต่ในความเป็นจริง มีความเป็นไปได้ยากที่จะจัดตั้งการเป็นประชาคมในระดับภูมิภาค เนื่องจากประเทศสมาชิกมีความแตกต่างของระดับการพัฒนาค่อนข้างมาก อาจทำให้การกระจายผลประโยชน์ไม่เท่าเทียมกัน ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศอาเซียนยังเป็นคู่แข่งขันกันเอง ทั้งด้านการค้า และด้านการดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งอาจแตกต่างจากยุโรปที่มีลักษณะเป็น ldquo;คู่ค้ากันโดยธรรมชาติrdquo; (natural trading partner)
ขาดความรู้สึกเป็นเจ้าของ ประชาชนในอาเซียนยังขาดความรู้สึกเป็นเจ้าของภูมิภาคนี้ร่วมกัน เนื่องจากแต่ละประเทศมีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่แตกต่างกันมาก และไม่มีประสบการณ์หรือประวัติศาสตร์ที่ต้องต่อสู้ร่วมกัน ขณะที่ประชาชนยังไม่ได้รับการสื่อสารวิสัยทัศน์การจัดตั้งประชาคมอาเซียนอย่างเพียงพอ ประชาชนในแต่ละประเทศยังคงถือว่าตนเองเป็นคนของประเทศตน โดยไม่เห็นประโยชน์ของการอ้างถึงความเป็นประชาชนของความเป็นอาเซียน
ขาดกติกาที่เข้มแข็ง อาเซียนยังขาดกติกาที่เข้มแข็ง วิถีอาเซียนมีลักษณะของของการไม่มีพิธีรีตอง โดยเน้นความสำพันธ์ระหว่างบุคคลมากกว่าความสัมพันธ์เชิงสถาบัน และไม่ให้ความสำคัญต่อข้อผูกมัดที่ตายตัวและข้อ ตกลงเชิงกฎหมาย ความร่วมมือของอาเซียนจึงมีลักษณะเป็นการประกาศ (declaration) ไม่ใช่สนธิสัญญา (treaty) อาเซียนยังขาดกฎเกณฑ์ในการดำเนินงาน ขาดกลไกชักจูงให้ประเทศสมาชิกปฏิบัติตามพันธกรณีต่าง ๆ และไม่มีกลไกในการระงับข้อพิพาท อย่างไรก็ตาม หลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในเอเชีย อาเซียนได้ร่วมกันแก้ปัญหาข้างต้น อาทิ สร้างกลไกจัดการข้อพิพาท จัดตั้งหน่วยงานด้านกฎหมายในสำนักเลขาธิการอาเซียน ฯลฯ
ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน อาเซียนได้พยายามจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิก แต่กิจกรรมส่วนใหญ่ยังเป็นกิจกรรมของกลุ่มคนระดับชนชั้นสูง สถาบันของอาเซียนถูกให้ฉายาว่าเป็นเพียง สมาคมของรัฐบาลและชนชั้นสูง นอกจากนี้ การประชุมระดับผู้นำและรัฐมนตรีมีไม่บ่อยครั้งนัก เมื่อเปรียบเทียบกับสหภาพยุโรปที่ผู้นำรัฐบาลมีการประชุมกัน 2 ครั้งต่อปี รัฐมนตรีของอาเซียนประชุมกันเพียงปีละ 1 ครั้ง ไม่ต้องกล่าวถึงประชาชนในอาเซียน เพราะยังขาดกิจกรรมที่ทำให้เกิดความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันในระดับประชาชน
ขาดระบบจัดการที่มีประสิทธิภาพ อาเซียนยังขาดระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพ โครงสร้างสำนักงานเลขาธิการอาเซียนยังอ่อนแอ เพราะมีลักษณะการทำงานเป็นรูปแบบคณะกรรมการ ที่มีอำนาจและบทบาทที่จำกัด ตลอดจนขาดแคลนบุคลากร การสนับสนุนด้านงบประมาณ และการสนับสนุนด้านการเมือง เพราะนักการเมืองและผู้นำประเทศต่าง ๆ ยังไม่ต้องการแบ่งอำนาจให้กับสถาบันของภูมิภาค นอกจากนี้ กระบวนการตัดสินใจใช้หลักฉันทามติในทุกเรื่อง ทำให้ขาดความยืดหยุ่นและความคล่องตัวในการดำเนินงาน
ขาดการเรียนรู้ร่วมกัน ภูมิภาคอาเซียนยังขาดกลไกและกระบวนที่ที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน ประชาชนในแต่ละประเทศยังไม่รู้จักประเทศเพื่อนบ้านของตนเองมากเพียงพอ แต่กลับรู้จักประเทศนอกภูมิภาคมากกว่า เนื่องจากอาเซียนยังขาดช่องทางการเรียนรู้จักประเทศเพื่อนบ้าน ขาดช่องทางการถ่ายทอดและส่งผ่านข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้ระหว่างกัน
กล่าวโดยสรุป อาเซียนยังห่างไกลจากความสำเร็จในการรวมกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพราะผู้นำทางการเมืงยังขาดความตระหนักถึงความจำเป็นและความสำคัญของความร่วมมือกัน กลไกที่สนับสนุนความร่วมมือยังขาดประสิทธิภาพ ในขณะที่ประชาชนของประเทศต่าง ๆ ไม่รู้จักกันมากเพียงพอ
ในปัจจุบัน การมุ่งสู่วิสัยทัศน์อาเซียน ยังเป็นการดำเนินการของระดับชนชั้นนำ และการพัฒนาโครงสร้างและกลไกต่าง ๆ ในภูมิภาคเท่านั้น แต่ประเด็นสำคัญที่ยังไม่ถูกให้ความสำคัญมากนัก คือการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน และการสร้างความตระหนักถึงความเป็นประชาชนของอาเซียน ซึ่งเป็นรากฐานที่ทำให้การรวมตัวของภูมิภาคประสบความสำเร็จ